ข่าว

"ขอ คสช. หยุดคุกคามคนคิดต่าง" : เครือข่ายภาคปชช.

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

กลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่ รวมกับเครือข่ายภาคประชาชน 43 องค์กร จัดงาน “ใส่ใจประชามติฯ” คึกคัก ขึ้นเวทีรุมสับร่างรธน.-แถลงโหวตโน


            24 ก.ค. - กลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่ รวมกับเครือข่าย 43 องค์กร อาทิ โครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ และเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง เป็นต้น  จัดกิจกรรม "ใส่ใจประชามติรัฐธรรมนูญ กำหนดอนาคตประชาชน" ซึ่งมีงานเสวนา "ทางเลือกประเทศไทยหลัง 7 สิงหา 59" ที่หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) โดยบรรยากาศบริเวณรอบหอประชุมและลานประติมากรรม 6 ตุลา จัดนิทรรศการ "กำแพงร่างรัฐธรรมนูญ" และภาพวาดล้อเลียนสถานการณ์การเมืองในขณะนี้รวมทั้งมีการจำหน่ายเสื้อโหวตโนอีกด้วย

            ส่วนในหอประชุมศรีบูรพา (หอเล็ก) โดยผู้เข้าร่วมงานได้ชูแผ่นพับ “7 เหตุผลคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญ" และแสดงสัญลักษณ์กากบาทไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ขณะเดียวกัน 12 เครือข่ายภาคประชาชน แถลงจุดยืนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญโดยชี้แจงเหตุผลในประเด็นต่างๆอาทิ เรื่องการทำให้สวัสดิการพื้นฐานเป็นการสงเคราะห์ ที่มาของส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้งของคสช. ขาดความยึดโยงประชาชน รวมถึงบรรยากาศในช่วงก่อนทำประชามติ ที่ประชาชนได้รับข้อมูลจากตัวแทนของภาครัฐข้างเดียว

            นายอัษฎางค์ ปาณิกบุตร นักวิชาการอิสระด้านรัฐศาสตร์ กล่าวเสวนาในหัวข้อ “ถกร่างรัฐธรรมนูญ” ตอนหนึ่งว่า ตนมีความเห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ว่าแย่กว่าทุกฉบับที่ผ่านมา โดยเฉพาะเรื่องหลักการประชาธิปไตย อย่างระบบการเลือกตั้ง ที่ไม่เหมือนของเยอรมัน ซึ่งเราไม่ควรทำลายระบบพรรคการเมือง แต่ต้องสร้างความเข้มแข็งให้รัฐ และที่ตนรับไม่ได้อีกคือการให้ ส.ว. แต่งตั้งมาใช้อำนาจอธิปไตยของประชาชน ซึ่งถ้าหากเราต้องการ ส.ว. มีอำนาจในการออกกฎหมาย หมายความว่าใช้อำนาจอธิปไตยของประชาชน ก็ต้องผ่านความเห็นชอบของประชาชน ด้วยการมาจากการเลือกตั้งไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม การที่ตนกล่าวเช่นนี้ไม่ได้เป็นการบิดเบือน แต่ตามหลักการแล้วอำนาจอธิปไตย จะต้องให้ประชานชนมีส่วนร่วม อาจจะไม่ต้องเยอะ แต่ก็ต้องให้โอกาส รับฟังเสียงประชาชนด้วย

            “ถ้าผู้นำบอกว่าการทำประชามติต้องบริสุทธิ์ ยุติธรรม ดังนั้นท่านจะต้องเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนเปิดเวทีแสดงความเห็นพูดข้อดีข้อเสียได้ และให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสิน ไม่ใช่ไปจับคนเห็นต่าง เช่นนี้จะเรียกว่าประชามติได้อย่างไร ในเมื่อไม่ให้ข้อมูลที่รอบคอบกับประชาชน” นายอัษฎางค์ กล่าว 

 

“วรเจตน์” ชี้ร่างรธน.สืบทอดมรดกคำสั่งคสช. พร้อมวางกลไกให้ศาลรธน.มีอำนาจเหนือรัฐบาลเลือกตั้ง

            ด้านนายวรเจตน์    ภาคีรัตน์  เเกนนำกลุ่มนิติราษฎร์และอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ ”ประชามติ7สิงหากับอนาคตสังคมไทย"ว่า   แม้หลายคนยืนยันว่าจะมีการทำประชามติแน่นอน    แต่ก็ยังแน่ใจไม่ได้   เพราะหัวหน้า คสช. มีมาตรา44 สั่งว่า  จะจัดหรือเลื่อนออกไปก็ได้และแม้ว่าผู้ร่างรัฐธรรมนูญจะเขียนให้แก้ไขได้    แต่ก็พบว่ายากต่อการแก้ไขมาก    ซึ่งเรื่องนี้อาจเป็นชนวนและระเบิดเวลาที่นำไปสู่ความรุนแรงในอนาคต    อีกทั้งร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังให้หัวหน้า คสช.มีอำนาจ ทั้งๆที่รัฐธรรมนูญปกติจะกำหนดให้อำนาจรัฐประหารสิ้นสุดเมื่อมีรัฐธรรมนูญถาวร  

            “อีกทั้งร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังมีปัญหาเรื่องโครงสร้างองค์กรของรัฐ และการเข้าสู่ตำแหน่งทางการเมือง โดยการเลือกตั้งจะเปลี่ยนไปจากเดิมซึ่งเป็นการยากหรือที่จะทำให้ประชาชนมีคะแนนเสียงสองคะแนน คือเลือกส.ส.เขตและแบบบัญชีรายชื่อแยกกัน    ไม่เข้าใจว่าทำไมกำหนดให้เลือกได้อย่างเดียว   เหมือนเป็นการบังคับโดยปริยายในแง่นี้อาจทำให้เจตนารมณ์ของประชาชนในการเลือกผู้แทนไม่สมบูรณ์”เเกนนำกลุ่มนิติราษฎร์กล่าว

            นายวรเจตน์กล่าวต่ออีกว่า  ส่วนการได้มาซึ่งส.ว.ประชาชนจะไม่มีสิทธิเลือก ทั้งๆที่มีอำนาจอย่างมากในการออกกฎหมายความชอบธรรมมีน้อย แต่อำนาจมีมาก   เมื่อมีการเลือกตั้งแล้วจะได้บุคคลมาเป็นรัฐบาลและบริหารราชการแผ่นดินได้ลำบากมาก    ยากที่รัฐมนตรีจะดำเนินโนยบายที่เป็นนโยบายสาธารณะได้     อำนาจของศาลและองค์กรอิสระก็เพิ่มมากขึ้นกำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมนอกจากใช้กับตัวเอง    ยังมาใช้กับนักการเมืองส่งผลทำให้สถานะของนักการเมืองมีความไม่แน่นอนสูง    

            หลายคนสงสัยว่ารัฐธรรมนูญนี้กำหนดกลไกเหมือนคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ(คปป.)ที่มีอำนาจเหนือรัฐบาลหรือไม่    เพราะถึงไม่ได้เขียนไว้   แต่ส่วนนี้จะไปอยู่ที่มาตรา5ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจวินิจฉัยทางออกประเทศ    องค์กรที่ขาดจุดเชื่อมโยงกับประชาชนมีจำนวนมากกว่าองค์กรที่ความเชื่อมโยง      

            “มีบุคคลที่ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษารัฐบาลคสช.บอกว่า    หากรัฐธรรมนูญไม่ผ่านอาจหมายถึงอยากให้คสช.อยู่ยาว    การจัดประชามติครั้งนี้ถ้ารัฐธรรมนูญผ่านแปลว่าคนเห็นชอบแต่ถ้าไม่ผ่านหมายถึงประชาชนปฏิเสธผลงานที่มา  คนที่เป็นกรรมการร่างจะรับผิดชอบอย่างไร   แล้วที่แต่งตั้งกรรมการร่างจะรับผิดชอบอย่างไร    รับหรือไม่รับเป็นปัญหาเรื่องความชอบธรรม   บางคนเริ่มไขว้เขว พอบอกว่าไม่รับ  อยากให้คสช.อยู่นานๆหรือ   เราจะต้องอยู่บ้านไม่ไปใช้สิทธิหรือไปโหวตรับ แต่ผมเห็นว่าถ้ารัฐธรรมนูญไม่ผ่าน ความชอบธรรมของคสช.คงไม่เหมือนเดิม” เเกนนำกลุ่มนิติราษฎร์กล่าว

            นายวรเจตน์กล่าวต่ออีกว่า   ในส่วนประเด็นคำถามพ่วง   มีข้อสังเกตว่าถ้าคำถามพ่วงนี้ให้ส.ว.มาร่วมโหวตเลือกนายกฯ   แต่ 5 ปีแรกของส.ว.มาจากการคัดเลือกของคสช. ซึ่งตนคงโหวตไม่เห็นด้วยทั้งร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วง

            นายปิยบุตร แสงกนกกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ทุกวันนี้มีช่องให้ประชาชนไปแสดงออกได้ ก็คือการลงประชามติ โดยเป็นช่องทางที่แสดงให้เห็นว่าเราไม่เอารัฐประหาร ไม่เอาคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และในวันนี้ตนก็บอกไม่ได้ว่าประชามติจะเกิดขึ้นหรือไม่ เพราะหากมองสภาพปัจจัยทางการเมือง ตนเห็นว่าโหวตไม่เห็นชอบชนะ ทาง คสช.ก็จะอยู่ในอำนาจต่อไป และเมื่อพิจารณาความเป็นจริงวัตถุประสงค์ในการรัฐประหารยังไม่เสร็จ อีกทั้งคนที่ไม่เห็นด้วยคสช. ยังไม่มากพอที่เรียกร้องให้คนทั้งประเทศไม่ยอมรับ คสช. ทั้งนี้ตนเห็นว่าหากประชาชนโหวตไม่เห็นด้วยเยอะกว่า คสช. ก็ต้องยุติ และออกจากกระบวนการการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่  

            “หากเป็นเช่นนี้จะทำให้มีประโยชน์ต่อประเทศชาติและ คสช. ด้วย เพราะหากศึกษาจากประเทศต่างๆอย่าง บราซิล เกาหลีใต้ สเปน ที่เปลี่ยนผ่านจากเผด็จการไปประชาธิปไตย เขาจะใช้วิธีถอยและเจรจากับฝ่ายประชาธิปไตย ทั้งนี้มีทางออกสวยๆคือ การออกไปด้วยตัวเองพร้อมเปิดโอกาสให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง สร้างสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ให้ประชาชนทำรัฐธรรมนูญ แต่ถ้าคสช.อยู่ต่อ โดยตามประวัติศาสตร์โลกแล้ว ฝ่ายประชาธิปไตย ต้องชนะอยู่แล้ว ไม่ช้าก็เร็ว หากวันนั้นมาถึงก็จะเกิดความรุนแรงขึ้น”

            จากนั้นเครือข่ายนักวิชาการนิสิตนักศึกษาและประชาชน 43 องค์กร  ได้ออกแถลงการณ์ เรื่อง รัฐธรรมนูญของประชาชน ระบุตอนหนึ่งว่า พวกเราทั้ง 43 องค์กร เห็นร่วมกันที่จะโหวตโน ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วง ด้วยเหตุผลสำคัญ 4 ประการ คือ 1.กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ขาดความชอบธรรมตั้งแต่ต้น 2.เนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญจะนำพาประเทศให้ถอยหลัง ทั้งในด้านหลักการประชาธิปไตยและด้านสิทธิและสวัสดิการของประชาชน 3.บทเรียนการบริหารประเทศที่ผ่านมาของ คสช. ทำให้ประชาชนรู้ชัดว่า ไม่อาจฝากอนาคตไว้กับคสช. ได้อีก และ 4.รัฐธรรมนูญฉบับนี้ถูกออกแบบให้แก้ไขแทบจะไม่ได้ เช่น ต้องผ่านถึงสามขั้นตอน ต้องได้รับความเห็นชอบจากพรรคการเมืองทุกพรรคในสภา จึงทำให้คำกล่าวที่ว่า รับร่างรัฐธรรมนูญไปก่อนแล้วไปแก้ที่หลัง ในคราวลงประชามติปี 2550 นั้น ใช้ไม่ได้กับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ 

            "ขอเรียกร้องให้ คสช. หยุดกดดัน คุกคามดำเนินคดีที่คิดต่าง เพื่อให้การลงประชามติเป็นไปอย่างเปิดเผยและยุติธรรมและหยุดการใช้กลไกของราชการให้ข้อมูลแก่ประชาชนเพียงด้านเดียว ตรงกันข้ามต้องเปิดพื้นที่ให้ประชาชนทั้งที่ได้แสดงความเห็นและได้รับข้อมูลอย่างรอบด้าน" แถลงการณ์ระบุ

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ