ข่าว

“มีชัย” ไม่กดดันกระแสเพิ่มอำนาจ ส.ว.เสนอชื่อนายกฯ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"มีชัย" ไม่กดดันกระแสบีบให้ปรับร่างรธน. เพิ่มอำนาจ ส.ว.เสนอชื่อนายกฯ ต่อรัฐสภา ย้ำต้องเขียนให้เป็นไปตาม คำถามพ่วงฯ มองข้อเสนอ “พรเพชร” เพื่อขจัดเดทล็อคการเมือง

          22 ส.ค.59 -- นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงประเด็นการปรับแก้ไขบทบัญญัติของร่างรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกับคำถามประกอบการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีข้อเสนอให้ ส.ว. ชุดแรกมีสิทธิเสนอบุคคลให้รัฐสภาลงมติแต่งตั้งเป็นนายกฯ ว่า ประเด็นดังกล่าวไม่มีความกดดันใดๆ เพราะการปรับแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญเป็นหน้าที่ของกรธ. ส่วนกรณีที่มีผู้เสนอให้เพิ่มเติมหน้าที่ของส.ว.ในการเสนอชื่อนายกฯ เพื่อให้เป็นทางออกของทางตันทางการเมืองนั้น ตนมองว่าในร่างรัฐธรรมนูญได้ออกแบบกลไก เพื่อแก้ปัญหาไว้อยู่แล้ว ซึ่งและหากจะเสนอแนวทางเผื่อไว้เป็นทางออกของอนาคตนั้น คงจะสายไป เพราะหากต้องการเสนอจริงควรเสนอมาตั้งแต่ที่กรธ. อยู่ระหว่างการร่างบทบัญญัติของร่างรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตามข้อเสนอแนะของบุคคลต่างๆ ต่อเรื่อการปรับบทบัญญัติร่างรัฐธรรมนูญนั้น สามารถทำได้ แต่กรธ. นั้นได้วางหลักและกรอบการพิจารณาเรื่องดังกล่าวไว้แล้ว คือ ต้องยึดคำถามประกอบฯ ที่สอบถามประชาชนเป็นหลัก และจะเขียนเป็นอื่นไปไม่ได้ ทั้งนี้ ในวันที่ 24 ส.ค. นี้ กรธ.จะเริ่มพิจารณาตัวบทบัญญัติ ซึ่งหากสนช. มีประเด็นข้อเสนอเพิ่มเติมสามารถเสนอให้กรธ.ได้ 

          “ข้อเสนอของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาตินั้น กรธ.ก็รับฟัง แต่จะเขียนอย่างไร ถือเป็นความรับผิดชอบของกรธ. เพราะกรธ. ต้องเป็นผู้เผชิญกับศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้การเขียนถ้อยคำใดๆ ไม่ใช่ความต้องการของกรธ. เพราะต่อให้กรธ.อยาก หรือไม่อยากต้องยึดคำถามพ่วงเป็นหลัก ซึ่งอย่างที่เคยเล่าว่า เราคิดจะเพิ่มมาตราไปอีก 1 มาตราเพื่อสำหรับคำถามพ่วง แต่ร่างรัฐธรรมนูญที่ประชาชนรับประชามติ มีจำนวน 279 มาตรา ดังนั้นจะเพิ่มไม่ได้ ต้องหาทางแทรกบทบัญญัติ หรือแม้แต่คำว่า นับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรก เราคิดว่าจะเปลี่ยนคำให้เป็นภาษากฎหมาย แต่เมื่อคำถามพ่วงฯ ไปถามประชาชนด้วยคำนั้น ต้องคงคำดังกล่าวนี้ไว้ และหากจะมีการตีความว่า 5 ปีเริ่มจากวันใด ก็ปล่อยให้ไปตีความกันในอนาคต” นายมีชัย กล่าว      

         ผู้สื่อข่าวถามถึงข้อเสนอของนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช. ที่มองว่าควรในกระบวนการเสนอชื่อนายกฯ ส.ว.ควรเข้าไปมีส่วนร่วม เพื่อแก้ปัญหากรณีที่คนที่ประชาชนชอบไม่ได้รับเลือกตั้งเพื่อแก้ไขเดทล็อคทางการเมือง นายมีชัย กล่าวว่า “หากเสนอมา ตอนทำร่างรัฐธรรมนูญก็อาจเป็นไปได้ แต่ตอนนี้มันผ่านไปแล้ว”           

          เมื่อถามย้ำกว่า กรณีการเลือกนายกฯ ในสภาฯ ไม่มีกำหนดเวลาว่าต้องให้ได้นายกฯ เมื่อใด จึงอาจเป็นประเด็นขึ้นได้ นายมีชัย กล่าวว่า ในร่างรัฐธรรมนูญมีทางออกโดยธรรมชาติอยู่แล้ว คือ ให้รัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ปฏิบัติหน้าที่อยู่ต่อไปจนกว่าจะมีรัฐบาลชุดใหม่ ซึ่งหากสภาฯ ชุดแรก เจรจากันไม่ลงตัว รัฐบาลคสช.จะอยู่ไป ทั้งนี้การนับวาระของรัฐบาลใหม่นั้นให้เริ่มจากวันเลือกตั้ง ดังนั้นหากนักการเมืองตกลงกันไม่ได้ จนเวลาเลยไปกว่า 2 ปี รัฐบาลปัจจุบันก็จะอยู่ต่อไป และหากในช่วงผ่านไป 2 ปี แล้วตั้งรัฐบาลได้ เขาจะมีวาระอยู่ในตำแหน่งเพียง 2 ปีที่เหลือ ดังนั้นเป็นเหตุผลสำคัญที่นักการเมืองต้องรีบตกลงกันให้ได้โดยเร็ว       

          เมื่อถามต่อว่า การเสนอชื่อนายกฯ โดย ส.ว. กังวลว่าจะทำให้เกิดปัญหาการเมืองหรือไม่ นายมีชัย กล่าวว่า “อย่าไปกลัวในสิ่งที่ยังไม่มา ไปดูที่กรธ.เขียนก่อน ” 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ