ข่าว

ฟังชัดๆ!! จุดยืนอภิสิทธิ์เรื่องนายกฯ คนนอก-คนใน (มีคลิป)

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

(EXCLUSIVE) “อภิสิทธิ์” ชี้นายกฯคนต่อไปต้องมาจากพรรคที่เป็นเสียงข้างมากในสภา ระบุถ้าเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย จะต้องสร้างกระแสสังคมกดดัน ส.ส.ให้สนับสนุนรัฐบาล

          18 ส.ค. 59 - นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ  หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์พิเศษเครือเนชั่นถึงเรื่องการเลือกนายกฯคนต่อไป หลังการเลือกตั้ง ว่า ขณะนี้ไม่ใช่เวลาชี้ชัดเรื่องนี้ แต่ตนยืนยันว่าไม่เห็นด้วยกับการตั้งรัฐบาล โดยที่ไม่มีเสียงข้างมาก ส.ส. สนับสนุน นี่คือหลักที่เราพูดได้ชัดเจน

          “ผมสนับสุนให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง รวบรวมเสียงสนับสนุนข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรได้ เพราะว่าการทำงานของรัฐบาลก็ต้องรับผิดชอบต่อ ส.ส. มีทั้งเรื่องญัตติ กระทู้คำถาม กฎหมาย ถ้าขาดการสนับสนุนส่วนนี้ ก็จะกลายเป็นรัฐบาลที่ทำงานกับประชาชนได้ยาก ผมคิดว่าแม้โครงสร้างในร่างรัฐธรรมนูญเป็นเช่นนี้ แต่เสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรก็ยังมีความสำคัญมาก” นายอภิสิทธิ์กล่าว

          เมื่อถามย้ำว่านายกฯจะต้องมาจากพรรคเสียงข้างมากใช่หรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า “ใช่ครับ เพื่อให้รัฐบาลสามารถทำงานได้ ทำให้ไม่มีปัญหาในแง่ของการขัดเจตนารมณ์ของประชาชนที่ได้แสดงออกในการเลือกตั้ง”

          เมื่อถามอีกว่าถ้าพรรคประชาธิปัตย์อยู่ในเสียงข้างมากของสภา จะสนับสนุนให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯอีกหรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ตนไม่ขอพูดเรื่องบุคคล เพราะไม่รู้ว่าสุดท้ายกระบวนการเลือกนายกฯจะเป็นเช่นไร แต่หลักการที่พูดได้ทันที คือ ส.ส. โดยเสียงข้างมากจะต้องเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล

          “ตอนนี้สิ่งที่พยายามวิเคราะห์กัน พูดถึงแต่จะเอา ส.ว. 250 คนเป็นตัวตั้ง แต่ผมไม่คิดเช่นนั้น เพราะรัฐบาลที่จะทำงานได้ต้องเป็นรัฐบาลที่มีเสียงข้างมากในสภา และนั่นคือการเคารพผลของการเลือกตั้ง ทั้งนี้ก็ต้องไปคิดต่อว่าเสียงข้างมากของ ส.ส. ควรจะเลือกแบบไหน” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าว

          นายอภิสิทธิ์ มองถึงรัฐบาลหลังการเลือกตั้งครั้งหน้า ว่า ตนไม่ได้มองว่าใครจะเป็นนายกฯ แต่มองสภาพการทำงานของรัฐบาล ซึ่งจะมีอยู่ 3 ลักษณะขึ้นอยู่กับว่าจะวางบทบาท ส.ว. 250 คนไว้อย่างไร แบบแรก ถ้าให้ ส.ว. 250 คนเป็นหลัก ให้ ส.ส. เป็นรอง คือเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยในสภา เรื่องนี้อาจไม่ขัดข้อกฎหมาย แต่ถามว่ารัฐบาลจะหนีจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจได้ไหม หากเป็นแบบนี้คนที่เป็นนายกฯจะต้องสร้างกระแสสังคมเพื่อให้มากดดัน ส.ส. ให้สนับสนุนรัฐบาลชุดนี้ทำงานไปก่อน ถ้าทำได้รัฐบาลก็อยู่ได้ แบบที่ 2 ถ้า ส.ส. เป็นหลักในการเลือกนายกฯ และไม่มีปัญหากับ ส.ว. การทำงานของรัฐบาลก็จะไม่ยากมาก แต่ถ้าเป็นแบบที่ 3 คือ ส.ส. เป็นหลักในการเลือกนายกฯ แต่ขัดแย้งกับ ส.ว. แบบนี้ก็จะเหนื่อยอีกแบบ เพราะจะมีความขัดแย้งเป็นระยะ

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ