ข่าว

มีชัย เชื่อ "ไม่น่าเป็นไปได้ นายกฯคนนอกอยู่ 8 ปี"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

“มีชัย” ระบุรับคำวินิจฉัยศาลรธน.อยู่นอกคำขอทั้ง2ประเด็น แต่น้อมรับไปปรับแก้ไข เชื่อไม่น่าเป็นไปได้นายกฯคนนอกอยู่ 8 ปี

          28 ก.ย.59 -- นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญกรณีการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญของ กรธ.ว่าตรงตามเนื้อหาของคำถามประกอบการออกเสียงประชามติฯหรือไม่ ว่า ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยนอกไปจากคำขอของกรธ. คือ 1.ระยะเวลาในการยกเว้นใช้บัญชีนายกฯ ของพรรคการเมืองซึ่งบทบัญญัติ มาตรา 272 ที่แก้ไขเดิม ระบุในวรรคสอง ว่า ในวาระเริ่มแรกเมื่อมีการเลือกตั้งส.ส. หมายถึง เฉพาะสภาฯ ชุดแรกให้ใช้ได้เพียงครั้งเดียว แม้อายุสภาฯ จะอยู่เพียง 1 ปีเท่านั้น แต่ศาลรัฐธรมนูญวินิจฉัยว่า กรณียกเว้นบัญชีนายกฯ ของพรรคการเมืองดังกล่าว เพื่อประโยชน์ในการดูแลยุทธศาสตร์และการปฏิรูปประเทศ ดังนั้นระยะเวลาของการประชุมร่วมกัน เพื่อเลือกนายกฯ และการขอยกเว้นใช้บัญชีนายกฯของพรรคการเมืองควรแก้ไขให้สอดคล้องกัน คือ ในระหว่าง 5 ปี นับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนี้ ดังนั้นในระยะเวลา 5 ปี นายกฯ ลาออกกี่คน สภาฯ ยุบไปกี่ครั้ง จะต้องกลับมาเลือกนายกฯ ในที่ประชุมรัฐสภา                                               

          “ประเด็นคำวินิจฉัยที่นอกไปจากคำขอนั้น ที่ตามหลักต้องพิจารณาว่าการแก้ไขของกรธ. นั้นสอดคล้องกับคำถามพ่วงที่ผ่านประชามติหรือไม่ ดังนั้นคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ยังอยู่ในประเด็นของคำถามพ่วง แต่การอ่านคำถามพ่วงนั้นเกิดการการตีความคนละอย่าง แต่เมื่อศาลรัฐธรมนูญเป็นองค์กรสูงสุดที่วินิจฉัยแบบนี้ต้องยุติแค่นี้ โดยการปรับแก้ไขจะนำถ้อยคำที่ศาลรัฐธรรมนูญใช้ และหากมีเวลาก็อาจจะขอคุยด้วย” นายมีชัย กล่าว                              นายมีชัย กล่าวถึงขั้นตอนการได้มาซึ่งนายกฯ ว่า 1.บุคคลที่มีสิทธิเสนอชื่อนายกฯ ต้องเป็นส.ส. 2.ชื่อที่ถูกเสนอนั้น ต้องอยู่ในบัญชีรายชื่อนายกฯ ของพรรคการเมืองที่เสนอไว้กับ กกต. ช่วงหาเสียงเลือกตั้ง 3.การลงมติให้ความเห็นชอบบุคคลที่เสนอชื่อ นั้นให้ส.ส. และ ส.ว. ฐานะสมาชิกรัฐสภา ลงมติร่วมกัน โดยผู้ที่ถูกเสนอชื่อซึ่งได้รับเสียงข้างมาก จะได้ดำรงตำแหน่งนายกฯ ซึ่งเป็นไปตามกติกาที่ระบุไว้ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติ แต่ในกรณีที่ขั้นตอนของการลงมติเลือกบุคคลที่อยู่ในบัญชีนายกฯของพรรคการเมือง ไม่มีผู้ได้รับเสียงข้างมาก ต้องให้สมาชิกรัฐสภาเข้าชื่อร่วมกันเพื่อขอให้ที่ประชุมรัฐสภาลงมติยกเว้นการใช้บัญญัติที่กำหนดให้นายกฯ มาจากบัญชีนายกฯ ของพรรคการเมือง

           "กรณีดังกล่าวตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ สมาชิกรัฐสภาที่จะเข้าชื่อ ประกอบด้วย ส.ส. และส.ว. เข้าชื่อร่วมกันเพื่อขอยกเว้น โดยใช้เสียง 2 ใน 3 หรือ 500 คนของสมาชิกทั้ง2สภา ทั้งนี้ในการดำเนินการดังกล่าวอาจทำได้ในวันเดียวกันของการลงมติเลือกนายกฯ หากการลงชื่อเพื่อให้รัฐสภาลงมติยกเว้นสามารถดำเนินการได้แล้วเสร็จ โดยกระบวนการดังกล่าวจะขึ้นอยู่กับรัฐสภาจะตกลงร่วมกัน แต่บทสรุปของการเลือกนายกฯ ในที่ประชุมรัฐสภานั้น ต้องให้ ส.ส. เป็นผู้เสนอชื่อเท่านั้น ทั้งนี้ตนเชื่อว่าหากเกิดกรณีดังกล่าวจริง กระบวนการลงมติต้องทำภายในระยะเวลาสั้น เพื่อให้สามารถตั้งรัฐบาลได้รวดเร็ว"                       

           ผู้สื่อข่าวถามว่า ผลของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ให้ ส.ว.ร่วมลงมติยกเว้นบัญชีนายกฯของพรรคการเมืองจะเปิดโอกาสให้มีนายกฯ คนนอกได้ง่ายกว่าเดิมหรือไม่ นายมีชัย ปฏิเสธที่จะตอบคำถาม ระบุเพียงว่า ส.ว.มีสิทธิเพียงเข้าชื่อร่วมกับ ส.ส. เพื่อขอยกเว้นบัญชีรายชื่อนายกฯ ของพรรคการเมือง และใช้คนนอก

           ส่วนจะเปิดโอกาสให้คนนอกมาเป็นนายกฯและอยู่ได้ถึง 8 ปีหรือไม่นั้น ส่วนตัวมองว่าไม่น่าจะเป็นไปได้ ทั้งนี้ผลของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรมนูญนั้น ส่วนตัวไม่ขอวิจารณ์ เพราะไม่อยู่ในฐานะที่จะวิจารณ์ แต่โดยภาพรวมตนมองว่าไม่สามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปมาก นอกจากระยะเวลา และการมีส่วนร่วมของ ส.ว.                                       “เรื่องที่ ส.ว. มีส่วนร่วมเลือกนายกฯ นั้นอาจเพิ่มปัจจัยให้เกิดปัญหาการเมืองหรือไม่นั้น ผมตอบแทน ส.วไม่ได้ เพราไม่รู้ว่าเป็นใคร แต่เชื่อว่าไม่ว่าใครที่เข้ามาต้องมองประโยชน์ของประเทศเป็นสำคัญ และหากคิดว่าประโยชน์ของประเทศไปทางไหนก็ต้องไปทางนั้น ซึ่งกระบวนการการเมืองหลังจากมีรัฐธรรมนูญใหม่แล้ว จะไม่มีคำว่าสูญญากาศทางการเมือง เพราะมีช่องทางออก อย่างไรก็ดีแม้จะมีการยกเว้นบัญชีนายกฯ ก็ไม่ได้แปลว่าจะเลือกจากคนนอกเท่านั้น เพราะตามร่างรัฐธรรมนูญเขียนว่าจะเลือกจากคนนอกก็ได้หรือคนในบัญชีก็ได้” นายมีชัยกล่าว                   นายมีชัย กล่าวถึงปฏิทินทำงานของกรธ. ต่อจากนี้ด้วยว่า กรธ. เหลือเวลาที่ต้องแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญอีก 14 วัน เพราะศาลรัฐธรรมนูญได้ส่งคำวินิจฉัยอย่างเป็นทางการให้กรธ. แล้วเมื่อวันที่ 28 ก.ย.59 จากนั้นเมื่อแก้ไขแล้วเสร็จไม่ต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาอีก ดังนั้น กรธ.ต้องส่งร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับให้นายกฯ เพื่อดำเนินการในกระบวนการทูลเกล้าฯ เบื้องต้นคาดว่าจะอยู่ในช่วงปลายเดือนตุลาคมนี้ ขณะที่การประกาศใช้รัฐธรรมนูญใหม่อาจอยู่ในช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้ จากนั้น กรธ.ต้องเร่งทำร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ เบื้องต้น กรธ. ตั้งเป้าจะทำร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง และ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วย กกต. ให้แล้วเสร็จก่อน เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้เตรียมความพร้อม       

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในส่วนความเห็น ของกรธ. จากการนำคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญไปศึกษานั้น ต่างให้ความเห็นนอกรอบก่อนเข้าประชุมว่า ศาลรัฐธรรมนูญได้ตีความที่เกินไปจากคำขอของ กรธ. และตามบทบัญญัติที่รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเฉพาะประเด็นความสอดคล้องกับคำถามพ่วง ใน 2 ประเด็น คือ ประเด็นที่ขยายสิทธิของส.ว. ร่วมลงชื่อเพื่อเสนอให้รัฐสภายกเว้นการใช้บัญชีรายชื่อนายกฯ ของพรรคการเมือง และ ประเด็นการยกเว้นใช้บัญชีนายกฯของพรรคการเมืองในระยะเวลา 5 ปี พร้อมมองว่า การวินิจฉัยดังกล่าวนั้น มีลักษณะที่ตุลาการภิวัฒน์เหมือนที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว ทั้งที่ปัญหาของการยื้อเวลาเสนอเรื่องให้รัฐสภาของ ส.ส.ต่อการยกเว้นใช้บัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองฯ อาจไม่เกิดขึ้นจริง เพราะคนที่เป็นรัฐบาลต้องการให้เกิดความรวดเร็ว และแม้หากมีกระบวนการที่สร้างปัญหาจริง ทางออกของปัญหาก็ยังมีอยู่ คือ การยุบสภานี้ กรธ.บางส่วนมีความต้องการที่จะเข้าพบหรือทำหนังสือไปถึงศาลรัฐธรรมนูญเพื่อสอบถามถึงเจตนารมณ์ของการตีความดังกล่าวให้เกิดความชัดเจนก่อนที่จะแก้ไขเนื้อหา แต่ยังมี กรธ. ส่วนหนึ่งมองว่าจะปรับแก้ไขเนื้อหาตามที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเพราะถือเป็นที่สิ้นสุดแล้ว 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ