ข่าว

ยืนเจตนารมณ์ ให้“นายกฯ”มาจาก ส.ส. เสนอชื่อ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

“กรธ.”มีมติแก้ไขม.272 ให้รัฐสภาร่วมโหวตนายกฯ คงเจตนารมณ์ให้"นายกฯ ต้องมาจากสภาผู้แทนราษฎร เขียนชัดให้ใช้แค่ครั้งเดียว สำหรับการงดเว้นบัญชีนายก


 
          ผู้สื่อข่าวรายงาน ว่าเมื่อเวลา 13.30 น. มีการประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. เป็นประธานการประชุม มีวาระพิจารณาปรับปรุงบทบัญญัติของร่างรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกับคำถามประกอบการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ที่ให้ใช้ที่ประชุมร่วมรัฐสภาลงมติเลือกนายกฯ ภายในระยะ 5 ปีหลังจากที่มีรัฐสภาชุดแรก โดยที่ประชุมใช้เวลาหารือ นานกว่า 3 ชั่วโมง

   

          จากนั้นทีมโฆษก กรธ. ได้แถลงถึงข้อยุติต่อการปรับบทบัญญัติดังกล่าว โดยแก้ไขรายละเอียดของมาตรา 272 ว่าด้วยการของดเว้นการใช้บัญชีรายชื่อผู้ที่พรรคการเมืองสนับสนุนให้ดำรงตำแหน่งนายกฯ ของพรรคการเมือง โดยเพิ่มเนื้อหาเป็น 2 วรรค ซึ่งมีสาระสำคัญคือ วรรคแรกกำหนดให้ระยะ 5 ปีหลังจากการเลือกตั้ง ส.ส. ให้รัฐสภาเป็นผู้ลงมติแต่งตั้งบุคคลที่จะมาทำหน้าที่นายกฯ โดยต้องเป็นไปบุคคลที่อยู่ในบัญชีผู้ที่พรรคการเมืองจะสนับสนุนให้ดำรงตำแหน่งนายกฯ ของพรรคการเมือง โดยใช้เสียงเห็นชอบมากกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภาที่มีอยู่ และ วรรคสอง ระบุสาระสำคัญว่าการของดเว้นบัญชีรายชื่อนายกฯ ของพรรคการเมือง สามารถใช้ได้เพียงครั้งเดียวนับแต่มีรัฐสภาชุดแรก โดยมีวิธีการ ให้ส.ส.เข้าชื่อไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง เพื่อขอให้ประธานรัฐสภาเรียกประชุมร่วมกันของรัฐสภาเพื่อลงมติงดเว้นการใช้บัญชีนายกฯ ของพรรคการเมือง โดยใช้เกณฑ์เสียงมากกว่า 2 ใน 3 และเมื่อที่ประชุมรัฐสภามีมติยกเว้นให้กลับมาเลือกนายกฯ ผ่านที่ประชุมรัฐสภาโดยยึดบทบัญญัติในมาตรา 272 วรรคแรกเช่นเดิม
 
          โดยนายนรชิต สิงหเสนี โฆษก กรธ.แถลงยืนยันว่า การเสนอชื่อบุคคลที่จะให้รัฐสภาลงมติเห็นชอบให้แต่งตั้งเป็นนายกฯ นั้น จะเป็นสิทธิเฉพาะสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น แม้ว่าจะใช้เสียงลงมติจากที่ประชุมร่วมรัฐสภา โดย กรธ. มีเหตุผลสำคัญ คือ หลักการของมาตรา 159 ว่าด้วยการเลือกนายกฯ นั้น บัญญัติให้สอดคล้องกับหลักการแต่งตั้งนายกฯ ของประเทศที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข กล่าวคือ นายกฯ ต้องมาจากการดำเนินการของสภาผู้แทนราษฎร และได้รับการสนับสนุนจาก ส.ส. เพื่อให้การบริหารประเทศของนายกฯ เป็นไปโดยราบรื่น ขณะที่การเลือกแก้ไขมาตรา 272 ที่อยู่ในส่วนของบทเฉพาะกาลนั้น เป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเห็นชอบของผู้ดำรงตำแหน่งนายกฯ อีกทั้งบทบัญญัติดังนั้นเป็นที่ใช้ในวาระเริ่มแรกเป็นการชั่วคราวและใช้เฉพาะกรณีที่ไม่สามารถเลือกนายกฯจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมือง ซึ่งถือเป็นมาตราที่ตรงกับข้อความของคำถามประกอบฯ ที่มีข้อความว่า ให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกฯ ดังนั้นการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกันทำได้เพียงเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับการลงมติเลือกนายกฯ ในที่ประชุมร่วมรัฐสภาเท่านั้น
 
          “ทั้งนี้ กรธ. จะขัดเกลาถ้อยคำของบทบัญญัติ โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงหลักการ ก่อนส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งกำหนดไว้ว่าภายในต้นสัปดาห์หน้าจะส่งศาลรฐธรรมนูญให้พิจารณาได้ อย่างไรก็ตามในการปรับแก้ไขถ้อยคำนั้นและการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญไม่มีประเด็นข้อหารือต่อการร้องคัดค้านหรือร้องโต้แย้งในคำแก้ไขของกรธ.” นายนรชิต กล่าว
 
          ขณะที่นายอุดม รัฐอมฤต โฆษก กรธ. แถลงเพิ่มเติมว่า ส่วนการเสนอชื่อผู้ที่จะให้รัฐสภาลงมติ จะเป็นไปตามหลักการเดิม คือให้ ส.ส. เป็นผู้เสนอชื่อ ขณะที่ส.ว. เป็นผู้ร่วมลงมติให้ความเห็นชอบเท่านั้น แม้จะมีการยกเว้นการใช้บัญชีนายกฯ ของพรรคการเมืองแล้วต้องยึดหลักการเดิม คือ ให้ส.ส. ดำเนินการเท่านั้น ซึ่งส.ว.ไม่มีสิทธิใดๆ ต่อกระบวนการเสนอชื่อนายกฯ ขณะที่ในวรรคสองของมาตรา 272 ที่แก้ไข ที่ใช้ถ้อยคำว่าวาระเริ่มแรก หมายถึงรัฐสภาชุดแรก หากมีการยุบสภา หรือ นายกฯ ลาออก หรือมีการเปลี่ยนแปลงสภาชุดแรก บทเฉพาะกาลในมาตรา 272 วรรคสองจะไม่สามารถดำเนินการได้ ทั้งนี้เมื่อส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ตนไม่ทราบว่าศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาว่าการปรับแก้ไขของกรธ. สอดคล้องหรือไม่ แต่หากศาลรัฐธรรมนูญมีความเห็นเป็นอย่างอื่นต้องแจ้งมายังกรธ.พร้อมกับการปรับแก้ไขข้อความที่เหมาะสม

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ