ข่าว

กกต.ชงกฎหมายลูกสว.ถึงมือกรธ. 30ก.ย.นี้

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ยึดหลัก“ได้คนดี-หลากหลาย-ไม่บล็อกโหวต”

            เมื่อเวลา 15.20 น. ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านบริหารงานเลือกตั้ง แถลงภายหลังการประชุมกกต. วันนี้(26 ก.ย.) ว่า ที่ประชุมกกต.ได้การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.)ว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว. และได้ให้คณะทำงานไปปรับแก้ตามแนวทางที่กกต.มีมติ โดยจะดำเนินการให้แล้วเสร็จและส่งให้คณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญได้ในวันที่ 30 ก.ย.นี้ โดยร่างกฎหมายดังกล่าวเป็นหลักการเลือกส.ว.ใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน ซึ่งการยกร่างยากที่สุดในบรรดากฎหมายที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง 4 ฉบับ ซึ่งการยกร่างกกต.ยึดตามรัฐธรรมนูญที่ต้องการให้ได้คนดีมาเป็นส.ว. มีที่มาหลากหลายอาชีพในสังคม จึงได้มีการกำหนดเป็น 20 กลุ่มอาชีพ และเพื่อให้ไม่เกิดการบล็อกโหวตหรือจ้างลงสมัครไม่เป็นภาระทางการเงินแก่ผู้สมัคร จึงกำหนดค่าสมัครเพียงคนละ 500 บาท

            นายสมชัย กล่าวต่อว่า ส่วนวิธีการเลือกนั้น ตามรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้ว่าต้องมาจากตัวแทนอำเภอ จังหวัด และระดับประเทศ นั้น กกต.ก็กำหนดการเลือกเป็น 3 ระดับ โดยการสมัครจะเริ่มที่ระดับอำเภอ คือ 1 คนรับรองคุณสมบัติตนเอง และลงได้เพียงกลุ่มอาชีพเดียว การเลือกจะทำ 2 ขั้นตอน ขั้นแรกจะให้เลือกกันเองในกลุ่ม ๆ ละ 5 คนต่ออำเภอซึ่งก็จะได้ผู้สมัครส.ว.ใน 928 อำเภอ จาก 20 กลุ่ม รวม 92,800 คน จากนั้นขั้นที่สอง จะให้ 5 คนแต่ละกลุ่มไปเลือกผู้สมัครในกลุ่มอื่น 19 กลุ่มให้เหลือกลุ่มละ 3 คน ก็จะเหลือผู้สมัครส.ว.ในระดับอำเภอ 55,680 คน

              นายสมชัย กล่าวด้วยว่า ต่อมาการเลือกในระดับจังหวัด ก็จะนำผู้สมัครในระดับอำเภอที่เหลือ 55,680 คน จาก 20 กลุ่ม มาเลือกไขว้เช่นเดิม ให้เหลือกลุ่มอาชีพละ 1 คน เป็นผู้สมัครส.ว.ระดับจังหวัด ซึ่ง 77 จังหวัด ก็จะได้ผู้สมัครส.ว.ระดับจังหวัด รวม 1,540 คน จากนั้นก็จะเข้าสู่การเลือกในระดับประเทศซึ่งจะมีการจัดประชุมผู้สมัครส.ว.ทั้ง 1,540 คนจาก 20 กลุ่ม แล้วให้มีการเลือกไขว้ให้เหลือกลุ่มละ 10 คน ก็จะได้ส.ว จาก 20 กลุ่ม รวม 200 คน เพื่อที่จะส่งให้คสช. คัดเลือกตามบทเฉพาะกาลมาตรา 269 เหลือ 50 คน และสำรองรายชื่ออีก 50 คน

           นายสมชัย กล่าวอีกว่า วิธีการที่กกต.ออกแบบอยู่ในวิสัยที่กกต.ประเมินแล้วว่าจะสามารถบริหารจัดการได้ รวมทั้งสามารถป้องกันการบล็อตโหวตและการทุจริตได้ เพราะในร่างกฎหมายมีบทลงโทษรุนแรงไม่น้อยไปกว่ากฎหมายเลือกตั้งส.ส. คนที่ซื้อเสียง หรือทำเพื่อประโยชน์ให้ตนได้รับการเลือกเป็นส.ว. มีสิทธิที่จะถูกตัดสิทธิการสมัคร(ใบส้ม)ถูกเพิกถอนสิทธิการสมัคร(ใบดำ) และถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งได้(ใบแดง) ดังนั้นคนที่คิดจะทำไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง นักธุรกิจ ตนเชื่อว่าไม่คุ้ม

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ