ข่าว

"ชัยเกษม" วิพากษ์คำวินิจฉัย ศาล รธน.

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"ชัยเกษม" จวก ศาล รธน. วินิจฉัยแทนประชาชน เชื่อ รัฐบาลให้เป็นนายกคนนอกเหตุ รัฐธรรมนูญออกแบบให้ ชี้รัฐบาลใหม่ทำงานลำบาก เหตุ ส.ว. ไม่มีสิทธิลงคะแนนไม่ไว้วางใจ

นายชัยเกษม นิติสิริ อดีตอัยการสูงสุด และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ให้ความเห็นกรณี ที่ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยประเด็นคำถามพ่วงที่ กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ หรือ กรธ.ได้ปรับแก้สอดคล้องกับ รัฐธรรมนูญหรือไม่ ว่า ผู้ที่มีสิทธิเสนอชื่อ นายกรัฐมนตรี ยังต้องเป็นอำนาจของ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือ ส.ส.เช่นเดิม แต่ที่น่ากังวลคือ กรณีที่สภาผู้แทนราฎร ไม่สามารถหาบุคคลที่รัฐสภา ให้ความเห็นชอบได้ แล้วต้องมาใช้กลไกของมาตรา 272 ซึ่งเปิดช่องให้รัฐสภาของดเว้นบุคคลตามบัญชีที่พรรคการเมืองเสนอได้ ซึ่งจากเดิม รัฐสภากำหนดไว้ที่ 2ใน 3 แต่ศาลรัฐธรรมนูญมาวินิจฉัยเปลี่ยนแปลงเหลือเพียงกึ่งหนึ่งของรัฐสภาเท่านั้น ประเด็นดังกล่าวจึงปฏิเสธไม่ได้ว่า โอกาสที่จะได้นายกรัฐมนตรี นอกบัญชี ซึ่งพรรคการเมือง ไม่ได้นำเสนอต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต.เพื่อนำเสนอต่อประชาชนในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง มีโอกาสเกิดขึ้นได้สูง และเห็นว่าการที่ศาลรัฐธรรมนูญ วินิฉัยเปลี่ยนแปลงสัดส่วนของจำนวนสมาชิกรัฐสภาเพื่อของดเว้นการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีจากบัญชีรายชื่อ โดยอ้างเจตนารมณ์ของประชาชน ในการลงมติคำถามพ่วงที่ผ่านมา เป็นการวินิจฉัยแทนประชาชนหรือไม่ เพราะประชาชนอาจไม่ได้คิดเหมือนศาลรัฐธรรมนูญ ก็เป็นได้ โดยเฉพาะในตัวคำถามพ่วงซึ่งไม่ได้ระบุว่าให้อำนาจ ส.ว.สามารถของดเว้นนายกรัฐมนตรีนอกบัญชีที่พรรคการเมืองเสนอได้

       นายชัยเกษมกล่าวต่อว่า อีกประเด็นที่มีความชัดเจนคือ ส.ว.จะอยู่ในอำนาจต่อเนื่อง5ปี แม้รัฐบาลจะเปลี่ยนแปลงหรือต้องยุบสภาก็ตาม คำวินิจฉัยนี้จึงเปิดช่องให้นายกรัฐมนตรีคนนอก มีโอกาสอยู่ได้ยาวถึงสองสมัยของสภาผู้แทนราษฎรหรือ 8ปี ซึ่งหากนับรวมระยะเวลาช่วงเตรียมการเลือกตั้งเข้าไปด้วย ประชาชนจึงมีสิทธิได้นายกฯคนนอก ยาวถึง 10ปี
 
     นายชัยเกษม เชื่อว่า รัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาบริหารราชการแผ่นดิน จะเป็นนายกรัฐมนตรีนอกบัญชีที่พรรคการเมืองเสนอ หรือเป็นกลไก ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 มากกว่า นายกรัฐมนตรีจากพรรคการเมืองเสนอตามบัญชีรายชื่อ เพราะรัฐธรรมนูญถูกออกแบบให้ ไม่มีพรรคใดพรรคหนึ่งได้เสียงในสภาแบบเด็ดขาด และเชื่อว่า พรรคขนาดใหญ่สองพรรคในปัจจุบันจะไม่สามารถ จับมือตั้งรัฐบาลได้ เมื่อไม่สามารถตั้งรัฐบาลได้ การนำมาตรา 272 มาบังคับใช้จึงเป็นไปได้สูง หรือหากมองอีกมุมนึง ก็เป็นไปได้เช่นกันว่า พรรคการเมืองที่มีสายสัมพันธ์กับทหาร พรรคขนาดกลางขนาดเล็กจะจับมือกันตั้งรัฐบาล แล้วใช้เสียง สว.ร่วมให้ความเห็นชอบอีกชั้นหนึ่งก็มีโอกาสเป็นไปได้เช่นกัน
 
      อย่างไรก็ตามนายชัยเกษมเห็นว่า หากเดินหน้าตามกลไกของมาตรา 272 และรัฐธรรมนูญในลักษณะเช่นนี้ การทำงานของรัฐบาลอาจไม่ราบรื่นมากนัก เพราะเมื่อเข้าไปบริหารราชการแผ่นดิน โดยเฉพาะการออกกฏหมาย การอภิปรายไม่ไว้วางใจ ใช้เสียงเฉพาะ ส.ส.เท่านั้นไม่มีเสียง ของ ส.ว.ที่ คสช.เลือกเข้ามาคอยขับเคลื่อนงานให้เหมือนเช่นปัจจุบัน 

    "ส่วนอายุของรัฐบาลจะอยู่ได้ยาวนานแค่ไหนภายใต้กติกาที่เป็นประชาธิปไตยแบบไทยๆขึ้นอยู่กับการใช้อำนาจโดยเฉพาะในทางกฏหมายอย่างเป็นธรรมหรือไม่" นายชัยเกษมกล่าว

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ