ข่าว

รวมปมร้อน!! "สุขุมพันธุ์" ก่อนโดน ม.44

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ย้อนรอยคดีร้อน ก่อนที่ "สุขุมพันธุ์" จะโดน "ประยุทธ์" ใช้ ม.44 สั่งพักงาน

 

          สุดท้าย.. ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ บริพัตร  ผู้ว่าฯ กทม ก็ถูก พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.ใช้ มาตรา 44 สั่งพักงานในตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จนได้ 

          จะบอกว่า การที่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์  ถูกสั่งพักงานชนิดสายฟ้าผ่าในครั้งนี้  โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 44   ไม่ใช่เรื่องที่เกินความคาดหมาย เพราะก่อนหน้านี้ ที่หัวหน้า คสช.ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ย้ายข้าราชการและผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่อยู่ระหว่างถูกตรวจสอบจากองค์กรตามกฎหมายมีมาแล้วหลายระลอก เป็นระยะๆ ท่ามกลางการจับจ้องจากผู้คนว่า หนึ่งในนั้นจะมี ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ รวมอยู่ด้วยหรือไม่  

            เหตุก็เพราะว่า  มีหลายเรื่องที่  ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ ถูกตรวจสอบ และทำให้เก้าอี้ใหญ่ในศาลาว่าการเสาชิงช้า ของ ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ ร้อนฉ่า !!   

            ไล่เรียงแต่ละเรื่องได้ .. ดังนี้ 

             1. โครงการจัดงาน “กรุงเทพแสงสีแห่งความสุข” ด้วยงบประมาณถึง 39.5 ล้านบาท  โดยใช้หลอดไฟแอลอีดี 5 ล้านดวงติดตั้งบริเวณลานคนเมืองตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2558 ถึง 31 มกราคม 2559 

              โครงการนี้ ได้ถูกนายวิลาศ จันทร์พิทักษ์   อดีต ส.ส. กทม.พรรคประชาธิปัตย์ ยื่นหนังสือถึงคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เพื่อให้ตรวจสอบการเงินและความไม่โปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้าง โดยกล่าวหาว่า เห็นพิรุธในโครงการไฟประดับอาจมีการ “ฮั้ว” กับบริษัทที่ได้รับงานเพราะเป็นการยื่นซองประมูลในเวลาอันรวดเร็วหากไม่มีกระบวนการ “รู้กันภายใน” จะไม่สามารถยื่นซองประกวดราคาได้ทัน

               จึงเชื่อว่าการกำหนดวันประมูลอย่างกระชั้นชิดและใช้หลอดไฟจำนวนมาก บริษัทที่ไม่มีเส้นสายภายในจะไม่กล้ายื่นซองประกวดราคา เพราะติดเงื่อนไขจำนวนของหลอดไฟและระยะเวลาในการติดตั้ง  

               ขณะที่พบว่าบริษัทที่เข้าประมูลมีการจดทะเบียนเพิ่มวัตถุประสงค์ในการประดับไฟ เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2558 ก่อนวันยื่นซองประมูลในวันที่ 7 ธันวาคม 2558 จึงเชื่อว่ามีการ “ล็อกสเปก” เพื่อเอื้อประโยชน์ให้บางบริษัทเท่านั้น

               ในเรื่องนี้ “อมร กิจเชวงกุล” รองผู้ว่าฯ กทม.ได้ออกมาตอบโต้ว่า โครงการไฟประดับอยู่ภายใต้การตัดสินใจของม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ สามารถเบิกนำเงินมาใช้ได้ตามหลัก 4 ข้อ ดังนี้ 1.รายจ่ายที่มีความเร่งด่วนเพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน 2.รายจ่ายตามคำพิพากษาทางกฎหมาย 3.รายจ่ายเร่งด่วนตามนโยบายของรัฐบาล  และ4.รายจ่ายตามนโยบายของผู้ว่าฯ กทม.ถึงประชาชนโดยตรง ดังนั้นการใช้เงินจำนวน 39.5 ล้านบาทจึงเข้าเงื่อนไขข้อ 4 เพื่อใช้จ่ายเงินมอบเป็นของขวัญปีใหม่ให้ประชาชน ส่วนขั้นตอนการเปิดซองประมูลมีบริษัทมาขอรายละเอียดจาก 9 บริษัทเหลือเพียง 2 บริษัทคาดว่าเกิดจากข้อกำหนดของ “ทีโออาร์” ที่จำกัดเรื่องเวลาเพราะกำหนดประมูลให้เสร็จในวันที่ 17 ธันวาคม เพราะวันที่ 18 ธันวาคม กทม.ต้องแจ้งกับบริษัทผู้ชนะให้เข้ามาดูสถานที่ก่อนมีการลงนามสัญญาวันที่ 22 ธันวาคม จากนั้นต้องติดตั้งไฟให้แล้วเสร็จในวันที่ 30 ธันวาคมจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมบริษัทเอกชนเข้ามาติดตั้งก่อนวันลงนามสัญญาจ้างทำให้บริษัทที่จะดำเนินการได้มีความเสี่ยงสูงและบริษัทที่ได้งานตั้งงบที่น้อยกว่างบกลางและยืนยันว่าไม่มีการ “ฮั้วประมูล” แน่นอน

              2. โครงการจัดซื้อจัดจ้างกล้อง “ซีซีทีวี” 4.7 หมื่นตัว เป็นอีกประเด็นร้อนที่นายวิลาศยื่นเรื่องให้ป.ป.ช.และสตง.ตรวจสอบเช่นกัน โดยตั้งข้อสังเกตโครงนี้มีการจัดซื้อจริงแค่ 1.2 หมื่นตัวเท่านั้น ซึ่งก่อนหน้านี้วิลาศเคยทำหนังสือถึงผู้ว่าฯ กทม.เพื่อขอเอกสารสัญญาจัดซื้อจัดจ้าง แต่เชื่อว่ากทม.มีพฤติกรรมบ่ายเบี่ยงในการมอบเอกสารต่างๆ 

              ซึ่งประเด็นนี้นายอมร  รองผู้ว่า กทม.ได้สวนกลับไปว่า เป็นความเข้าใจผิดของนายวิลาศเนื่องจากนายวิลาศได้ทำหนังสือขอรายละเอียดการจัดซื้อจัดจ้างกล้องซีซีทีวีตั้งแต่ปีงบประมาณ 2556 ถึงปัจจุบันรวมถึงสัญญาเกี่ยวเนื่องทั้งหมด ซึ่งกทม.ได้ส่งสำเนาสัญญาดังกล่าวให้ตามที่ร้องขอแล้ว ซึ่งปีงบประมาณ 2556-2558 กทม.ได้ทำสัญญาติดตั้งกล้องซีซีทีวีรวมกว่า 1.1 หมื่นตัว โดยตั้งแต่ปี 2550 ถึงปัจจุบันมีกล้องที่ใช้งานได้จริงรวมทั้งสิ้น 47,719 ตัว ดังนั้น ข้อมูลที่นายวิลาศกล่าวหานั้น เป็นความเข้าใจผิด

              3.กรณีที่กทม. “ต่อสัญญา” จ้างเดินรถไฟฟ้ากับบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพจำกัด (มหาชน) (บีทีเอสซี) ออกไปอีก 30 ปี ทั้งที่สัญญาเดิมยังเหลืออีก 17 ปีนั้น นายวิลาศได้ตั้งข้อสังเกตว่าในยุคที่นายอมร ยังเป็นกรรมการผู้อำนวยการบริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) วิสาหกิจ กทม.ได้เอื้อประโยชน์ให้บริษัทเอกชนและส่อว่าทุจริตต่อหน้าที่หรือไม่ อีกทั้งไม่มีการเสนอราคา และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย “ไม่ได้อนุมัติ” ในประเด็นนี้ ช่วงที่พรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาลก็เคยออกมาให้มีการตรวจสอบการขยายสัญญามาแล้ว

               เรื่องนี้ นายอมร ได้ออกมาชี้แจงว่าที่นายวิลาศพูดไม่เป็นจริง เพราะไม่เข้าใจขั้นตอนที่กทม.ลงทุนและเดินรถเอง โดยใช้วิธีการว่าจ้างบริษัทกรุงเทพธนาคมซึ่งเป็นวิสาหกิจของกทม. จึงไม่ต้องเข้าพ.ร.บ.ร่วมทุนเพราะไม่ใช่หน่วยงานเอกชน และเรื่องนี้อยู่ในกระบวนการตรวจสอบของป.ป.ช.อยู่แล้ว กทม.จึงไม่สามารถให้รายละเอียดได้มากเพราะจะเป็นการก้าวก่ายการทำงาน

             4. โครงการการ “จัดซื้อเครื่องดนตรี” โรงเรียนในสังกัดกทม. นายวิลาศ พบว่าเป็นโครงการตั้งแต่ปี 2551 แต่เนื่องจากเป็นโครงการที่ดำเนินการมานานแต่ในปีหลังสุดเมื่อปี 2557 มีข้อมูลชัดมากในความผิดปกติของการจัดซื้อเพราะมีการจัดซื้อเครื่องดนตรีเป็นจำนวน 197 โรงเรียน โดยมีจำนวนโรงเรียนถึง 69 โรงเรียนที่มีนักเรียนต่ำกว่าจำนวน 200 คน และยังมีหลายโรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียนชั้นป.5-ป.6 ที่เป็นช่วงวัยที่จะสามารถเล่นเครื่องดนตรีชิ้นใหญ่ได้ไม่ถึง 10 คน จึงเป็นคำถามเรื่อง “ความคุ้มค่า” ของโครงการนี้จะสุ่มเสี่ยงเป็นการผลาญงบประมาณจัดซื้อเครื่องดนตรีหรือไม่

            เรื่องนี้ “ผุสดี ตามไท” รองผู้ว่าฯ กทม.ได้ออกมาอธิบายว่า โครงการนี้มีมาต่อเนื่องเพราะเชื่อว่าจะเปิดโอกาสนักเรียนสังกัดกทม.พัฒนาด้านอารมณ์จิตใจสมาธิ บางโรงเรียนสามารถใช้ดนตรีช่วยแก้ไขปัญหาให้นักเรียนที่มีสมาธิสั้นเป็นออทิสติกระดับต้นหรือมีปัญหาการเรียนให้กลับมาเรียนรู้ตามปกติ

               5.โครงการงานปรับปรุงห้องทำงานผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ใช้งบประมาณกว่า 16.5 ล้านบาท กับคำถามคาใจประชาชนว่า จำเป็นแค่ไหนกับการปรับปรุงห้องทำงานผู้บริหารที่เหลือวาระตามปกติอีกไม่กี่เดือน ล่าสุด สตง. เข้าตรวจสอบเรื่องนี้แล้ว พร้อมระบุชัดว่ามีการดำเนินโครงการผิดขั้นตอนเพราะมีการดำเนินโครงการไปแล้ว แต่มาประกาศหาผู้รับจ้างทีหลัง ส่วนเรื่องรูปแบบและราคาตรงกับราคากลางหรือไม่อยู่ระหว่างตรวจสอบ คาดว่าเรื่องนี้คงไม่จบง่ายๆ

               6. โครงการก่อสร้างพัฒนาและปรับปรุงเส้นทางจักรยานของ กทม. ทั้งนี้โครงการดังกล่าว  สตง.ได้ทำหนังสือถึง ร.ต.ต. เกรียงศักดิ์ โลหะชาละ ประธานสภากรุงเทพมหานคร ขอให้ทบทวนและปรับปรุงแก้ไข เนื่องจากพบปัญหาหลายประการและพบความไม่คุ้มค่าของเงินในการปรับปรุง

              สตง. ระบุว่า ที่ผ่านมา กทม. ดำเนินการสร้างทางจักรยานทั้งหมด 54 เส้นในถนนสายหลัก รวมระยะทาง 364.54 กิโลเมตร (ไม่รวมถนนสายรองที่ดำเนินการโดยสำนักงานเขต) และในช่วงปี 2557-2558 ปรับปรุง 6 เส้นทาง (เสร็จแล้ว 5 เส้นทางเหลือ 1 เส้นทาง) ใช้งบประมาณไม่น้อยกว่า 54.99 ล้านบาท

             ในการตรวจสอบครั้งนี้ สตง. ดำเนินการตรวจสอบสังเกตการณ์เส้นทางจักรยานปรับปรุงแล้วเสร็จ 2 เส้นทาง 17 ถนน ได้แก่ เส้นทางจักรยานบริเวณรอบเกาะรัตนโกสินทร์ 12 ถนน และเส้นทางจักรยานรอบพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช (วงเวียนใหญ่) 5 ถนน พบว่า ยังไม่สามารถใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ได้อย่างแท้จริง เกิดความไม่คุ้มค่าของเงินงบประมาณที่ดำเนินการปรับปรุง รวมเป็นเงินไม่น้อยกว่า 28.13 ล้านบาท

             ในขณะที่บางเส้นทางไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้แต่อย่างใด ทั้งนี้เส้นทางจักรยานในแต่ละถนนส่วนใหญ่มีผู้เข้ามาปั่นจักรยานหรือมีผู้ใช้ประโยชน์น้อยมาก ประมาณ 5-10 ราย/วัน (ยกเว้นที่หน่วยงานมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการปั่นจักรยานโดยการปิดถนน) และอาจมีเพียงช่วงเช้าหรือช่วงเย็น

            7. โครงการจัดหารถกู้ภัยขนาดเล็กของกรุงเทพมหานคร จำนวน 20 คัน ในวงเงินงบประมาณ 160 ล้านบาท

            โดยนายวิลาศ จันทร์พิทักษ์ อดีต ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ ยื่นหนังสือถึงประธานคณะกรรมการ ป.ป.ช.  เนื่องจากเชื่อว่ามีพฤติการณ์ ส่อมีความผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 จากการจัดซื้อจัดจ้างรถกู้ภัยมีราคาสูงเกินจริง ประมาณคันละ 2.5 ล้านบาท แต่ใช้ประโยชน์ไม่คุ้มค่า เนื่องจากรถ ATV ที่จัดซื้อเป็นรถวิบาก ที่ไม่เหมาะสมจะใช้เป็นรถกู้ภัย

            ขณะที่เครื่องดับเพลิงแรงดันสูง ราคาเครื่องละ 4.1 ล้านบาท แต่ฉีดน้ำต่อเนื่องนาน 5 นาที ในระยะทาง 10 เมตร ซึ่งอาจผิดพระราชบัญญัติว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 จึงขอให้ ป.ป.ช. ดำเนินการหาผู้กระทำความผิดตามข้อกล่าวหา

 

 

   

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ