ข่าว

ชงเพิ่มชั่วโมงเรียนสายสังคม-วัฒนธรรม

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

“กมธ.ฯปฏิรูปกีฬา ศิลปะฯ สปท.” เสนอปรับกฎหมายศธ.ชาติเพิ่มเวลาเรียนสายสังคม ต่อที่ประชุมจันทร์นี้

 

          27 ส.ค.  – ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ที่มีร.อ.ทินพันธุ์ นาคะตะ เป็นประธานฯ ได้นัดประชุมสปท. ในวันที่ 29 ส.ค. โดยมีวาระประชุมที่สำคัญ คือ รายงานการปฏิรูประบบเครื่องมือด้านการสื่อสารและโทรคมนาคม เพื่อสนับสนุนภารกิจการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และประโยชน์สาธารณะ ซึ่งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน นำเสนอ ซึ่งรายงานฉบับดังกล่าวได้เลื่อนการพิจารณามาจากวาระประชุมสปท. เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาและรายงานการพัฒนาและบรรจุหลักสูตรการเรียนการสอนด้านกีฬา ศิลปะ วัฒนธรรม การศาสนา คุณธรรม และจริยธรรมเพื่อมุ่งเน้นให้เด็กเป็นคนดี ซึ่งเสนอโดยกมธ.ฯ ด้านกีฬา ศิลปะ วัฒนธรรม การศาสนา คุณธรรม และจริยธรรม ซึ่งมี พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา เป็นประธาน กมธ.ฯ  

          ทั้งนี้รายงานฉบับดังกล่าวมีสาระสำคัญเพื่อเป็นข้อเสนอต่อการปรับปรุงพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ให้สอดคล้องกับบทบัญญัติของร่างรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติ มาตรา 54 วรรคสี่ ว่าด้วยการศึกษาที่เน้นการพัฒนาให้ผู้เรียนเป็นคนดี มีวินัย ภูมิใจในชาติ สามารถเชี่ยวชาญได้ตามความถนัดและมีความรับผิดชอบต่อครอบครัว ชุมชน สังคม ประเทศชาติ  โดยมีข้อเสนอสำคัญคือการปฏิรูปหลักสูตรการเรียนการสอนด้านกีฬา ศิลปะ วัฒนธรรม การศาสนา คุณธรรมและจริยธรรม ด้วยการเพิ่มเวลาเรียนในด้านดังกล่าว แบ่งเป็น ระดับประถมศึกษา ให้เพิ่มเวลาเรียนเป็น 40 เปอร์เซ็นต์ หรือ 400 ชั่วโมงต่อปี จากเวลาเรียนเดิม 24 เปอร์เซ็นต์ หรือ 240 ชั่วโมงต่อปีเมื่อคิดชั่วโมงเรียนทั้งปีเป็น 1,000 ชั่วโมง ขณะเดียวกันต้องลดรายวิชาในสาระหลักให้น้อยลง เช่น วิชาเศรษฐศาสตร์ เป็นต้น  รวมถึงต้องยกเลิกหรือหลีกเลี่ยงการสอบแข่งขันเพื่อเข้าเรียนในชั้นอนุบาล และประถมศึกษา รวมถึงการสอบเลื่อนชั้นเรียน เพื่อสร้างความสุขให้เด็ก
          ส่วนข้อเสนอปฏิรูปหลักสูตรการเรียนการสอนด้านกีฬา ศิลปะ วัฒนธรรม การศาสนา คุณธรรมและจริยธรรม ระดับมัธยมศึกษา ให้เพิ่มเวลาเรียนเป็น 33 เปอร์เซ็นต์ หรือ 400  ชั่วโมงต่อปี จากเดิมที่เรียนเพียง 23 เปอร์เซ็นต์ หรือ 280 ชั่วโมงต่อปี พร้อมกับเสนอให้ปรับระบบการสอบเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา โดยให้สอบหลังจากที่นักเรียนสำเร็จการศึกษามัธยมศึกษาตอนปลายแล้ว ไม่เกิน 2 ครั้งเพื่อความเท่าเทียม เป็นต้น

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ