ข่าว

“สวนดุสิตโพล” สำรวจ “ประชาชนคิดอย่างไร ตั้งศูนย์ปราบโกง”

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

“สวนดุสิตโพล”สำรวจ “ประชาชนคิดอย่างไร ตั้งศูนย์ปราบโกง” ส่วนใหญ่ต้องการให้ จนท.รัฐดูแล รองมา มองว่า ขัดต่อกม. ไม่น่าจัดตั้งได้ และเป็นเกมการเมือง กดดันรัฐบาล

          วันที่ 18 มิ.ย.59 “สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็น หัวข้อ “ประชาชนคิดอย่างไร? กับ การตั้งศูนย์ปราบ” ตามที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ประกาศห้ามกลุ่ม นปช. จัดตั้งศูนย์ปราบโกงประชามติทั่วประเทศ พร้อมกำชับจะดำเนินคดีขั้นเด็ดขาดหากยืนยันจะเดินหน้าต่อไป ในขณะที่กลุ่มเคลื่อนไหวให้เหตุผลว่า เป็นการตั้งขึ้น เพื่อเน้นรณรงค์ให้ประชาชนออกมาลงประชามติให้มากที่สุดโดยไม่เกี่ยวข้อง กับการเมือง เพื่อเป็นการสะท้อนความคิดเห็นของประชาชน ทั้งนี้ สวนดุสิตโพล สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทัวประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,233 คน สำรวจระหว่างวันที่ 13-17 มิถุนายน 2559 พบว่า 

    

          1. ประชาชนคิดอย่างไร กับ การตั้งศูนย์ปราบโกงประชามติที่จัดตั้งโดยแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ แสดงความเห็น ควรปล่อยให้เป็นหน้าที่ของหน่วยงานรัฐหรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องดูแล 76.64% อาจขัดต่อกฎหมายบ้านเมือง ไม่น่าจะจัดตั้งได้ 74.45% เป็นเกมการเมือง สร้างกระแส ต้องการกดดันรัฐบาล 71.29% มีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย อาจเกิดปัญหาหรือความวุ่นวายตามมาภายหลัง 63.50% หากมีการจัดตั้งขึ้นจริงขอให้คำนึงถึงประโยชน์ต่อส่วนรวมเป็นสำคัญ 52.80% 

   

          2. ประชาชนคิดว่าจะมีการโกงการลงประชามติที่จะมีขึ้นในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 หรือไม่ พบว่า ส่วนใหญ่ไม่แน่ใจ 52.11% เพราะ ต้องรอดูเป็สถานการณ์ ความคิดเห็นของแต่ละคนแตกต่างกัน การเมืองไทยไม่มีอะไรแน่นอน ฯลฯ รองลงมาเป็น มีการโกง 35.21% เพราะ ต้องรอดูสถานการณ์ ความคิดเห็นของแต่ละคนแตกต่างกัน การเมืองไทยไม่มีอะไรแน่นอน ฯลฯ และอันดับสาม ไม่มีการโกง 12.68% เพราะ เชื่อมั่นในการควบคุมดูแลของ คสช. มีอำนาจเด็ดขาดในการบริหารจัดการ มีการป้องกันอย่างเข้มงวด การตรวจสอบการทำงานอย่างเป็นระบบ ชัดเจน ฯลฯ 

   

          3. ประชาชนคิดว่าควรทำอย่างไร การลงประชามติจึงจะไม่มีการโกงเกิดขึ้น ส่วนใหญ่แสดงความเห็นว่า ประชาชนต้องออกมาใช้สิทธิ ป้องกันคนสวมสิทธิ 85.40% เจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา โปร่งใส ตรวจสอบได้ 80.05% มีระบบการตรวจสอบที่ดี รอบคอบ รัดกุม มีบทลงโทษเด็ดขาด 78.10% รณรงค์สร้างจิตสำนึก รวมทั้งกระตุ้นให้ทุกคนทุกฝ่ายมีส่วนร่วมในการลงประชามติ 71.53% และทุกคนต้องยึดหลักความถูกต้อง ซื่อสัตย์ สุจริต 70.56% 

   

          4. ประชาชนจะช่วยให้การลงประชามติโปร่งใสได้อย่างไร พบว่า ต้องออกไปใช้สิทธิและตัดสินใจด้วยตนเอง 82.24% ช่วยภาครัฐดูแลสอดส่อง เป็นหูเป็นตา 79.32% ปฏิบัติตามกฎหมาย กฎระเบียบที่กำหนดไว้ 68.61% 

   

          5. ประชาชนเชื่อมั่นว่ารัฐบาลและหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องจะสามารถดำเนินการเรื่องการลงประชามติได้อย่างโปร่งใสมากน้อยเพียงใด โดยประชาชนส่วนใหญ่ค่อนข้างเชื่อมั่น 36.67% เพราะ ดูจากการทำงานที่ผ่านมา น่าจะสามารถจัดการได้ดี ทุกฝ่ายน่าจะให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี เป็นเรื่องสำคัญของบ้านเมือง ฯลฯ ขณะที่ประชาชนบางส่วนไม่ค่อยเชื่อมั่น 35.70% เพราะ จากข่าวสารที่เผยแพร่ออกมา ทำให้ไม่ค่อยมั่นใจต่อการจัดการลงประชามติ ไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบการทำงานได้ ฯลฯ และประชาชนไม่เชื่อมั่น 17.36% เพราะ เป็นเกมการเมือง ที่ผ่านมาการเลือกตั้งในทุกระดับก็มักมีการทุจริตเกิดขึ้นเสมอ อาจมีการกำหนดผลไว้ล่วงหน้า ฯลฯ 

   

          6. สิ่งที่ประชาชนอยากฝากถึงรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กรณี การลงประชามติ ส่วนใหญ่ต้องการให้รัฐบาลควรเปิดโอกาสและรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่าย 78.59% รองลงมา การดำเนินการต่าง ๆ ต้องโปร่งใส ยุติธรรม ตรวจสอบได้ 75.67% และหากมีการทุจริต ควรมีบทลงโทษที่รุนแรง เด็ดขาด 64.96% 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ