ข่าว

คสช.ตั้งหลักใหม่หลังสปช.คว่ำร่างรัฐธรรมนูญ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คสช.ตั้งหลักใหม่หลังสปช.คว่ำร่างรัฐธรรมนูญ : โดย สมฤทัย ทรัพย์สมบูรณ์ (@jin_nation) สำนักข่าวเนชั่น

            แม้ยังไม่รู้ชัดๆ ว่าใครได้ใครเสียจากการที่สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) “คว่ำ” ร่างรัฐธรรมนูญ แต่ผลที่เกิดขึ้นทันที คือ ประเทศไทยจะอยู่ภายใต้อำนาจเบ็ดเสร็จของ คสช.นานออกไป เพราะการเลือกตั้งจะเลื่อนออกไปอีกอย่างน้อย 7 เดือน


            มติ สปช.เป็นไปตามข่าวที่ออกมาในช่วง 2-3 วันสุดท้ายก่อนการโหวต นั่นคือ มีการเดินสาย ต่อสายล็อบบี้ สปช.อย่างหนักเพื่อให้โหวตคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ หลังจากก่อนหน้านั้นเคยมีข่าวว่า สปช.จะโหวตรับร่างรัฐธรรมนูญนี้อย่างแน่นอน

            หากถามว่า ก่อนหน้านั้นทำไมแทบทุกฝ่ายจึงเชื่อกันว่า สปช.จะให้ความเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญ? ก็ต้องบอกว่า เพราะชัดเจนว่า “ร่างรัฐธรรมนูญ” ฉบับนี้เป็นฉบับ “ตามใจแป๊ะ” อย่างชัดเจน

            ประเด็นสำคัญหลักๆ เป็นไปตามความต้องการของ คสช. ซึ่งส่วนหนึ่งสะท้อนออกมาผ่านการเสนอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญร่างแรกของ ครม. ที่สำคัญที่สุด คือ ที่มานายกฯ ที่เปิดให้ “คนนอก” เป็นนายกฯ ได้ และ “คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและปรองดองแห่งชาติ หรือ คปป." ที่ปรับเปลี่ยนตามข้อเสนอของ ครม. และแถม “อำนาจพิเศษ” ให้อีก 5 ปี จนทำให้กลายเป็น “เป้าใหญ่” ของร่างรัฐธรรมนูญนี้ที่ถูกรุมถล่มในโค้งสุดท้าย รวมไปถึงเรื่องที่มา ส.ว.สรรหาชุดแรกที่เขียนให้ ครม.ชุดปัจจุบันเป็นคนตั้งคณะกรรมการสรรหาเพื่อสรรหา ส.ว.ชุดแรก 123 คน จากทั้งหมด 200 คน (อีก 77 คน มาจากการเลือกตั้งจังหวัดละ 1 คน)

            รวมถึงท่าทีของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกฯ ซึ่งเป็นหัวหน้า คสช. ก็แสดงออกอย่างชัดเจนว่าสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญนี้ โดยเฉพาะในเรื่อง “คปป.” ที่นายกฯ ก็พูดชัดเจนว่าจำเป็นต้องมีกลไกนี้

            แต่สถานการณ์กลับตาลปัตร ในช่วง 2-3 วันสุดท้าย มีกระแสข่าวออกมาว่ามี “ใบสั่ง” จาก “บิ๊ก” ใน คสช.ให้คว่ำร่างรัฐธรรมนูญนี้ ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ ก็ไม่ได้ให้ความชัดเจน "มีข่าวเข้ามาสองสาย สายหนึ่งบอกนายกฯ รับ อีกสายบอกว่านายกฯ ไม่รับ สรุปผมเหยียบเรือสองแคมอย่างนั้นหรือ ผมไม่เคยไปขอหรือสั่งอะไรกับใคร ขอแค่ 5 ปี ให้เดินยุทธศาสตร์ชาติได้ แค่นี้ก็ยังให้กันไม่ได้"

            คำพูดท่อนสุดท้ายของนายกฯ “ขอแค่ 5 ปี ให้เดินยุทธศาสตร์ชาติได้ แค่นี้ก็ยังให้กันไม่ได้” วันนั้นมีการตั้งคำถามว่านายกฯ หมายความว่าอย่างไร?

            ในขณะที่หลายฝ่ายจับจ้อง “สัญญาณชัดๆ” จากหัวหน้า คสช. ปรากฏว่า “พล.อ.ประยุทธ์” พูดผ่านรายการคืนความสุขให้คนในชาติเมื่อคืนวันศุกร์ที่ผ่านมา ทำนองว่าไม่สามารถจะบอกให้ สปช.โหวตไปทางไหน ขอให้ทุกคนตัดสินใจเอง แบบนี้ภาษาการเมืองเรียกว่า “ปล่อยฟรีโหวต” แต่ปัญหาคือเป็นการปล่อยฟรีโหวตในภาวะที่กระแสข่าว “ใบสั่งให้คว่ำ” แรงขึ้นๆ มีการประสาน ต่อสาย กันอย่างเป็นระบบและเปิดเผย

            การที่ สปช.คว่ำร่างรัฐธรรมนูญ จึงมี 2 คำถามเกิดขึ้น นั่นคือ พล.อ.ประยุทธ์ “คุม” ไม่ได้ (บนสมมุติฐานที่ว่า พล.อ.ประยุทธ์ สนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญนี้) หรือ จริงๆ แล้ว พล.อ.ประยุทธ์ “ไฟเขียว” ให้กระบวนการคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ?

            ส่วนทำไม สปช.จึงคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ? มี 2 เหตุผลหลัก คือ ไม่พอใจเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญ และต้องการขยายเวลาในการให้ คสช. แต่ดูเหมือนเหตุผลหลังจะมีน้ำหนักมากกว่า

            ถึงแม้ฝ่ายการเมืองโดยเฉพาะ 2 พรรคใหญ่คือ เพื่อไทยและประชาธิปัตย์ จะส่งเสียงชัดเจนว่าต้องการให้ สปช.คว่ำร่างรัฐธรรมนูญนี้ แต่เอาเข้าจริงฝ่ายการเมืองก็ไม่สามารถมีอิทธิพลต่อ “เสียงส่วนใหญ่” ของ สปช.ได้

            สิ่งที่จะตอบได้ชัดเจน ถึง “เบื้องหลัง” การตัดสินใจ “คว่ำ” ร่างรัฐธรรมนูญของ สปช. ด้วยมติ 135 ต่อ 105 เสียง งดออกเสียง 7 เสียง คือ นายทหารและตำรวจแทบทั้งหมดโหวต “ไม่เห็นด้วย” คือ 31 คน จาก 36 คน (ทหาร 30 คน ตำรวจ 6 คน) ซึ่งต้องบอกว่า เสียงทหาร-ตำรวจ 31 คน ที่โหวต “ไม่เห็นด้วย” ส่งผลโดยตรงต่อร่างรัฐธรรมนูญ หากทั้งหมดโหวตเป็นอีกอย่าง ก็จะทำให้ร่างรัฐธรรมนูญไปสู่ขั้นตอนการทำประชามติทันที

            มีทหารเพียง 3 คน โหวตเห็นด้วย คือ พล.ร.อ.พะจุณณ์ ตามประทีป นายทหารคนสนิทของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์, พล.อ.นคร สุขประเสริฐ และ พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ซึ่ง 2 คนหลังเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ขณะที่ 2 คน งดออกเสียง คือ พล.อ.นาวิน ดำริกาญจน์ กรรมาธิการ และ พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ ผอ.สำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า

            คำถามต่อไปคือ เส้นทางประเทศไทยนับจากวันที่ สปช.คว่ำร่างรัฐธรรมนูญจะเป็นอย่างไร ที่บอกว่าการเลือกตั้งจะเลื่อนออกไปอีกอย่างน้อย 7 เดือน มีที่มาอย่างไร?

            ผล หลัง สปช.คว่ำร่างรัฐธรรมนูญของกรรมาธิการชุด “บวรศักดิ์ อุวรรณโณ” คือ จะไม่มีการเลือกตั้งในเดือนกันยายน 2559 อย่างที่คาดไว้ก่อนหน้านี้แน่นอน เพราะจะต้องกลับไปร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งรัฐธรรมนูญชั่วคราวกำหนดให้ คสช.เป็นผู้ตั้ง “คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ” จำนวน 21 คน ขึ้นมาทำหน้าที่ โดย คสช.จะต้องตั้งคณะกรรมการนี้ภายใน 30 วัน และคณะกรรมการจะต้องร่างรัฐธรรมนูญให้เสร็จภายใน 180 วัน หรือประมาณ 6 เดือน

            ส่วนใครจะเป็น “21 อรหันต์” มาร่างรัฐธรรมนูญบ้าง? ต้องบอกว่า “ใครก็ได้” เพราะรัฐธรรมนูญชั่วคราวไม่ได้กำหนดเงื่อนไขใดๆ ไว้ รวมทั้งผู้ที่เป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญชุดเดิมก็สามารถมาเป็นได้ อย่างไรก็ตามกรรมาธิการชุดเดิมหลายคนแสดงท่าทีชัดเจนว่าจะไม่มาเป็น รวมทั้ง “บวรศักดิ์” ด้วย

            ภายใน 30 วันหลังจากนี้เช่นกัน นายกฯ จะต้องตั้ง “สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ” 200 คน มาทำหน้าที่แทน สปช.ด้วย รัฐธรรมนูญชั่วคราวก็ไม่ได้ห้ามว่า สปช.จะมาเป็นสมาชิกสภาขับเคลื่อนไม่ได้ ตอนนี้จึงมีการจับตาว่าจะมี สปช.คนไหนได้กลับมาทำงานอีกหรือไม่

            หลังจากคณะกรรมการทั้ง 21 คน ร่างรัฐธรรมนูญเสร็จภายใน 180 วัน ก็จะส่งไปทำประชามติ ไม่ต้องส่งให้สภาขับเคลื่อนฯ พิจารณา ในขั้นตอนนี้จะใช้เวลาประมาณ 4 เดือน หากประชามติผ่าน ก็จะไปสู่ขั้นตอนการออกกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ 3 ฉบับแรก คือ กฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว., กฎหมายพรรคการเมือง และกฎหมายคณะกรรมการการเลือกตั้ง อิงตามร่างรัฐธรรมนูญเดิม สนช.ซึ่งต้องทำหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีวุฒิสภาชุดใหม่ต้องพิจารณาร่างกฎหมายทั้ง 3 ฉบับให้เสร็จภายใน 60 วัน หลังจากได้รับร่างฯ จากนั้นจะต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เสร็จแล้วจัดการเลือกตั้ง ส.ส. ภายใน 90 วัน

            รวมเวลาทั้งหมดแล้ว หากร่างรัฐธรรมนูญใหม่ผ่านประชามติ จะมีการเลือกตั้งได้ประมาณเดือนมีนาคม 2560

            แต่หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ ก็ต้องวนกลับไปเริ่มต้นใหม่ คือ การตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ และหากประชามติแล้วไม่ผ่านอีก ก็ต้องวนกลับไปอีก ยกเว้น คสช.จะไปแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราวกำหนดเงื่อนไขใหม่ อย่างเช่นที่ “วิษณุ เครืองาม” รองนายกฯ พูดล่าสุดว่า อาจจะไปหยิบรัฐธรรมนูญฉบับใดฉบับหนึ่งมาแก้ไขปรับปรุงและนำมาบังคับใช้

            “ถ้าตกลงกันเรียบร้อยไม่มีปัญหาอะไรกัน มันก็จบ ไปเลือกตั้ง แต่เมื่อเถียงกันมากๆ ก็ต้องล้มทั้งหมด เริ่มใหม่...ผมจะไม่ยอมให้เสียเปล่า” คำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ เมื่อวันที่ 16 มีนาคม ที่ผ่านมา

            ร่างรัฐธรรมนูญใหม่จะมีหน้าตาเป็นอย่างไร จะทำให้ทุกฝ่ายยอมรับได้ไหม จะมีการเลือกตั้งเมื่อไหร่ ไม่มีคำตอบที่ชัดเจน

            อย่างเดียวที่ชัดเจนหลัง สปช.คว่ำร่างรัฐธรรมนูญ คือ คสช.ได้ตั้งหลัก เริ่มต้นใหม่อีกครั้ง!!
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ