ข่าว

ตลาดน้ำ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ตลาดน้ำ : วันเว้นวัน จันทร์ พุธ ศุกร์ กับ ประภัสสร เสวิกุล

               ตลาดคือศูนย์การค้าของไทยในอดีต โดยที่ในสมัยกรุงศรีอยุธยาและกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น แม่น้ำลำคลองนอกจากจะเป็นเส้นทางคมนาคมที่สำคัญในการเดินทางแล้ว ยังเป็นเส้นทางเศรษฐกิจ เนื่องจากคนไทยในเวลานั้นนิยมตั้งบ้านเรือนและทำสวนทำไร่ริมน้ำ พืชผลการเกษตรต่างๆ ก็จะถูกลำเลียงโดยเรือไปยังผู้ซื้อหรือคนกลาง หรือนำมาขายร่วมกับพ่อค้าแม่ค้าและผู้ผลิตรายอื่นๆ เกิดเป็นตลาด ให้คนมาจับจ่ายซื้อหาได้สะดวกขึ้น

               คำว่า “ตลาด” สันนิษฐานว่ามาจากคำว่า “ยี่สาร” ซึ่งเพี้ยนมาจากคำว่า “บาซาร์” ในภาษาเปอร์เซีย ซึ่งแปลว่า “ตลาด” ชาวเปอร์เซียเริ่มเข้ามาในประเทศไทยสมัยพระเจ้าปราสาททอง คนไทยสมัยนั้นเรียกว่า “แขกมะหง่น” หรือ “แขกเจ้าเซ็น” ซึ่งนับถือศาสนาอิสลาม นิกายชีอะห์ คนเปอร์เซียที่นับถือนิกายชีอะห์มีประเพณีสำคัญอย่างหนึ่งคือการรำลักถึงอิหม่ามฮูเซ็น ซึ่งเป็นหลานของพระมะหะหมัด และเสียชีวิตในการต่อสู้ศัตรู - ในพิธีเจ้าเซ็น จะมีการเต้นตุมมุซ ตำบูด ซึ่งแปลว่า การละเล่นหรือการเต้นหีบศพ ดังมีคำร้องว่า “วันเอ๋ยวันนี้ จะเข้ากุฎีบ้าระฮำ พวกเจ้าเซ็นจะเต้นจะรำ วันแปดค่ำจะลุยไฟ กตัญญูไม่รู้สิ้น แห่ตำบูดทูนรังไก่..”

               ยี่สารแต่แรกมักจะอยู่ใกล้ๆ กับบริเวณท่าเรือ ที่มีเรือสินค้าต่างชาติเข้ามาจอดขนถ่ายสินค้า ลองหลับตานึกถึงท่าเรือคลองเตยสมัยก่อน ที่มีสินค้าหนีภาษีซึ่งหลุดรอดออกมาขาย ก็จะเห็นภาพยี่สารสมัยกรุงศรีอยุธยาได้

               ยี่สารหรือตลาดนั้นตามจริงน่าจะมีทั้งบนบกและในน้ำ แต่ที่เป็นตลาดน้ำนั้นมากกว่า และพูดถึงตลาดเมื่อไร คนสมัยก่อนจะนึกถึงตลาดน้ำที่มีเรือมาชุมนุมกันขายสินค้าต่างๆ ในกรุงเทพฯ นั้น ตลาดบกแห่งแรกที่มีการบันทึกไว้คือ ตลาดนางเลิ้ง ใกล้ๆ กับตลาดน้ำหน้าทำเนียบรัฐบาลนั่นแหละครับ - รัชกาลที่ 5 ได้เสด็จฯมาทรงเป็นประธานในพิธีเปิดตลาดแห่งนี้ เมื่อ พ.ศ.2443 เดิมเรียกว่าตลาดอีเลิ้ง ตามชื่อตุ่มหรือโอ่งขนาดใหญ่ของชาวมอญ ที่นำลงเรือมาทางคลองโอ่งอ่าง แล้วมาวางขายที่บริเวณนี้

               แม้ว่าปัจจุบันจะมีตลาดแบบฝรั่ง หรือซูเปอร์มาร์เก็ต เปิดขึ้นมากมาย แต่ตลาดแบบไทยๆ ก็ยังเป็นที่ต้องการของผู้ซื้ออยู่ ดังจะเห็นได้จากสถานที่ใดที่เป็นที่ว่างและเปิดเป็นตลาดแบกะดิน ปักร่ม ตั้งแผง ก็จะมีทั้งคนในบริเวณใกล้เคียง และที่ขับรถดั้นด้นไปซื้อหากันเนืองแน่น

               เสน่ห์ของตลาดแบบไทย ก็คือการเป็นกันเองระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย หรือผู้ผลิตกับผู้บริโภค ราคาสินค้าสามารถต่อรองได้ และมีราคาถูกกว่า เพราะไม่ต้องผ่านกระบวนการจัดจำหน่าย รวมทั้งได้สินค้าที่สดจากสวนหรือสดจากต้น รวมทั้งบรรยากาศเก่าๆ ที่สูญหายไปจากสังคมเมืองมานานแล้ว

               เขียนถึงตรงนี้ ก็เลยนึกถึงเพลงเพลงหนึ่งที่ ครูสุรพล โทณะวณิก แปลงมาจากเพลง Day-O ที่ขึ้นต้นว่า "ตื่นไปตลาดมองปราดเจอน้อง น่ะ เอ่ยปากร้องขายส้มโอ โอ้โฮ ใหญ่ ผ่ากินหน่อยชิมหน่อยได้ไหม ล่ะ อยากจะรู้รสชาติดีสักเพียงใด...” ถ้าคนกรุงเทพฯ มีเวลาที่จะไปตลาดกันแต่เช้า ก็อาจจะมีอารมณ์สุนทรีย์อย่างในเพลงนี้ และถ้ารัฐมนตรีพาณิชย์หาโอกาสไปจ่ายตลาดน้ำหน้าทำเนียบรัฐบาลบ้าง ก็อาจจะรู้เรื่องราคาสินค้าและค่าครองชีพของประชาชนได้อีกทางหนึ่ง

               ท้ายคอลัมน์วันนี้ ขอแนะนำหนังสือที่น่าอ่านของ พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์ ชื่อ “ไฟรัก ไฟสงคราม” เรื่องราวความขัดแย้งในประเทศไทย ตั้งแต่สมัยกบฏบวรเดช ถึงสมัย 6 ตุลาคม 2519 และการต่อสู้ระหว่างอุดมการณ์ ความถูกต้อง หน้าที่ และความรัก ด้วยข้อมูลที่เพียบแน่น และด้วยประสบการณ์ตรง ที่สำคัญคือ เมื่อเกิดความขัดแย้งขึ้นแล้ว จะให้เหตุการณ์จบลงด้วยความอาฆาตพยาบาท หรือการให้อภัย ? (สนพ.มติชน/335 บาท)

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ