ข่าว

ศาลอุทธรณ์ยืนยกฟ้อง‘อภิสิทธิ์-สุเทพ’สั่งสลายนปช.ปี53

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง“อภิสิทธิ์-สุเทพ”คดีอัยการฟ้องฆ่าผู้อื่นกรณีสั่งสลายม็อบ นปช.ปี53ศาลชี้คดีไม่อยู่ในอำนาจ ต้อง ป.ป.ช.ไต่สวนหากผิดยื่นคดีศาลฎีกานักการเมือง


          วันที่ 17 ก.พ.59  ที่ห้องพิจารณา 906 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก เวลา 09.30 น. ศาลนัดฟังคำสั่งการวินิจฉัยประเด็นข้อกฎหมายของศาลอุทธรณ์ คดีหมายเลขดำ อ.4552/2556 และ อ.1375/2557 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 1 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อายุ 52 ปี หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อายุ 66 ปี อดีตรองนายกรัฐมนตรี และ อดีต ผอ.ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) เป็นจำเลยที่ 1-2 ในความผิดฐานร่วมกันก่อหรือใช้ให้ผู้อื่นกระทำหรือฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา และพยายามฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80, 83 ,84 สืบเนื่องจากการออกคำสั่ง ศอฉ.ให้เจ้าหน้าที่เข้าขอคืนพื้นที่การชุมนุมบริเวณ ถ.ราชดำเนิน และแยกราชประสงค์ จากกลุ่ม นปช. ที่ชุมนุมตั้งแต่เดือน เม.ย.- 19 พ.ค.2553 กระทั่งนายพัน คำกอง ชาว จ.ยโสธร อายุ 43 ปี คนขับแท็กซี่ และ ด.ช.คุณากร ศรีสุวรรณ หรือน้องอีซา อายุ 14 ปี เสียชีวิตบริเวณใกล้สถานีรถไฟแอร์พอร์ทลิงค์ สถานีราชปรารภ วันที่ 15 พ.ค.53 และนายสมร ไหมทอง คนขับรถตู้ ถูกกระสุนยิง มาจากฝั่งเจ้าหน้าที่ที่รักษาการณ์ในพื้นที่ ย่านราชปรารภ ที่มีการประกาศ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ จนได้รับบาดเจ็บสาหัส
 
          โดยศาลชั้นต้น มีคำสั่งเมื่อวันที่ 28 ส.ค. 57 ให้ยกฟ้อง เนื่องจากเห็นว่า แม้อัยการโจทก์ จะกล่าวหาว่าจำเลยทั้งสองได้ออกคำสั่ง ศอฉ.ให้ใช้กำลังเจ้าหน้าที่ อาวุธและกระสุนจริง รวมทั้งพลแม่นปืนในการผลักดันผู้ชุมนุม หรือกระชับพื้นที่ หรือสลายการชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ในปี 2553 ต่อเนื่องจนถึงวันที่ 19 พ.ค.53 โดยมีเจตนาประสงค์ต่อผลที่ทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตก็ตาม แต่การกระทำดังกล่าวนั้นก็เกี่ยวพันกับการที่จำเลยทั้งสองใช้อำนาจตำแหน่งหน้าที่ราชการในฐานะนายกรัฐมนตรี และรองนายกรัฐมนตรี รวมทั้ง ผอ.ศอฉ.ตาม พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ด้วย ไม่ใช่การกระทำทางอาญาที่กระทำโดยส่วนตัวหรือนอกเหนือหน้าที่ราชการ ดังนั้นจึงเป็นการกระทำที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งราชการด้วยซึ่งเป็นการกระทำกรรมเดียวที่ควรพิจารณาไปในวาระเดียว ซึ่งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ( ป.ป.ช.) มีอำนาจไต่สวน และหาก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด ก็ต้องยื่นฟ้องคดีศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตาม พ.ร.บ.ว่าการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ.2542 มาตรา 66 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยวิธีการพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 มาตรา 9(1) และประกาศ คสช. ฉบับที่ 11/2557 และ 24/2557 ที่ ป.ป.ช. มีอำนาจไต่สวนชี้มูลความผิดเกี่ยวกับการกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ โดยคดีไม่อยู่ในอำนาจของศาลนี้ และให้ยกคำร้องที่นายสมร ไหมทอง คนขับรถตู้ที่บาดเจ็บ และนางหนูชิต คำกอง ภรรยาของนายพัน ที่เสียชีวิต ขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมด้วย 
 
          ต่อมาอัยการโจทก์ และนายสมร กับนางหนูผู้เสียหาย มอบอำนาจให้นายโชคชัย อ่างแก้ว ทนายความ ยื่นอุทธรณ์
 
          ขณะที่ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนปรึกษากันแล้วเห็นว่า คดีนี้สืบเนื่องจากปลายปี 2551 นายอภิสิทธิ์ จำเลยที่ 1 ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นายสุเทพ จำเลยที่ 2 ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ในขณะนั้นมีประชาชนบางส่วนที่เรียกว่ากลุ่มนปช. ชุมนุมทั้งในกทม.และต่างจังหวัดเรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์ยุบสภาหรือให้ลาออก และได้ออกประกาศเรื่องพื้นที่ปรากฏเหตุกระทบกระเทือนความมั่นคง ตาม พ.ร.บ.รักษาความมั่นคง พ.ศ.2551 และได้มีคำสั่งจัดตั้ง ศูนย์อำนวยการรักษาความเรียบร้อยในราชอาญาจักร (ศอฉ.) มีมอบหมายให้นายสุเทพเป็นผู้อำนวยการศูนย์ ศอฉ. เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย ต่อมาการชุมนุมของกลุ่มนปช.มีความต่อเนื่องและรุนแรงขึ้น รัฐบาลจึงได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตกทม.และปริมณฑล 
 
          โดยเมื่อวันที่ 18 เม.ย.53 จำเลยทั้งสองได้มีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ของ ศอฉ.สามารถใช้อาวุธปืนและกระสุนปืนจริงในการปฏิบัติหน้าที่ได้ ต่อจากนั้นได้มีคำสั่งมาตรการปิดล้อมสกัดกั้นขอคืนพื้นที่บริเวณสวนลุมพินีและพื้นที่ต่อเนื่อง เห็นว่าการดำเนินการของจำเลยทั้งสอง ระหว่างวันที่ 7 เม.ย.-19 พ.ค.53 นั้น จำเลยทั้งสองดำเนินการในฐานะนายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรีเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย เป็นเจ้าหน้าที่มีอำนาจในการปฏิบัติตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 การออกคำสั่งต่างๆ มีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันชีวิตทรัพย์สินของประชาชนทั้งเพื่อป้องกันตนเองของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติตามคำสั่งตามกฎหมาย  ผลจากการปฏิบัติตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่เป็นเหตุให้ ต่อมาปรากฏว่าประชาชนผู้ร่วมชุมนุมถึงแก่ความตายและได้รับบาดเจ็บอันเป็นเหตุให้โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองในคดีนี้กรณีจึงฟังไมได้ว่าจำเลยทั้งสองกระทำไปในฐานะส่วนตัวตามที่โจทก์และโจทก์ร่วมอุทธรณ์ 
 
          แต่เป็นกรณีที่จำเลยทั้งสองกระทำไปในฐานะผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง การสอบสวนเพื่อเอาโทษแก่จำเลยทั้งสองจึงเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปราบการทุจริตแห่งชาติ มาตรา 19 ประกอบมาตรา 66 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปี 2550 มาตรา 250 (2) ประกอบมาตรา 275 
 
          การที่โจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสอง ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองโดยอาศัยสำนวนการสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ ( ดีเอสไอ) ซึ่งไม่มีอำนาจในการสอบสวนดังกล่าว การฟ้องของโจทก์จึงไม่ชอบ ศาลอาญาจึงไม่ใช่ศาลที่มีเขตอำนาจรับคดีทั้งสองสำนวนไว้พิจารณา
 
          อุทธรณ์โจทก์และโจทก์ร่วมฟังไม่ขึ้น ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องชอบด้วย ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วย
 
          ส่วนที่นายสมร และนางหนูชิต มีสิทธิร้องขอเป็นโจทก์ร่วมได้หรือไม่นั้น ศาลอุทธรณ์ เห็นว่า เมื่อศาลอาญาไม่มีอำนาจรับคดีไว้พิจารณาพิพากษาแล้ว ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมนั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของนายสมรและนางหนูชิตฟังไม่ขึ้น
 
          ภายหลัง นายโชคชัย อ่างแก้ว ทนายความนายสมรและนาวหนูชิต กล่าวว่า จะไปศึกษาคำพิพากษาของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ที่ยกฟ้องแล้วจะปรึกษาหารือข้อกฎหมาย กับพนักงานอัยการ ซึ่งส่วนตัวเห็นว่าควรยื่นฎีกาให้ถึงที่สุด ซึ่งก่อนหน้านี้การมีคำสั่งยกฟ้องของศาลอาญาที่เป็นศาลชั้นต้น อดีตอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ก็ได้ทำความเห็นแย้งไว้ในคำพิพากษาศาลชั้นต้น ซึ่งก็ได้ปรากฏอยู่ในสำนวนดังกล่าวด้วย
 
          ด้านนายภานุพงษ์ โชติสิน อธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ กล่าวว่า เพิ่งได้รับทราบข่าวคำสั่งของศาลอุทธรณ์ต้องดูในรายละเอียดก่อนว่าจะยื่นฎีกาหรือไม่
 
          ขณะที่นายอดุลย์ เฉตวงษ์ อัยการพิเศษสำนักงานคดีพิเศษ 1 กล่าวว่า เบื้องต้นจะต้องรอคัดคำพิพากษาฉบับเต็มก่อน เพื่อให้คณะทำงานอัยการร่วมกันพิจารณาก่อนจะมีความเห็นในทางคดี ซึ่งกรณีศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ทั้งสองศาลมีความเห็นให้ยกฟ้อง การที่จะยื่นฎีกาได้นั้นจะต้องส่งให้อัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกาต่อไป
 
          ด้านนายอภิสิทธิ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า คดีนี้เป็นไปตามแนวทางที่ได้ต่อสู้คดีมาโดยตลอดว่าคดีไม่อยู่ในอำนาจสอบสวนของดีเอสไอ แต่อย่างไรก็ตามก็เข้าใจว่าคดีนี้ไม่ถึงที่สิ้นสุดต้องรอว่าอัยการและโจทก์ร่วมจะยื่นฎีกาหรือไม่ คิดว่า คดีความที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ในช่วงสลายการชุมนุมไม่มีอีกแล้ว หรืออาจจะมีคดีอยู่บ้างเพียงเล็กน้อย
 
          โดยนายอภิสิทธิ์ ยังกล่าวถึงประเด็นการร่างรัฐธรรมนูญว่า ได้ทำความคิดเห็นเกี่ยวกับข้อเสนอแนะในการแก้ไขปรับปรุงรับร่างธรรมนูญดังกล่าวให้กับคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญหรือ กรธ. แล้ว ซึ่งความเห็นที่ส่งไปมีประเด็นสำคัญ 3ส่วน ว่าจะทำอย่างไรให้การปราบการทุจริตคอรัปชั่นเห็นผลเป็นจริง  ไม่ลดทอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน และไม่ให้เกิดการถอยหลังของระบบประชาธิปไตยซึ่งอาจเป็นปมความขัดแย้งต่อไปในอนาคต
 
          “วันนี้อยากให้ทุกฝ่ายมาช่วยกันคิดว่าจะทำอย่างไรให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้รับการยอมรับจากประชาชนและสามารถผ่านประชามติได้ ถ้าหากไม่ผ่านประชามติก็เชื่อว่า จะมีปัญหาทางการเมืองเกิดขึ้นในอนาคต แต่ถ้าผ่านประชามติโดยคนรู้สึกกลัวว่าจะได้สิ่งที่แย่กว่า ก็คิดว่าจะเกิดวิกฤติการเมืองอีกเช่นกัน ฉะนั้นต้องมาร่วมกันทำรัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้ดีและผ่านประชามติเพื่อให้ประเทศเดินหน้า” นายอภิสิทธิ์ กล่าว
 
          ทั้งนี้นายอภิสิทธิ์ ยังกล่าวถึง กรณีที่สภาขับเคลื่อนปฎิรูปประเทศ (สปท.)พิจารณาร่างพระราชบัญญัติยุทธศาสตร์ชาติ ด้วยว่า ผู้ที่เกี่ยวข้องควรทบทวนให้ดี เนื่องจากอาจทำให้เกิดปัญหาข้อโต้แย้งเกิดความขัดแย้งในอนาคตเพราะองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการยุทธศาสตร์นั้น อาจจะไม่สอดคล้องกับสถานการของโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วและการพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้โดยที่รัฐธรรมนูญยังไม่มีความชัดเจน ก็อาจจะไม่สอดคล้องกันด้วย  ทั้งนี้ตนยังเห็นว่าควรมีการกำหนดยุทธศาสตร์ที่สำคัญในยุทธศาสตร์ชาติ แต่ต้องเขียนให้มีความชัดเจน เช่น กำหนดว่าจะทำอย่างไรให้เด็กไทยทุกคนได้รับการศึกษาไม่น้อยกว่ากี่ปีหรือกำหนดเป้าหมายว่าจะใช้เวลากี่ปีเพื่อจะให้ได้ตามเป้าหมายนั้น
 
          “ถ้าลึกลงไปถึงขั้นว่า จะต้องปฏิบัติอย่างไรนั้น คิดว่าน่าจะให้เป็นเรื่องของรัฐบาลแต่ละยุคสมัย ถ้าทำไม่ได้รัฐบาลนั้นก็ต้องรับผิดชอบต่อประชาชน แต่การมีคณะกรรมการฯซึ่งประกอบไปด้วยบุคคลที่ไม่ได้ผ่านความเห็นชอบของประชาชน แล้วสามารถที่จะมากำหนดทิศทางของรัฐบาลตลอดระยะเวลา 20 ปีได้นั้น ผมเห็นว่าจะเกิดปัญหาเยอะ” นายอภิสิทธิ์ ระบุ
 
          ด้านนายสุเทพ กล่าวก่อนที่เข้าฟังคำสั่งศาลอุทธรณ์ว่า ไม่รู้สึกกังวลอะไร คดีนี้ ป.ป.ช.ได้มีมติว่าการกระทำของตนกับนายอภิสิทธิ์ในการสลายการชุมนุม เป็นการปฎิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย โดยตอนนี้ตนไม่ได้ยุ่งเกี่ยวการเมืองแล้ว เป็น เอ็นจีโอ ทำงานอยู่มูลนิธิซึ่งถ้าหากเรียกว่าเป็นการเมืองก็เป็นการเมืองภาคประชาชนที่ผ่านมาได้ติดตามการร่างรัฐธรรมนูญอยู่ตลอดไม่รู้สึกเป็นห่วงอะไร เพราะร่างรัฐธรรมนูญที่เขียนมานั้น ย่อมมีคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ถ้าเพื่อประโยชน์ของส่วนรวมก็ไม่มีปัญหา คนที่มีปัญหาก็จะมีเฉพาะคนที่คำนึงถึงประโยชน์ส่วนตัวเชื่อว่าเรื่องนี้ประชาชนจะตัดสินใจเองได้
logoline

ข่าวที่น่าสนใจ