ข่าว

“เฉลิม” ส่งทนาย ค้าน ป.ป.ช. ตั้ง “วิชา” ร่วมทีม อนุฯ ไต่สวน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

“เฉลิม” ส่งทนาย ค้าน ป.ป.ช. ตั้ง “วิชา มหาคุณ” ร่วมทีม อนุฯ ไต่สวน ปม จ่ายเงินเยียวยา “เสื้อแดง”

          มื่อเวลา 13.00 น. นายโอภาส สร้อยสน ทนายความผู้รับมอบอำนาจจาก ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง อดีตรองนายกรัฐมนตรี ได้เดินทางมายื่นคำขอคัดค้านการแต่งตั้งนายวิชา มหาคุณ อดีตกรรมการ ป.ป.ช. เป็นอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงกรณี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รวมถึง ร.ต.อ.เฉลิม กับพวกรวม 36 ราย กรณีจ่ายเงินเยียวยาแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมือง พ.ศ.2548-2553 โดยไม่มีอำนาจ ไม่มีกฎหมายรองรับ เป็นการทำเพื่อช่วยเหลือพวกพ้อง
 
          นายโอภาส กล่าวว่า ตนได้รับมอบหมายจาก ร.ต.อ.เฉลิม ให้นำคำขอคัดค้านเรื่องการตั้งนายวิชา เป็นอนุกรรมการไต่สวนในกรณีดังกล่าว โดยระบุว่าตามกฎหมายของ ป.ป.ช.แล้ว เมื่อกรรมการ ป.ป.ช.พ้นวาระไปแล้ว ก็ไม่ควรแต่งตั้งให้กลับมาเป็นอนุกรรมการอีก อีกทั้งนายวิชา เคยเป็นประธานอนุกรรมการไต่สวนคดีนี้อยู่แล้ว เมื่อมีชื่อจะต้องกลับเข้ามาเป็นอนุกรรมการ ก็ถือว่าต้องห้ามตามกฎหมาย จึงได้รวบรวมเอกสารต่างๆพร้อมกับแนบมาในคำขอคัดค้าน และมายื่นต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.ในครั้งนี้
 
          นายโอภาส กล่าวว่า ร.ต.อ.เฉลิม ระบุชัดถึงเหตุผลของข้อกฎหมายที่ชัดเจนว่า ขัดต่อกฎหมายถึง 2 มาตราด้วยกัน คือ มาตรา 46 อนุมาตรา 1 และมาตรา 12 ของ กฎหมาย ป.ป.ช. ดังนั้น เชื่อว่า ประธานและกรรมการ ป.ป.ช.จะรับฟังในข้อนี้ อย่างไรก็ตาม ยังไม่ทราบว่าความคืบหน้าของการไต่สวนคดีดังกล่าวนั้นมีความคืบหน้าอย่างไร เนื่องจากในช่วง 5-6 เดือนที่ผ่านมา เป็นช่วงระยะเวลาที่มีการเปลี่ยนคณะกรรมการ ป.ป.ช.แต่หลังจากนั้นจะได้สอบถามไปที่อนุกรรมการ อีกครั้งว่ามีความคืบหน้าการไต่สวนข้อเท็จจริงเรื่องนี้อย่างไร ทั้งนี้ ตนเป็นตัวแทนจาก ร.ต.อ.เฉลิม เพียงรายเดียว ส่วนผู้ถูกร้องรายอื่นๆ ก็เชื่อว่าจะมีการมายื่นคำขอคัดค้านต่อไป
 
          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับเอกสารที่ทนายความของร.ต.อ.เฉลิม ยื่นให้กับป.ป.ช.นั้นได้ระบุถึงเหตุผลที่คัดค้านไม่ให้นายวิชา มาทำหน้าที่อนุกรรมการไต่สวนฯ ทั้งสิ้น 6 ข้อ
 
          1.ข้าพเจ้าไม่เข้าใจและทราบถึงเหตุผลของคณะกรรมการป.ป.ช.ที่แต่งตั้งนายวิชากลับมาเป็นอนุกรรมการไต่สวนฯ ทั้งๆที่คณะกรรมการป.ป.ช.ทราบดีว่า นายวิชา มีกรณีพิพาทถูกอดีตรัฐมนตรีคนหนึ่งที่ถูกกล่าวหาฟ้องเป็นจำเลยในคดีที่ศาลอาญาจ.นนทบุรี การแต่งตั้งนายวิชามาดำรงตำแหน่งอนุกรรมการไต่สวนในเรื่องนี้จึงเป็นการผิดจริยธรรมและคุณธรรม 
  
          2.นายวิชา ดำรงตำแหน่งป.ป.ช.ถึง9 ปีและได้พ้นวาระตั้งแต่วันที่ 22 ก.ย.2558 ดังนั้นจะย้อนกลับมาทำหน้าที่ในสำนักงานป.ป.ช.ไม่ว่าในสถานะอย่างไรก็ต้องห้ามตามกฎหมาย เพราะจุดประสงค์ของพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตพ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ก็เพื่อป้องกันมิให้คณะกรรมการป.ป.ช.ใช้อิทธิพลดำรงตำแหน่งมีอำนาจหน้าที่ในทางคดีจนไม่มีระยะเวลาสิ้นสุด
  
          3.พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฯ กำหนดให้ดำรงตำแหน่งกรรมการป.ป.ช.ได้เพียงวาระเดียว ย่อมแสดงให้เห็นว่ามีเจตนารมณ์ไม่ต้องการให้คณะกรรมการป.ป.ช.ซึ่งได้พ้นจากตำแหน่งไปแล้วกลับมาดำรงตำแหน่งเพื่อทำงานเกี่ยวกับการไต่สวน แม้คณะกรรมการป.ป.ช.จะได้แต่งตั้งนายวิชาเป็นอนุกรรมการ แต่อนุกรรมการก็เป็นผู้ที่คณะกรรมการป.ป.ช.แต่งตั้งพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฯ เพื่อดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงแทนคณะกรรมการป.ป.ช. ดังนั้น คำสั่งคณะกรรมการป.ป.ช.ที่627/2559ลงวันที่ 25มี.ค.2559ที่ได้แต่งตั้งนายวิชา จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฯที่กำหนดให้คณะกรรมการป.ป.ช.ดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียวเท่านั้น
  
          4.พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฯ และระเบียบคณะกรรมการป.ป.ช.ว่าด้วยการไต่สวนข้อเท็จจริงพ.ศ.2555 ได้แยกบุคคลที่ดำเนินการไต่สวนออกจากกัน โดยบุคคลที่จะเป็นอนุกรรมการไต่สวนและประธานอนุกรรมการไต่สวนจะต้องไม่รู้เห็นเหตุการณ์หรือเคยสอบสวนหรือพิจารณาเกี่ยวกับเรื่องที่กล่าวหาในฐานะอื่นมาก่อน แต่นายวิชาเคยทำหน้าที่ดังกล่าวมาก่อน ดังนั้น นายวิชา จึงเป็นผู้ที่รู้เห็นเหตุการณ์มาแล้ว นายวิชาจึงต้องห้ามมิให้คณะกรรมการป.ป.ช.แต่งตั้งให้เป็นอนุกรรมการตามที่บัญญัติไว้ในพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฯมาตรา46(1)
  
          5.เดิมนายวิชา ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นประธานคณะอนุกรรมการ โดยได้รับฟังข้อเท็จจริงในเรื่องคลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง เนื่องจากการอนุมัติจ่ายเงินเยียวยาแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมืองพ.ศ.2548-2553 คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบเพื่อเป็นการสร้างความปรองดองตามข้อเสนอของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) และยังเป็นการดำเนินการที่สอดคล้องตามที่คณะรัฐมนตรีได้แถลงนโยบายไว้ต่อรัฐสภา ซึ่งการอนุมัติงบกลางตามพ.ร.บ.งบประมาณ ในทางปฏิบัติที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีเคยมีมติอนุมัติให้ใช้งบกลาง รายการเงินสำรองเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นหลายกรณี เช่น การแก้ไขปัญหาภัยพิบัติ ราคาสินค้าเกษตร รวมทั้งช่วยเหลือเยียวยาทางการเงินเหตุการณ์ความไม่สงบมาแล้วหลายครั้ง เช่น เหตุการณ์เดือนพ.ค.2535 เดือนต.ค.2551 ซึ่งมีการอนุมัติการจ่ายเงินเยียวยาโดยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นอกจากนี้ การมีมติอนุมัติจ่ายเงินเยียวยาในครั้งนี้ ยังเป็นกรณีเดียวกันกับรัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งบริหารราชการแผ่นดินในขณะนี้อนุมัติการจ่ายเงินเยียวยาให้แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบทางการเมือง โดยเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้มีหนังสือสอบถามไปยังเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาถึงแนวทางการดำเนินการชดเชยเยียวยาก่อน ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกามีความเห็นว่าคณะรัฐมนตรีสามารถอนุมัติให้จ่ายเงินจากงบกลางได้เช่นเดียวกับมติของคณะรัฐมนตรีน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แต่การไต่สวนของนายวิชา กลับดำเนินการแสวงหาข้อเท็จจริและรวบรวมพยานอย่างมีอคติและขาดความเที่ยงธรรม ไม่นำพยานบุคคลที่เกี่ยวข้องจากสำนักงบประมาณมาไต่สวน กลับรับฟังข้อเท็จจริงจากที่ปรึกษากระทรวงการคลังซึ่งเป็นพยานบุคคลที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ว่าการจ่ายเงินเยียวยาไม่มีกฎหมายรองรับ
  
          6.นายวิชา ยังถือได้ว่ามีส่วนได้ส่วนเสียในกรณีนี้ เพราะมีกรณีพิพาทเป็นคู่ความกับคณะรัฐมนตรีบางคน เนื่องจากนายวิชาได้ถูกนาวาเอกอนุดิษฐ์ นาครทรรพ กล่าวหาในเรื่องนี้ฟ้องเป็นคดีอาญาต่อศาลจ.นนทบุรีเป็นคดีดำหมายเลขที่ อ.2304/2558 ในฐานความผิดเป็นเจ้าพนักงานร่วมกันปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ซึ่งจะทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมอย่างยิ่งแก่ข้าพเจ้า
-------
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ