ข่าว

คสช.รับอานิสงส์คว่ำร่างรัฐธรรมนูญ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คสช.รับอานิสงส์คว่ำร่างรัฐธรรมนูญ

              พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รับรู้แค่ไหนกับขบวนการล็อบบี้ไม่ให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่านการเห็นชอบของสภาปฏิรูปแห่งชาติ และที่สำคัญกว่านั้น พล.อ.ประยุทธ์ควรจะดีใจหรือเสียใจที่รัฐธรรมนูญถูกคว่ำด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น บางทีคำตอบอาจจะอยู่ในท่าทีหรือการแสดงออกที่ไม่จำเป็นต้องเป็นคำพูด

              ขณะที่สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ เริ่มลงคะแนนเพื่อรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญเมื่อเช้าวันอาทิตย์ที่ผ่านมา คนที่น่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุดจากผลการลงคะแนนเสียงไม่ว่าจะเป็นทางใดทางหนึ่ง ไม่มีท่าทีที่แสดงถึงความกังวลใจ

              พล.อ.ประยุทธ์  มีสีหน้ายิ้มแย้มและยังแสดงอารมณ์ขันในหลายช่วงระหว่างการกล่าวเปิดงานวันต่อต้านคอร์รัปชั่นประจำปี 2558 ที่โรงแรมเซ็นทารา เซ็นทรัลเวิลด์ แม้แต่การขัดจังหวะการปราศรัยโดยนักศึกษาคนหนึ่ง ก็ไม่ได้ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ หัวเสียแม้แต่น้อย...???

              ถึงจะไม่มีอาการกังวล แต่พล.อ.ประยุทธ์ก็ติดตามการโหวตของสภาปฏิิรูปแห่งชาติอย่างใกล้ชิดหลังออกจากงานต่อต้านการทุจริต แหล่งข่าวจาก คสช.บอกว่า มีอยู่ช่วงหนึ่งที่พล.อ.ประยุทธ์ ที่ติดตามการลงคะแนนจากโทรทัศน์ร่วมกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี

              ทั้งสองผู้นำมีท่าทีสบายใจอย่างเห็นได้ชัดหลังสภาปฏิรูปแห่งชาติมีมติคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ...???

              ถึงแม้ก่อนหน้านี้จะมีกระแสข่าวว่าพล.อ.ประยุทธ์ และพล.อ.ประวิตร มีจุดยืนที่ต่างกันในเรื่องร่างรัฐธรรมนูญ แต่การที่เสียงของสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติสายทหารและข้าราชการประจำเกือบทั้งหมดค้านร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้คงเป็นคำตอบที่ดีที่สุดว่าอะไรเป็นอะไร

              พล.อ.ประยุทธ์ในฐานะหัวหน้า คสช. เป็นคนแต่งตั้งสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติทุกคน และพล.อ.ประวิตรก็เป็นคนมีบทบาทในการเสนอชื่อคนเหล่านี้ และทั้งสองคนก็ถูกอ้างชื่อในการล็อบบี้ไม่ให้สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ

              ที่แน่ๆ การคว่ำรัฐธรรมนูญหมายความว่าทั้ง พล.อ.ประยุทธ์และพล.อ.ประวิตร ไม่ต้องเผชิญกับแรงกดดันและความไม่แน่นอนที่จะมากับการลงประชามติภายใน 45 วัน ถ้ารัฐธรรมนูญผ่านการเห็นชอบ

              รัฐบาลประยุทธ์มีปัญหาเฉพาะหน้าที่ท้าทายมากกว่า นั่นคือเรื่องปากท้องของประชาชนที่หวังว่าจะได้รับการแก้ไขภายหลังการปรับคณะรัฐมนตรี

              การสำรวจความคิดเห็นของประชาชนปัญหาเศรษฐกิจเป็นประเด็นสำคัญที่ฉุดคะแนนนิยมรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ และกลายเป็นประเด็นที่ถูกนักการเมืองโจมตีมากที่สุด เพราะฉะนั้นจึงเป็นความเสี่ยงอย่างมากที่จะทำประชามติรัฐธรรมนูญในบรรยากาศแบบนี้ โดยเฉพาะเมื่อพรรคการเมืองใหญ่ทุกพรรคออกมาแสดงจุดยืนคัดค้าน

              เราเคยได้รับคำยืนยันจากแหล่งข่าวใน คสช.ว่าสิ่งที่คสช. เป็นห่วงที่สุดคือการลงมติรัฐธรรมนูญอาจจะถูกตีความว่าเป็นการลงประชามติการทำงานของ คสช.

              คนใกล้ชิด พล.อ.ประยุทธ์บอกว่า พล.อ.ประยุทธ์ เข้าใจดีว่าถ้าวันใดมีสัญญาณการไม่ยอมรับของประชาชน คสช.ก็อยู่ไม่ได้

              อย่างน้อยการคว่ำรัฐธรรมนูญในขั้นตอนของสภาปฏิรูปแห่งชาติก็ช่วยให้ คสช. ไม่ต้องเสี่ยงกับผลของการลงประชามติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อการสำรวจความเห็นโดยกองทัพภาคต่างๆ พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจเนื้อหาของรัฐธรรมนูญและมีแนวโน้มสูงที่จะไม่รับ..!!!

2นายพลยืนยันไม่มีล็อบบี้คว่ำร่าง รธน.

              ถ้ากระแสข่าวที่ปรากฏในสื่อมวลชนเป็นจริง มีนายทหารและอดีตนายทหารสองคนที่มีบทบาทสำคัญในการทำให้คะแนนเสียงคว่ำร่างรัฐธรรมนูญท่วมท้นมากกว่าที่หลายคนคาดการณ์ไว้

              คำถามที่ตามมาก็คือทั้งสองคนทำตามใบสั่งของใคร แต่สำหรับสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติที่ถูกล็อบบี้ มันชัดเจนว่าใครอยู่เบื้องหลังความเคลื่อนไหวนี้...???

              พล.อ.นพดล อินทรปัญญา ดูจะเป็นชื่อที่ถูกเอ่ยถึงมากที่สุดท่ามกลางกระแสข่าวว่ามีบุคคลสำคัญใน คสช. กำลังพยายามล้มร่างรัฐธรรมนูญเพราะไม่ต้องการเห็นความขัดแย้ง

              พล.อ.นพดลมีความสนิทสนม และเป็นเพื่อนเตรียมทหารรุ่นเดียวกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งตกเป็นเป้าของข่าวลือว่าไม่เห็นด้วยการร่างรัฐธรรมนูญ

              พล.อ.นพดลยังมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับกลุ่มนักธุรกิจ ทำให้ถูกจับตามองเป็นพิเศษว่ามีบทบาทสำคัญในการล็อบบี้ให้สมาชิก สปช. คว่ำรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แต่ พล.อ.นพดล ได้ปฏิเสธกระแสข่าวนี้ พร้อมกับยืนยันว่า การโหวตรับหรือไม่ร่างรัฐธรรมนูญก็เป็นหน้าที่ของสมาชิก สปช. ไม่สามารถไปชี้นำอะไรได้

              อีกชื่อหนึ่งที่ถูกอ้างมากพอๆ กันคือ พล.ท.ฐิติวัจน์ กำลังเอก หนึ่งในสมาชิก สปช. บุตรชายของพล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก อดีตผู้บัญชาการทหารบกและนักการเมือง

              ที่ผ่านมา แม้เขาอาจไม่ค่อยมีบทบาทสำคัญในการคุมกำลังหลักในกองทัพ และตำแหน่งในสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหมก็ไม่ได้มีความโดดเด่น แต่กระแสข่าวระบุว่ามีบทบาทในการประสานงานกับสมาชิก สปช. ในเรื่องร่างรัฐธรรมนูญ

              พล.ท.ฐิติวัจน์ ยืนยันว่า ไม่มีการล็อบบี้ สปช. ให้ลงคะแนนไปทางใดทางหนึ่ง แต่ยอมรับมีการพูดคุยกัน ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติของสมาชิกในการแลกเปลี่ยนความเห็น

              “ไม่มีใบสั่งจากใครไม่ให้รับร่างรัฐธรรมนูญ การตัดสินใจขึ้นอยู่กับสปช.แต่ละคน ที่ไม่สามารถไปชี้นำได้” พล.ท.ฐิติวัจน์ยืนยัน

               ในฐานะที่ทำงานด้านความมั่นคง ก็จำเป็นจะต้องดูสถานการณ์โดยรอบ ดังนั้นขณะนี้จะต้องตั้งสติสักนิด ประเด็นไหนไม่พร้อมก็ต้องแก้ไข หากอะไรทำให้เกิดปัญหาเราก็จะต้องป้องกัน..!!!

              ขณะที่ พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช อดีตโฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า รู้สึกเสียดายที่ร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านความเห็นชอบ แต่ก็ยืนยันว่า การลงมติของ สปช. ครั้งนี้ไม่มีใบสั่งจากฝ่ายใด
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ