ข่าว

ร่างรธน.ฉ.ประชามติ จุดเสี่ยงขัดแย้งรอบใหม่ ?

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ภาคแรงงาน ชี้ ร่างรธน.ฉ.ประชามติ ไม่เคารพศักดิ์ศรีคนแรงงาน ตัดส่วนดีในรธน.ฉบับเก่าออก /นักวิชาการ-ฝ่ายเคลื่อนไหว ชี้ผลประชามติร่างรธน.คือจุดเสี่ยงขัดแย้งรอบใหม่

 

          6 ก.ค.59 ที่มหาวิทยาลัยรังสิต วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ร่วมกับเครือข่ายแรงงาน อาทิ สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ได้จัดงานเสวนา เรื่อง "ร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ กับอนาคตการปฏิรูปด้านแรงงาน" โดยมีนักวิชาการและผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมเวที และมีตัวแทนกลุ่มผู้ใช้แรงงานจากหลายพื้นที่ รวมถึงนักศึกษา ประมาณ 100 คน เข้าร่วมรับฟังและแสดงความคิดเห็น    
          โดยนายปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า เหตุผลสำคัญที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้การลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพื่อสร้างความชอบธรรมต่อการมีอยู่ของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ในกระบวนการก่อนการออกเสียงประชามติต้องมาพร้อมกับการแสดงออกของประชาชน และการรับฟังความเห็นที่รอบด้านโดยไม่ปิดกั้นมากเกินไป แต่ปัจจุบันไม่ได้เป็นไปในลักษณะดังกล่าว ทำให้ตนประเมินว่าแม้ร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านประชามติ อาจมีปัญหาด้านความชอบธรรมได้ ทั้งนี้ ตนมองว่าหากภายใน 1 เดือนก่อนการออกเสียงประชามติ คสช. ไม่เปิดกว้างในการแสดงออกตามขอบเขตของกฎหมาย อาทิ ไม่สร้างความวุ่นวาย, แสดงความเห็นอย่างสันติ ชะตากรรมของร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อาจซ้ำรอยกับชะตากรรมของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2534 ได้ ทั้งนี้ในการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หากผู้มาออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญใหม่ มีจำนวนไม่ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ มีปัญหาต่อความชอบธรรมอย่างแน่นอน ดังนั้นในการเชิญชวนให้ประชาชนออกเสียงที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตั้งเป้าไว้ 80 เปอร์เซ็นต์ คสช. ควรเปิดพื้นที่ให้มีการแสดงความเห็นได้ทั้งฝ่ายที่สนับสนุนและไม่สนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญ

          "คสช. ถือมีส่วนได้เสียกับการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หากไม่เปิดพื้นที่อย่างกว้างขวางในการแสดงความเห็น หากร่างรัฐธรรมนูญผ่านก็จะมีปัญหาด้านความชอบธรรม แต่หากไม่ผ่านอาจเกิดปรากฏการณ์ไม่ยอมรับ คสช. เรียกร้องให้มีการเลือกตั้งทันที ซึ่งอาจนำไปสู่ความวุ่นวาย การเมืองจะเข้าสู่วิกฤต ดังนั้นคสช. ควรประกาศ ชี้แจงให้ชัดเจนโดยเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่ต้องมีการแก้ไขเพิ่มเติมอีกครั้ง ว่าหากร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติไม่ผ่านจะเกิดอะไรขึ้น จะร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หรือปรับปรุงเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใดฉบับหนึ่ง อย่าปล่อยให้ประชาชนต้องเลือกระหว่างสิ่งที่เลวร้ายและความมืดดำ อย่างไรก็ตามผมมองว่าภายหลังการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ประชาชนต้องมีส่วนรับผิดชอบร่วมกัน เพราะนี่คือประเทศไทยของเรา อย่าปล่อยให้เป็นความรับผิดชอบเฉพาะคสช. เท่านั้น" นายปริญญา กล่าว

          ด้านนายไพโรจน์ พลเพชร ที่ปรึกษาสภาประชาชนปฏิรูปประเทศ (สชป.) กล่าวว่า การลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ วันที่ 7 ส.ค. ซึ่งเหลือเวลานับจากวันที่ 6 ก.ค. จะเหลือเวลาเพียง 30 วัน ซึ่งตนมองว่ากระบวนการที่นำไปสู่การตัดสินใจของประชาชนก่อนการออกเสียงประชามติมีอยู่อย่างจำกัด และมีความแปลก แตกต่างจากการลงประชามติรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 โดยเฉพาะกรณีกฎหมายให้อำนาจคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) สามารถสร้างเครือข่ายเพื่อประชาสัมพันธ์เนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญ หรือข้อดีของร่างรัฐธรรมนูญได้ โดยการกระทำดังกล่าวถูกยกเว้นการกระทำที่เข้าข่ายจูงใจให้ประชาชนออกเสียงประชามติอย่างใดอย่างหนึ่ง ขณะที่กลุ่มที่ต้องการรณรงค์เนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญในอีกมุมมองกลับถูกห้ามกระทำ ทำให้ตนมองว่าระยะเวลาที่ประชาชนจะพิจารณาข้อมูลก่อนการออกเสียงตัดสินต่อชะตาชีวิตของตนเองมีอยู่อย่างจำกัด ทำให้ตนกังวลในกรณีที่ร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติ อาจเกิดการเผชิญหน้าและความขัดแย้งรอบใหม่ เพราะในช่วงระยะเปลี่ยนผ่าน 5 ปีที่กำหนดไว้ ไม่สามารถตอบโจทย์การแก้ปัญหาหรือความต้องการของทุกฝ่ายได้ ดังนั้นขอให้ผู้ใช้แรงงานไตร่ตรองและพิจารณาข้อมูลให้รอบด้านก่อนการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

          ขณะที่นางสุนี ไชยรส ผู้อำนวยการส่งเสริมความเสมอภาคและความเป็นธรรม วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า การออกแบบร่างรัฐธรรมนูญที่ดีต้องกำหนดรายละเอียดทุกมิติที่ประชาชนต้องการ นอกจากการให้สิทธิ หรือมีสิทธิของประชาชนแล้ว ควรกำหนดองค์ประกอบอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น มาตรการคุ้มครองบุคคล ทุกเพศ ให้ได้รับความเท่าเทียมอย่างเสมอภาค เป็นต้น สำหรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามตินั้น มีหลายประเด็นที่ไม่ได้บัญญัติไว้ตามข้อเรียกร้องของเครือข่ายแรงงาน เช่น กระบวนการคุ้มครองสิทธิสตรี เด็ก ผู้สูงอายุในกระบวนการยุติธรรม, สิทธิที่มีอยู่ในจริงในการรวมตัวเป็นสหภาพ หรือสมาพันธ์แรงงาน โดยไม่ถูกกีดกันจากนายจ้าง นอกจากนั้นยังลดทอนสิทธิที่เคยมี เช่น สิทธิการเข้าชื่อเพื่อเสนอกฎหมายซึ่งกำหนดให้ทำได้เฉพาะกฎหมายที่อยู่ในหมวดสิทธิเสรีภาพเท่านั้น ทั้งนี้ในกระบวนการดังกล่าว ยังขาดหลักประกันเรื่องของการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพิจารณาร่างกฎหมายในสภาผู้แทนราษฎร  

          "ในประเด็นสิทธิแรงงาน ที่กำหนดไว้ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ ถูกเปลี่ยนแปลงไปจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ซึ่งมีหลายประเด็นที่เป็นของดี ถูกตัดทอน และให้รายละเอียดไปไว้ในกฎหมายอื่นจะบัญญัติ หรือไม่ได้นำมาบัญญัติไว้ ขณะที่มาตรการที่คนแรงงานเรียกร้อง คือการคุ้มครองสิทธินั้น พบว่าร่างรัฐธรรมนูญไม่มีองค์กรอิสระว่าด้วยสิ่งแวดล้อม องค์กรอิสระเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค ที่จะเป็นองค์กรที่ประชาชนใช้สิทธิเรียกร้องได้โดยตรง แม้จะมีองค์กรอิสระอื่นๆ เช่น ผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่ประชาชนมีสิทธิฟ้องร้องได้ แต่ไม่เป็นประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกับปัญหาประชาชนโดยตรง" นางสุนี กล่าว 

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในงานเสวนาดังกล่าวฝ่ายวิชาการคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (ครสท.) ได้เผยแพร่เอกสารข้อสังเกตของร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติในมาตราที่เกี่ยวกับประเด็นแรงงานกับอนาคตปฏิรูปแรงงาน ที่ไม่สะท้อนความต้องการที่แท้จริงของประเด็นแรงงาน ต่อประเด็นศักดิ์ศรีแรงงานที่ต้องได้รับความเคารพ ซึ่งมีสาระสำคัญ คือ 1.มาตรา 41 ว่าด้วยสิทธิของบุคคลในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารสาธารณะ การร้องทุกข์ต่อหน่วยงานรัฐ และการฟ้องร้องรัฐให้รับผิดชอบเนื่องจากการละเว้นการกระทำของข้าราชการ พนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยงานรัฐ เมื่อเปรียบเทียบกับรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 และรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ในบทบัญญัติเดียวกันพบว่า กรธ. ได้ตัดสิทธิบุคคลในการมีส่วนร่วมในกระบวนการพิจารณาของเจ้าหน้าที่รัฐในการปฏิบัติราชการทางปกครอง ซึ่งมีผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของตน ออก อาจทำให้เกิดผลกระทบกับประชาชนที่สามารถเข้าถึงกระบวนการพิจารณาอย่างเป็นธรรมได้ เพราะมีกรณีที่ ครสท. ฟ้องร้องศาลปกครองกรณีสำนักงานประกันสังคมไม่ทำตามเจตนารมณ์ที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ร้องต้องเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการพิจารณาของเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่รอบด้านและเป็นธรรม

          2.มาตรา 42 ว่าด้วยเสรีภาพของบุคคลในการรวมกันเป็นสมาคม สหกรณ์ สหภาพ องค์กรชุมชน หรือหมู่คณะอื่น ตามข้อสังเกต ของ ครสท. มองว่าอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อการรวมตัวกันของกลุ่มผู้ใช้แรงงานที่รวมตัวในนามสหพันธ์, สมาพันธ์, คณะกรรมการ เพราะร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ มาตรา 42 ตัดถ้อยคำดังกล่าวออกไปจากบทบัญญัติ ทั้งที่กฎหมายระดับรอง หรือระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ได้กำหนดคำนิยามของคำที่ไม่มีในร่างรัฐธรรมนูญไว้แล้ว ทั้งนี้ร่างรัฐธรรมนูญยังตัดสิทธิเสรีภาพในการรวมตัวของกลุ่มข้าราชการและพนักงานของรัฐออกไป อาจทำให้กลายเป็นปัญหาได้ในอนาคต

         3.มาตรา 44 ว่าด้วยเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ ซึ่งอาจถูกจำกัดได้โดยกฎหมายเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยสาธารณะ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนและคุ้มครองเสรีภาพของบุคคลอื่น  ซึ่งเนื้อหาของการจำกัดเสรีภาพดังกล่าวที่ระบุถึงเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐนั้น แสดงถึงขอบเขตของอำนาจที่กว้างขวางมากกว่ากำหนดไว้กฎหมายว่าด้วยการชุมนุมในที่สาธารณะ พ.ศ.2558 ซึ่งจะทำให้สิทธิการชุมนุมของประชาชนถูกจำกัดมากขึ้น และอาจส่งผลต่อความไม่ได้รับความเป็นธรรมของกลุ่มผู้ใช้แรงงานที่ถูกกลไกของรัฐและกลุ่มทุนละเมิดสิทธิแรงงาน

          4.มาตรา 47 ว่าด้วยสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขจากรัฐ โดยกำหนดให้ผู้ยากไร้ได้สิทธิรับบริการสาธารณสุขของรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายตามที่กฎหมายบัญญัติ ทำให้มีข้อกังวลว่าการให้บริการของรัฐด้านสุขภาพโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายสำหรับคนยากจนเท่านั้น และรัฐไม่ต้องมีพันธะผูกพันในการจัดบริการรักษาพยาบาลให้กับประชาชนทุกคน และอาจนำไปสู่การเรียกเก็บเงินจากผู้รับบริการในอนาคตได้ ทั้งนี้ระบบการรักษาพยาบาลใจปัจจุบันเป็นแบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าและครอบคลุมถึงประชาชนทุกกลุ่มของประเทศ

          5.มาตรา 48 วรรคแรก ที่ให้สิทธิของมารดาระหว่างก่อนและหลังคลอดบุตรต้องได้รับความคุ้มครองและช่วยเหลือ ถือเป็นบทบัญญัติที่มีความก้าวหน้าและเป็นมาตรการใหม่ให้เด็กเกิดใหม่มีคุณภาพ เนื่องจากมาตรการนี้สามารถลาคลอดและเลี้ยงดูบุตรได้อย่างเหมาะสม รวมถึงมีการจัดสวัสดิการที่เหมาะสม

          6.มาตรา 74 ว่าด้วยการให้รัฐส่งเสริมประชาชนให้มีความสามารถทำงานที่เหมาะสมกับศักยภาพและวัย รวมถึงคุ้มครองวัยแรงงานให้ได้รับสุขภาพอนามัยที่ดีในการทำงาน รวมถึงได้รับรายได้ สวัสดิการ ประกันสังคมที่เหมาะสมแก่การดำรงชีพ พร้อมกับกำหนดให้รัฐจัดระบบแรงงานสัมพันธ์ที่ทุกฝ่ายสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมได้ ในข้อสังเกตของ ครสท. พบว่าไม่ได้ระบุประเด็นของค่าจ้างที่เป็นธรรม ทำให้การกำหนดรายละเอียดของรายได้ที่เหมาะสมแก่การดำรงชีพ อาจทำเกิความไม่เป็นธรรมต่อการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของผู้ใช้แรงงานแต่ละพื้นที่

          7.มาตรา 133 ว่าด้วยการเสนอร่างกฎหมายต่อสภาผู้แทนราษฎร ที่ให้สิทธิผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 1หมื่นคนเจ้าชื่อเสนอกฎหมายได้เฉพาะกฎหมายในหมวดสิทธิและเสรีภาพ และหมวดหน้าที่ของรัฐทั้งนี้ตามที่กฎหมายว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมายกำหนด ตามความเห็นของครสท. กังวลต่อสิทธิของประชาชนในการเข้าไปเป็นกรรมาธิการพิจารณาร่างกฎหมายที่เสนอโดยประชาชน ที่ไม่ถูกบัญญัติไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ ทำให้ขาดหลักประกันว่าร่างกฎหมายของประชาชนจะได้รับการพิจารณาจากสภาฯ และมีผลใช้เป็นกฎหมายได้ 

          และ 8.มาตรา 178 ว่าด้วยการตรากฎหมายที่มีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย หรือเขตพื้นที่นอกอาณาเขตที่ประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตยหรือมีเขตอำนาจตามหนังสือสัญญาหรือตามกฎหมายระหว่าปงระเทศ  ทั้งนี้ในบทบัญญัติดังกล่าวไม่มีเนื้อหากำหนดให้คณะรัฐมนตรีให้ข้อมูลหรือจัดการรับฟังความเห็นของประชาชนต่อการจัดทำกรอบการเจรจา ซึ่งเสี่ยงต่อความไม่โปร่งใส และขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน.

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ