ข่าว

มองทางออกยุติค่าโง่‘คลองด่าน’

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

มองทางออกยุติค่าโง่‘คลองด่าน’

           กลายเป็นข่าวใหญ่เมื่อสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) มีมติอายัดไม่ให้รัฐบาลจ่ายค่าโง่คลองด่าน งวด 2-3 ให้แก่กลุ่มกิจการร่วมค้า NVPSKG ในวงเงิน 4,700 ล้านบาท กับอีก 32 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยให้ยึดโยงคำพิพากษาศาลอาญาที่ระบุว่าเจ้าหน้าที่รัฐ-เอกชนร่วมทุจริตตั้งแต่ต้นทำให้สัญญาโครงการถือเป็นโมฆะ โดยหลังจาก ปปง.มีมติออกมาทำให้รัฐบาลสามารถชะลอการจ่ายเงินจำนวนดังกล่าวได้ทันที

           เรื่องนี้ “วิษณุ เครืองาม” รองนายกรัฐมนตรี แสดงความคิดเห็นไว้อย่างน่าสนใจว่า "ปปง.มีอำนาจอายัดทรัพย์ได้ 90 วัน โดยกลุ่มกิจการร่วมค้าต้องมาพิสูจน์ข้อเท็จจริงภายใน 30 วัน ถ้าไม่เกี่ยวข้อง ปปง.จะปล่อยไป แต่ถ้าเกี่ยวข้อง ปปง.ไม่เชื่อตามที่ชี้แจง เรื่องดังกล่าวจะเข้าสู่ ปปง.เพื่อให้ลงมติว่าจะฟ้องต่อศาลให้ยึดทรัพย์ตกเป็นของแผ่นดินเลยหรือไม่ และถ้ามีมติให้ฟ้องคดีจะไปสู่ชั้นศาล โดย ปปง.จะเป็นโจทก์ ส่วนกิจการร่วมค้าเป็นจำเลย ส่วนศาลตัดสินอย่างไรก็ตามนั้น แต่ระหว่างที่อายัดรัฐไม่จำเป็นต้องจ่ายเงินในงวดที่ 2 และไม่มีดอกเบี้ยเพิ่ม

           จากนี้ไปทุกอย่างคงต้องไปต่อสู้กันตามขั้นตอนของกฎหมาย โดยเฉพาะกลุ่มกิจการร่วมค้าจะต้องมาพิสูจน์ข้อเท็จให้ได้ แต่สำหรับมุมมองของผู้ที่ถือว่าคลุกคลีกับการฟ้องร้องคดีคลองด่านโดยตรงต่างก็มีความเห็นในคดีนี้ไว้อย่างน่าสนใจ

           “ณกฤช เศวตนันทน์” อดีตที่ปรึกษากฎหมายและทนายความในคดีอาญาของกรมควบคุมมลพิษ แสดงความเห็นว่า ในแง่กฎหมาย รัฐบาลยังมีโอกาสที่ไม่ต้องจ่ายเงินส่วนที่เหลือได้ใน 3 คดี คือ คดีแรก คือ คดีที่ศาลแขวงดุสิตกำลังดำเนินการไต่ส่วนพิจารณาคดีมาถึงขั้นศาลฎีกา ซึ่งต้องรอฟังคำพิพากษาว่า จะชี้ตามชั้นอุทธรณ์ที่ยกฟ้องหรือพลิกคำพิพากษาให้เป็นการฉ้อโกง ซึ่งจะทำให้หน่วยงานภาครัฐชนะคดี กิจการร่วมค้าจะมีความผิด ซึ่งอาจฟ้องคดีแพ่งตามไป โดยใช้คำพิพากษาของศาลฎีกาก็จะทำให้ไม่ต้องชำระเงินค่าโง่คลองด่าน จึงอยากให้รัฐบาลรอ

           คดีที่สอง เป็นคดีที่ “อภิชัย ชวเจริญพันธ์” ในฐานะเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ยื่นศาลปกครองในการขอรื้อฟื้นคดีขึ้นมาพิจารณาใหม่ เนื่องจากพบหลักฐานที่ส่งผลต่อคดี และยังไม่เคยนำชี้แจงในชั้นศาล ซึ่งการยื่นเกิดขึ้นเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ทำให้ทันต่ออายุความของคดี ส่วนคดีที่สาม คือคดีที่กรมควบคุมมลพิษ ฟ้องแพ่งในข้อละเมิด โดยอ้างคำตัดสินของศาลที่ชี้ว่า กิจการร่วมค้ามีส่วนสนับสนุนให้เจ้าพนักงานฉ้อโกง

           ณกฤช เล่าต่อว่า ก่อนหน้านี้ได้เริ่มทำงานงานกับกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เมื่อปี 2546 ในฐานะที่ปรึกษาทางกฎหมาย โดยทำหน้าที่ตรวจสัญญาต่างๆ ที่มีกับภาคเอกชน กิจการร่วมค้า รวมทั้งในกระบวนการกู้เงินจากธนาคารพัฒนาเอเชีย หรือ เอดีบี ซึ่ง คพ.มีความจำเป็นต้องใช้ทนายความเอกชน เนื่องจากสัญญาคู่ค้าเป็นภาษาอังกฤษ และต้องดำเนินการให้ทันตามกำหนดเวลาอย่างเคร่งครัด จึงไม่ดำเนินงานตามระบบราชการปกติได้

           “ขณะนั้น นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงตั้งคณะกรรมการ 3 ชุด เพื่อตรวจสอบโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่านทั้งในด้านงานบริหาร การทุจริตและความเหมาะสมของโครงการ ซึ่งพบการฉ้อโกงในที่ดิน การทำสัญญา จึงดำเนินการไปใน 2 ทาง คือ 1.กรมควบคุมมลพิษ โดยตอนนั้นนายอภิชัย ชวเจริญพันธ์ ดำรงตำแหน่งอธิบดี คพ. จึงแจ้งความดำเนินคดีฉ้อโกงเงินค่าที่ดินกับเอกชนบางรายที่เกี่ยวข้อง (บริษัท คลองด่านมารีน แอนด์ฟิชเชอร์รี่ จำกัด กับบริษัท ปาล์มบีช ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ในเดือนมี.ค.2546 จากนั้นจึงร้องทุกข์ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ซึ่งเพิ่งตั้งขึ้นมาใหม่ เพื่อกล่าวโทษกลุ่มกิจการร่วมค้า NVPSKG” อดีตที่ปรึกษากฎหมายและทนายความในคดีอาญาของกรมควบคุมมลพิษ

           อดีตที่ปรึกษากฎหมายและทนายความในคดีอาญาของกรมควบคุมมลพิษ เล่าย้อนต่อไปว่า อธิบดีดีเอสไอขณะนั้นคือ พล.ต.ท.นพดล สมบูรณ์ทรัพย์ ได้ระดมเจ้าพนักงานมีฝีมีอที่โอนย้ายจากหน่วยงานต่างๆ กระทั่งปลายปี 2546 ดีเอสไอเปิดผลการสอบสวนพบว่า ฉ้อโกงจริง แต่ผลการสอบสวนของตำรวจกลับไม่คืบหน้า ประเด็นนี้เป็นข้อบ่งชี้การทำงานของเจ้าพนักงานรัฐบางประการ ต่อมาประมาณ เดือนธันวาคมปี 2546 รัฐมนตรีประพัฒน์ กับอธิบดีอภิชัยยื่นขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีในการว่าจ้างทนายเอกชน เพื่อว่าความ เนื่องจากสำนักงานอัยการระบุชัดว่า จะไม่ทำคดีที่ยอมความได้ นั่นคือ คดีฉ้อโกง

           "ผมเป็นบริษัททนายความเอกชนรายแรก และรายเดียวที่ว่าความให้หน่วยงานรัฐ โดยในตอนนั้นเรามีความเชี่ยวชาญในการเข้าใจเอกสารสัญญาต่างๆ ในโครงการนี้ทำให้กรมควบคุมมลพิษ และศาลแขวงดุสิต ชี้มูลความผิดกับจำเลย 2-19 ในข้อหาร่วมกันฉ้อโกงให้กรมควบคุมมลพิษซื้อที่ดินและจัดทำสัญญาโครงการ ในวันที่ 13 มกราคม 2547 คำฟ้องเดียวกันนี้ มี 2 เรื่อง คือ 1.การซื้อที่ดิน และ 2.การทำสัญญา โดยทุนทรัพย์ความเสียหายจากประเด็นที่ดินนั้นมีมูลค่า 1,900 ล้านบาท และทุนทรัพย์ความเสียหายจากการทำสัญญา 23,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่รัฐจ่ายไปแล้ว ซึ่งกรมควบคุมมลพิษถูกฉ้อโกงจึงเรียกร้องเงินคืน”

           "ณกฤช" บอกอีกว่า การต่อสู้ในทางกฎหมายมีจุดพลิกผัน เมื่อรัฐมนตรีและอธิบดีพ้นจากตำแหน่งไปในปี 2550 โดยเฉพาะอธิบดีกรมควบคุมมลพิษที่ก้าวเข้ามาแทนนายอภิชัยดูเหมือนไม่สนับสนุนการทำงาน โดยไม่ต่อสัญญาจ้าง และขอเปลี่ยนตัวทนายความขณะว่าความในชั้นศาลทั้งที่ยังไม่ทันได้ประกาศสรรหาทนายความรายใหม่ แต่ทีมทนายยังคงทำหน้าที่ต่ออีก 2 ปี กระทั่งได้ทนายความรายใหม่

           อย่างไรก็ตามต่อมาศาลแขวงดุสิตมีคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้กลุ่มกิจการร่วมค้า NVPSKG มีความผิดในข้อหาฉ้อโกง ในการซื้อขายที่ดินและในการทำสัญญาเมื่อ 12 พฤศจิกายน 2552 และกว่า 4 ปี จึงมีคำพิพากษาในชั้นอุทธรณ์ แต่ก่อนหน้านั้นในระหว่างที่คำพิพากษาในชั้นต้นนั้น เหตุใดจึงไม่ฟ้องแพ่งตามเข้าไป เพราะอาจทำให้คดีที่ฟ้องแพ่งสามารถนำมาหักลบกลบหนี้ได้บ้าง หรือเรื่องอาจจบไปนานแล้ว โดยภาคเอกชนใช้ข้อพลิกแพลงทางกฎหมายขอใช้อนุญาโตตุลาการโดยยื่นฟ้องไปที่ศาลปกครอง เนื่องจากการฟ้องศาลแพ่งจะต้องนำข้อเท็จจริงจากคดีอาญา ซึ่งเป็นเรื่องของขอบเขตอำนาจศาล

           ขณะที่ "อภิชัย ชวเจริญพันธ์" บอกว่า เมื่อครั้งที่เข้ารับตำแหน่งอธิบดีกรมควบคุมมลพิษได้ทราบเรื่องโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่านในประเด็นการฉ้อโกงที่ดินและสัญญา ซึ่งมีเจ้าพนักงานรัฐมีส่วนรู้เห็นกับกิจการร่วมค้า NVPSKG โดยมีประเด็นจากการที่บริษัท นอร์ธเวสต์ วอเตอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เอกชนผู้เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ในการบำบัดน้ำเสีย ซึ่งต้องมีส่วนร่วมในสัญญาได้ถอนตัวไปทำให้สัญญาไม่ครบองค์ประกอบ

           “บริษัทใหญ่ในประเทศอังกฤษได้ยอมรับว่า ถอนหนังสือมอบอำนาจในประเทศไทยแล้ว พร้อมทำหนังสือสำเนายืนยัน เมื่อสัญญาหลักโมฆะ สัญญาประกอบก็คิดว่า จะไม่มีผล และในเมื่อเกิดกระบวนการทุจริต ฉ้อโกง โดยปกติอนุญาโตตุลาการไม่ควรใช้ได้ ซึ่งความเห็นดังกล่าวได้หารือกับสำนักงานอัยการสูงสุดแล้วก็ได้รับคำยืนยันเช่นกัน จึงแจ้งไปยังกิจการร่วมค้าว่าจะไม่เข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการ แต่กิจการร่วมค้ากลับยื่นต่อศาลขอตั้งอนุญาโตตุลาการ และศาลได้เห็นชอบ กรมควบคุมมลพิษจึงต้องร้องขออัยการเพื่อเข้าต่อสู้คดีในชั้นอนุญาโตตุลาการ สิ่งที่เกิดขึ้นส่วนตัวมีข้อสงสัยว่า ทั้งๆ ที่กรมควบคุมมลพิษ เป็นผู้บอกเลิกสัญญาแต่ความเห็นของอนุญาโตตุลาการกลับเข้าใจว่า หลังการพิจารณาแล้ว กิจการร่วมค้าขอยกเลิกสัญญา จึงร้องขอค่าเสียหาย ซึ่งเป็นเรื่องแปลกมาก”

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ