ข่าว

สยบกระแสต้าน‘พลเรือนไม่ขึ้นศาลทหาร’

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

สยบกระแสต้าน‘พลเรือนไม่ขึ้นศาลทหาร’ กรมพระธรรมนูญแจงใช้กฎหมายเดียวกัน : ทีมข่าวความมั่นคง

              กระแสรณรงค์ “พลเรือนไม่ขึ้นศาลทหาร” ของมวลชนฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลโหมแรงขึ้นตามลำดับ สำทับด้วยแรงกดดันจากองค์กรสิทธิมนุษยชนต่างประเทศ ทำให้รัฐบาล และคสช. ต้องตกเป็นจำเลยของชาติมหาอำนาจมาโดยตลอดในช่วงหลัง ทั้งที่ประกาศฉบับที่ 37 ของ คสช. จำแนกความผิดที่พลเรือนจะต้องขึ้นศาลทหารไว้ชัดเจน 2 ประเภท คือ

              1. ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา

              (1) ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ตั้งแต่มาตรา 107 ถึงมาตรา 112

              (2) ความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร ตั้งแต่มาตรา 113 ถึงมาตรา 118 ยกเว้นความผิดซึ่งการกระทำผิดเกิดขึ้นในเขตพื้นที่ที่มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 หรือพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548

              2. ความผิดตามประกาศ หรือคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

              นอกจากนี้ บุคคลที่กระทำความผิดในคดีอาวุธสงคราม และยาเสพติด จะต้องมาขึ้นศาลทหารทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นพลเรือนหรือทหาร ยกเว้น “เยาวชน” ที่กระทำผิดก็ให้ไปขึ้นศาลพลเรือนตามปกติ ขณะเดียวกันยังมีประกาศฉบับที่ 38 ฉบับที่ 50 และฉบับที่ 62 ที่ระบุชัดเจนถึงลักษณะความผิดที่จะต้องขึ้นศาลทหาร ดังนั้น พลเรือนที่ไม่ได้กระทำผิดตามที่ระบุย่อมไม่ต้องมาขึ้นศาลทหารอยู่แล้ว

              ศาลทหารอาศัยอำนาจตามประกาศของ คสช. ในการพิจารณาคดี รวมทั้งอำนาจของศาลทหารในเวลาปกติ ไม่ได้มีอำนาจพิเศษนอกเหนือจากนี้

              กรมพระธรรมนูญ หรือศาลทหารกรุงเทพไม่ได้เป็นผู้เสนอให้พลเรือนมาขึ้นศาลทหาร แต่เป็นนโยบายของ คสช. ที่ต้องการให้บ้านเมืองเกิดความสงบสุขเรียบร้อย และต้องการให้การพิจารณาคดีเป็นไปอย่างรวดเร็ว ทางศาลทหารกรุงเทพก็จะต้องปฏิบัติตาม และทำอย่างดีที่สุด ด้วยความบริสุทธิ์ และยุติธรรมให้มากที่สุด แม้ว่าจะถูกโจมตีก็ตาม

              มีข้อห่วงใยว่าตุลาการศาลทหารจะให้ความยุติธรรมได้เท่าเทียมกับผู้พิพากษาในศาลพลเรือนหรือไม่ ?

              องค์คณะศาลทหารชั้นต้น ทั้งในศาลทหารกรุงเทพและศาลทหารต่างจังหวัด ประกอบด้วย ตุลาการพระธรรมนูญ ซึ่งเป็นตุลาการที่มาจากกรมพระธรรมนูญ

              ทุกคนจะต้องมีคุณสมบัติ คือ จบหลักสูตรตุลาการ หรืออย่างน้อยจะต้องจบ “นิติศาสตรบัณฑิต” และจะต้องมีชั้นยศ “พันโท” ขึ้นไป ฉะนั้นแต่ละคนจะต้องมีประสบการณ์ในการปฏิบัติหน้าที่ ถึงจะได้เป็น “ตุลาการพระธรรมนูญ”

              สำหรับ “องค์คณะ” ที่ร่วมพิจารณาคดีประกอบด้วยนายทหารสัญญาบัตรอีก 2 นาย ซึ่งจะต้องจบปริญญาตรี และแม้ว่าในข้อกฎหมายจะไม่ได้ระบุไว้ว่าจะต้องจบปริญญาตรีสาขานิติศาสตร์ แต่ในการคัดเลือก “ตุลาการร่วม” จะต้องมีนายทหารที่จบ “ปริญญาตรีสาขานิติศาสตร์” รวมอยู่ด้วย

              ส่วนกระบวนการคัดกรองผู้ที่จะเข้ามาทำหน้าที่ตุลาการพระธรรมนูญ จะมี “ปลัดกระทรวงกลาโหม” เป็นประธาน เจ้ากรมพระธรรมนูญเป็นรองประธาน รวมทั้งผู้ทรงคุณวุฒิ และหัวหน้าศาลทุกศาลที่จะร่วมกันพิจารณาคัดกรองว่า ใครเหมาะสมที่จะเข้ามาทำหน้าที่เป็นตุลาการพระธรรมนูญ หรือตำแหน่งในศาลทหาร

              ในการพิจารณาคดีปกติเราจะมีตุลาการพระธรรมนูญ 1 นาย และผู้บังคับบัญชาที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นตุลาการอีก 1 นาย ซึ่งตุลาการพระธรรมนูญทั้งหมดก่อนที่จะทำหน้าที่จะต้องถวายสัตย์ต่อพระมหากษัตริย์ ดังนั้น การทำหน้าที่ของตุลาการพระธรรมนูญ ไม่ว่าจะทำหน้าที่ในกรณีใดก็จะต้องทำหน้าที่อย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม

              อย่างไรก็ตาม เพื่อให้เกิดความยุติธรรมมากที่สุดในการพิจารณาคดีที่มีพลเรือนมาขึ้นศาลทหาร การแต่งตั้งองค์คณะในการพิจารณาคดีในแต่ละคดีที่มีพลเรือนตามประกาศคสช.ฉบับที่ 37 ทางหัวหน้าสำนักงานตุลาการศาลทหารได้ให้นโยบายไว้ว่า จะต้องเอาตุลาการร่วมที่จบปริญญาตรีสาขานิติศาสตร์บัณฑิตมาเป็นตุลาการพระธรรมนูญร่วมพิจารณาคดีด้วยทั้งหมด

              “ศาลทหารพยายามทำไม่ให้เกิดข้อครหา แต่การทำหน้าที่ของเรายังไม่มีใครอธิบายไปสู่บุคคลภายนอกให้เข้าใจว่าการทำหน้าที่ของศาลทหารจะต้องเป็นผู้ที่จบกฎหมายทั้งสิ้น โดยตุลาการพระธรรมนูญที่มาร่วมคณะในการพิจารณาจะมาจากนายทหาร 3 เหล่าทัพ ทุกคนที่เข้ามาทำหน้าที่ได้มีการคัดกรองเป็นอย่างดี” นายทหารพระธรรมนูญ กล่าว

              เมื่อถามว่า กระแสคัดค้านไม่ให้พลเรือนขึ้นศาลทหารทำให้กดดันมากขึ้นหรือไม่ เขาตอบว่า แรงกดดันเกิดจากจำนวนบุคลากรมากกว่า เพราะตุลาการมีจำนวนน้อย แต่ปัจจุบันมีคดีเยอะขึ้น โดยมีคดีเพิ่มขึ้นประมาณ 15-20% ส่วนดุลพินิจในการฝากขัง หรือออกหมายจับผู้ต้องหา เราจะยึด “ข้อกฎหมาย” และ“ข้อเท็จจริง” ในสำนวนเป็นหลัก ไม่ได้มีแรงกดดันหรือตั้งธงมาล่วงหน้า

              นายทหารจากกรมพระธรรมนูญยังฝากเตือนผู้ที่โจมตีศาลด้วยว่า เสี่ยงที่จะเข้าข่าย “ละเมิดศาล” แม้ว่าการกระทำจะไม่เกิดขึ้นในเขตศาลก็ตาม แต่เป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม

              “อยากให้เข้าใจว่า การใช้เสียงโจมตีศาลถือเป็นอุปสรรคในการทำงานของศาล และอาจมีความผิดตาม มาตรา 32 ถ้าครั้งต่อไปมีแบบนี้อีกเราคงต้องดำเนินการอะไรสักอย่าง ที่ผ่านมาเราไม่ได้ละเลยว่ากลุ่มผู้ชุมนุมจะมาโจมตีหรือจะทำอะไรก็ได้ เรารับรู้ตลอด ถ้าชุมนุมโดยสงบเราคงไม่ว่าอะไร”

              ส่วนเหตุปาระเบิดศาลอาญา ถ.รัชดาฯ ก็ไม่ได้สร้างแรงกดดันให้ศาลทหารเช่นกัน เพราะเรายึดเอาตัวกฎหมายเป็นตัวตั้ง ยืนยันว่าการทำงานไม่มีใครโทรศัพท์มาสั่งการให้คุมขัง หรือปล่อยตัวใครได้

              คดีที่ขึ้นศาลทหารนั้น เป็นคดีที่ฝ่าฝืนประกาศคสช. เช่น คดีหมิ่นสถาบัน หรือคดีอาวุธสงครามก็เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ส่วนคดีขัดคำสั่งในเรื่องการชุมนุมก็เป็นการฝ่าฝืนกฎอัยการศึก และประกาศของ คสช. แต่จำนวนผู้ที่ถูกควบคุมตัวไม่ถึง 700 คน เหมือนอย่างที่ องค์กรสิทธิมนุษยชนระบุ

              ทั้งนี้ ในส่วนของยอดที่แท้จริงได้ให้กองกฤษฎีกาการต่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ นำไปรายงานต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. เพื่อไปกล่าวสุนทรพจน์ที่นครเจนีวา?

              "ผู้ที่ถูกพิจารณาคดีในศาลทหารกรุงเทพมีประมาณ 50 คน แต่ไม่ทราบว่าศาลทหารในต่างจังหวัดมีเท่าใด แต่ไม่ถึง 700 คนแน่นอน ไม่ทราบว่าเอาตัวเลขมาจากไหน และข่าวบางแหล่งก็รายงานว่า มากถึง 6,000 คน ซึ่งทุกวันนี้ก็ทำงานกันแทบตายแล้ว ถ้ามากถึง 6,000 คนคงจะต้องมากินนอนอยู่ที่ศาลกันแล้ว”

              สุดท้ายนายทหารจากกรมพระธรรมนูญฝากไปถึงผู้ที่ไม่เข้าใจบทบาทของศาลทหารว่า เราปฏิบัติตามกฎหมายทุกอย่าง ทำด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และหวังดีต่อชาติบ้านเมือง ให้ความเป็นธรรมต่อผู้ต้องหาทุกราย ไม่มีใครมาร้องเรียนว่า พิจารณาคดีไม่ถูกหลักกฎหมาย เพราะเราพิจารณาเหมือนกับศาลพลเรือนปกติ ไม่ได้แตกต่างกัน และใช้ตัวบทกฎหมายตัวเดียวกัน

                                                                                                                                                                                                      

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ