ข่าว

ด่วน!! ขั้นตอนตั้ง "สมเด็จช่วง" สังฆราช ถูกแล้ว!!

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

“สุวพันธุ์” แถลงความเห็นกฤษฎีกา ยัน “มหาเถรสมาคม” ส่งชื่อสมเด็จพระสังฆราชถูกขั้นตอนแล้ว รอส่งให้นายกฯพิจารณา ไม่ขัดมาตรา 7

         

           11 ก.ค. 2559  - นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงผลการตีความมาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ของคณะกรรมการกฤษฎีกา หลังผู้ตรวจการแผ่นดินตีความว่าการเสนอนามสมเด็จพระสังฆราชของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ตามมติของมหาเถรสมาคม (มส.) ผิดขั้นตอน ว่า ก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะเสนอนามสมเด็จพระสังฆราชต้องได้รับความเห็นชอบจาก มส.ก่อน และต้องเสนอนามสมเด็จพระราชาคณะที่อาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ ซึ่งตามกฎหมายไม่ได้กำหนดว่าการเสนอรายชื่อนั้นจำเป็นต้องริเริ่มจากนายกฯ ดังนั้น การส่งความเห็น มส.มา จึงไม่ขัดกับมาตรา 7 หนังสือฉบับนั้นจึงยังมีผลอยู่
  
         นายสุวพันธุ์ กล่าวต่อว่า กฤษฎีกายังได้ตีความอีกว่านายกฯไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามความเห็นของผู้ตรวจการแผ่นดิน แต่สามารถนำมาประกอบการใช้ดุลยพินิจได้ และแนวทางปฏิบัติก่อนหน้านี้ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 28 ก.พ.2482 ระบุด้วยว่าเมื่อรัฐบาลขอความเห็นจากสำนักงานกฤษฎีกาในเรื่องข้อกฎหมายไปให้ปฏิบัติตามนั้น ดังนั้น ตนจะยึดแนวทางตามนี้ โดยจะกราบเรียนให้นายกฯรับทราบเฉพาะเรื่องความเห็นของกฤษฎีกา และแนวทางปฏิบัติตามมติครม.เพื่อให้นายกฯพิจารณาต่อไป
 
        “วันนี้เราดูเรื่องมาตรา 7 ก่อน ขั้นตอนนี้จบแล้ว ชัดเจนว่าสิ่งที่ทำมาไม่ได้ขัดแย้งกับมาตรา 7 ส่วนการดำเนินการต่อไปเรายังไม่ได้ทำอะไรเพิ่มเติม หนังสือแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชยังอยู่กับผม ยังมีผลในทางราชการเหมือนเดิม นายกฯมีหน้าที่เสนอนามสมเด็จพระสังฆราช และรับสนองพระบรมราชโองการ ดังนั้นก่อนที่ผมจะเสนอเรื่องไปต้องดูทุกอย่างให้รอบด้าน ครบถ้วน ตอนนี้ยังมีประเด็นที่ต้องพิจารณาเกี่ยวกับขั้นตอนการเสนอนามสมเด็จพระสังฆราช จึงต้องขอเวลาดูเรื่องต่างๆที่เกี่ยวข้องก่อนทำความเห็นถึงนายกฯต่อไป ไม่สามารถระบุเวลาได้ เพราะมีหลายปัจจัย ต้องให้สังคมเข้าใจตรงกันก่อน ผมขอแบกเรื่องนี้ รับภาระ เป็นของตัวเองก่อน และไม่รู้สึกกดดันอะไร เพราะเชื่อว่าทุกฝ่ายเข้าใจ”นายสุวพันธุ์กล่าว
  
         ผู้สื่อข่าวถามว่า ตามมาตรา 7 นายกฯสามารถมีความเห็นแย้งกับมส.ได้หรือไม่ นายสุวพันธุ์ กล่าวว่า นายกฯมีหน้าที่กราบบังคมทูล ซึ่งเมื่อไหร่อย่างไรนั้นเป็นเรื่องของนายกฯ ส่วนเรื่องของพระนาม กฎหมายกำหนดว่าต้องมีสมณศักดิ์สูงสุด และมส.ต้องเห็นชอบพระนามนั้น

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ นายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้ยื่นเรื่องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้พิจารณาวินิจฉัยข้อกฎหมาย มาตรา 7 ของพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมปี 2535 หมวดสมเด็จพระสังฆราช ว่า หน่วยงานใดมีอำนาจในการเสนอชื่อแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราช

           ต่อมา ผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติว่า การเสนอชื่อสมเด็จสังฆราชพระองค์ใหม่ มติที่ประชุม มส. เมื่อวันที่ 5 ม.ค.2559 ทำข้ามขั้นตอนไม่ถูกต้องตามมาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ 2535 เนื่องจากผู้ตรวจฯ เห็นว่ากระบวนการเสนอชื่อ ต้องให้นายกฯ เป็นผู้นำรายชื่อให้ที่ประชุม มส.เห็นชอบ แต่มติ มส.วันดังกล่าวได้เห็นชอบสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญโญ) ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช และเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ เป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ใหม่ แล้วนำส่งไปที่นายกฯ เพื่อขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย ซึ่งผู้ตรวจฯเห็นว่าข้ามขั้นตอน จากนั้น ผู้ตรวจการฯ ได้ส่งมติดังกล่าวมาให้รัฐบาล และรัฐบาลได้ส่งเรื่องไปให้ คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความต่อ

           

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ