ข่าว

‘พินัยกรรมชีวิต-สิทธิการตายโดยชอบ ก.ม.’

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

‘พินัยกรรมชีวิต-สิทธิการตายโดยชอบ ก.ม.’ : โอภาส บุญล้อมรายงาน

               เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ศาลปกครองสูงสุด ได้มีคำพิพากษาคดีสำคัญที่ประชาชนคนไทยควรรู้เป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นเรื่องสิทธิในชีวิตและร่างกายของทุกคน   

               คดีดังกล่าว เป็นคดีที่กลุ่มแพทย์กลุ่มหนึ่ง นำโดย นพ. ฐาปนวงศ์ ตั้งอุไรวรรณ เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในขณะนั้น และ นายวิทยา บุรณศิริ  รมว.สาธารณสุข ในขณะนั้น เป็นจำเลย ต่อศาลปกครองสูงสุด ขอให้ศาลพิพากษาให้ยกเลิกกฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา 12 วรรคสอง ของ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550  ที่ว่าด้วยการให้สิทธิการตายกับผู้ป่วย หรือการขอละเว้นการรักษาในช่วงวาระสุดท้ายของชีวิต

               ทั้งนี้ สาเหตุที่แพทย์กลุ่มดังกล่าวยื่นฟ้อง เพราะเห็นว่า กฎกระทรวงที่ให้สิทธิกับผู้ป่วยในการปฏิเสธการรักษาของแพทย์ในช่วงวาระสุดท้ายของชีวิตนั้น เป็นการขัดต่อจรรยาบรรณของแพทย์ ที่ห้ามแพทย์หยุดการรักษาผู้ป่วย

               สำหรับ มาตรา 12 ของ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 บัญญัติว่า บุคคลมีสิทธิทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตน หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยได้

               วรรคสอง บัญญัติว่า การดำเนินการตามหนังสือเพื่อแสดงเจตนาตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

               วรรคสาม บัญญัติว่า เมื่อผู้ประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุขได้ปฏิบัติตามเจตนาของบุคคลตามวรรคหนึ่งแล้ว มิให้ถือว่าการกระทำนั้นเป็นความผิดและให้พ้นจากความรับผิดทั้งปวง

               แต่ศาลปกครองสูงสุดพิพากษา "ยกฟ้อง" โดยประเด็นสำคัญในคำพิพากษา คือ ศาลเห็นว่า 1.กระบวนการร่างกฎหมายเป็นไปตามขั้นตอนครบถ้วน 2.มีการรับฟังความคิดเห็นจากสภาวิชาชีพและองค์กรต่างๆ 3.สอดคล้องตามมาตรา 38 ของรัฐธรรมนูญปี 50 ที่ว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพและประกาศสิทธิผู้ป่วยของแพทยสภา รวมทั้งข้อตกลงระหว่างประเทศของแพทยสมาคมโลก 4.การทำหนังสือแสดงเจตนาปฏิเสธการรักษาพยาบาลนั้น เป็นการแสดงสิทธิในชีวิตและร่างกาย โดยเป็นการยื่นความประสงค์ไว้ล่วงหน้าเพื่อประกาศให้สาธารณชนทราบความประสงค์ของตนว่าจะใช้สิทธิเช่นใด จึงไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดีและความสงบเรียบร้อยของประชาชน

               นั่นเท่ากับว่า คำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ได้รับรองว่า กฎกระทรวงว่าด้วยการให้สิทธิการตายกับผู้ป่วยที่จะปฏิเสธการรักษาจากแพทย์ในช่วงระยะสุดท้าย ชอบแล้ว 

               สิทธินี้มีมาตั้งแต่ ปี 2550 แล้ว แต่ผ่านมา 8 ปี ปรากฏว่าคนไทยใช้สิทธินี้ไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากไม่รู้ถึงสิทธิดังกล่าว

               แต่ต้องเข้าใจให้ถูกต้องด้วยว่า 1.การที่บุคคลแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับการรักษาซึ่งมีผลทำให้แพทย์ต้องเคารพการตัดสินใจดังกล่าวนั้น ไม่ใช่สิทธิเลือกที่จะไม่มีชีวิตอยู่ แต่เป็นสิทธิในการเลือกที่จะปฏิเสธการรักษาพยาบาลเพื่อที่จะได้ตายตามธรรมชาติ 2.แพทย์ไม่มีหน้าที่ทำให้ผู้ทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับการรักษา ถึงแก่ความตาย เพราะหากทำจะมีความผิดตามกฎหมายฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา จะเห็นได้ว่ากรณีสิทธิการตายของผู้ป่วยในวาระสุดท้ายของชีวิต ไม่ใช่การการุณยฆาต หรือปรานีฆาต ที่ภาษาอังกฤษ เรียกว่า “euthanasia” หรือ “mercy killing” ที่สามารถทำให้บุคคลตายโดยเจตนาด้วยวิธีการที่ทำให้ตายอย่างสะดวก เช่น การใช้ยาหรืออุปกรณ์ทางการแพทย์บางอย่างเพื่อยุติชีวิตผู้ป่วยเพื่อระงับความเจ็บปวดอย่างสาหัสของบุคคลนั้นหรือในกรณีที่บุคคลนั้นป่วยเป็นโรคอันไร้หนทางเยียวยา

               3.ผู้ทำหนังสือแสดงเจตนา ยังคงได้รับการดูแลจากแพทย์แบบประคับประคองจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต จึงไม่ใช่การปล่อยให้ผู้ป่วยเสียชีวิตโดยงดเว้นไม่ให้การรักษา 4.หากผู้ทำหนังสือแสดงเจตนาระบุในหนังสือแสดงเจตนาให้งดเว้นการรักษาหรือใช้ยาและเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์บางอย่างเพื่อยุติชีวิตที่ไม่ใช่วาระสุดท้าย ซึ่งเป็นการเร่งการตาย แพทย์ก็ไม่สามารถปฏิบัติตามได้ หากปฏิบัติตามหนังสือแสดงเจตนาดังกล่าว แพทย์จะใช้มาตรา 12 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 มายกเว้นความผิดของตนเองไม่ได้

               และในเรื่องทำหนังสือแสดงเจตนารมณ์ปฏิเสธการรักษา มีตัวอย่างให้เห็นซึ่งเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงด้วย คือ นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ได้ทำหนังสือแสดงเจตนารมณ์ปฏิเสธการรักษาพยาบาลในวาระสุดท้ายของชีวิต ลงวันที่ 1 พฤศจิกายน 2551   

               มีใจความว่า “ในขณะที่ี่เขียนหนังสือแสดงเจตนารมณ์นี้ ผมมีสติสัมปชัญญะเป็นปกติดีทุกประการ โดยมีญาติของผมเป็นพยาน ผมขอใช้สิทธิตามมาตรา 12 ของ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 โดยขอยืนยันสิทธิของผมดังนี้ ในกรณีที่ผมป่วยด้วยสาเหตุใดก็ตาม จนตกอยู่ในสภาวะที่ไม่อาจรักษาให้หายกลับมามีชีวิตได้อีก และผมไม่มีสติสัมปชัญญะ ที่จะพิจารณาเกี่ยวกับแผนการรักษาของผมได้แล้ว หากหัวใจผมหยุดเต้น ผมขอไม่รับการกระตุ้นหัวใจด้วยวิธีการต่างๆ หากการหายใจผมล้มเหลวลง ผมขอไม่รับการเจาะคอหรือใช้เครื่องช่วยหายใจ ผมขอรับการรักษาเพียงเพื่อบรรเทาอาการเจ็บป่วยทุกข์ทรมาน ไม่ขอรับการรักษาหรือรับการกระทำใดที่จะยืดการตายของผมออกไปโดยไม่จำเป็น ทั้งนี้เพื่อให้ผมเสียชีวิตไปโดยธรรมชาติ”
 
               ก่อนหน้านี้ เคยมีการจัดสัมมนากันในเรื่อง “การให้สิทธิการตายกับผู้ป่วย" ตามมาตรา 12 วรรคสอง ของ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 ซึ่งมีบุคลากรทางการแพทย์ไปร่วมแสดงความคิดเห็นจำนวนมาก ซึ่งมีทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย

               นพ.เมธี วงศ์ศิริสุวรรณ กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยเพราะกฎหมายฉบับนี้จะเป็นการออกแบบการตายให้เร็วขึ้นตามเอกสารเพียงหนึ่งใบ และผลักภาระความรับผิดชอบมาให้แพทย์ โดยเฉพาะหากเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาด เมื่อผู้ป่วยยังไม่ถึงวาระสุดท้ายที่จะตาย

               “กฎหมายฉบับนี้จะทำให้เกิดปัญหาผู้ป่วยตายโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เพราะอาจไม่ทราบว่าตนจะรักษาหายหรือไม่ หรือญาติอยากให้ตายเพราะอยากสิ้นสุดภาระการดูแล ย้ำว่า ไม่ได้กลัวการฟ้องร้อง แต่กลัวบาปติดตัว และมองว่าไม่จำเป็นต้องทำตามคนไข้ทุกอย่าง ถ้าขัดกับมโนสำนึกของแพทย์”
 
               ด้าน ศ.นพ.วิฑูรย์ อึ๊งประพันธ์ ที่ปรึกษาศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ บอกว่า หลักการของ “หนังสือแสดงเจตนาปฏิเสธการรักษาของผู้ป่วยระยะสุดท้าย (Living will)”เป็น “การแสดงเจตนาไว้ล่วงหน้า” ซึ่งจะช่วยให้แพทย์ปฏิบัติได้ถูกต้องมีหลักการ และยังเห็นว่า วิวัฒนาการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการแพทย์สมัยใหม่ที่มีเครื่องมือช่วยยืดชีวิตผู้ป่วย บางครั้งทำให้ผู้ป่วยตกอยู่ในภาวะที่เรียกว่า “ฟื้นก็ไม่ได้ ตายก็ไม่ลง” กล่าวคือ ผู้ป่วยจะต้องอาศัยเครื่องช่วยหายใจเพื่อจะได้รับออกซิเจนอยู่ตลอดเวลา ขณะที่ผู้ป่วยอาจจะไม่มีความรู้สึกตัว หรือมีเพียงเล็กน้อยจนไม่มีโอกาสกลับมาเป็นปกติได้ การช่วยชีวิตแบบดังกล่าวทำให้ความเป็นมนุษย์ของผู้ป่วยลดลง ผู้ป่วยจึงควรมีสิทธิที่จะตายโดยปฏิเสธการรักษาดังกล่าวได้ เพื่อให้กระบวนการตายมีสภาพเป็นมนุษย์อย่างแท้จริง
 
               "สิทธิที่จะตายจึงเป็นสิทธิตามธรรมชาติ  มนุษย์สามารถกำหนดว่าตนเองจะใช้สิทธิที่จะมีชีวิตอยู่ (the right to life) หรือสิทธิที่จะตาย (the right to die) ได้ตามความประสงค์ของแต่ละคน เป็นการยอมรับสิทธิในการเป็นเจ้าของร่างกายตนเองของมนุษย์ รวมทั้งความมีอิสระในการตัดสินโชคชะตาของตนเอง (the right to self-determination) สิทธิที่จะตายจึงแฝงเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นอิสระเสรีของมนุษย์นั่นเอง"

               ส่วน  นพ.สันต์ หัตถีรัตน์ อดีตอาจารย์คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า การอยู่โรงพยาบาลนานๆ โดยใส่เครื่องไม้เครื่องมือแพทย์ไม่ใช่สิ่งดี เพราะทำให้เกิดโรคแทรกซ้อน แต่เราเข้าใจผิดมาโดยตลอดว่าสามารถยืดอายุได้ ซึ่งทำให้เกิดความทรมานต่อผู้ป่วย ให้เอาประโยชน์คนไข้เป็นที่ตั้ง

               ผศ.ดร.ทัศนีย์ ทองประทีป วิทยาลัยพยาบาลเกื้อการุณย์ กล่าวว่า ปัจจุบันคนส่วนใหญ่จะเสียชีวิตที่โรงพยาบาล การตายเป็นเรื่องสำคัญ การวางแผนล่วงหน้าจึงเป็นสิ่งที่ดี ซึ่งแพทย์พยาบาลเป็นคนกลางในการทำหน้าที่รักษา การมีกฎกระทรวงทำให้เราสบายใจขึ้น แต่แพทย์และผู้ใช้บริการต้องพูดคุยกันมากขึ้นในเรื่องเจตนา เพราะผู้ป่วยภาวะอารมณ์ไม่มั่นคงในแต่ละวัน ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมของญาติด้วย”

               “สิทธิการตาย” ถือเป็นเรื่องใหม่ในสังคมไทย แต่ในต่างประเทศมีมานานแล้ว สำหรับเมืองไทยที่ถกเถียงเรื่องนี้มีความชัดเจนมากขึ้นหลังมีคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดออกมา

 

.........................

(หมายเหตุ : ขอบคุณภาพจาก www.siamrath.co.th)

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ