ข่าว

กม.มั่นคงไซเบอร์วงถกฟันธงเผด็จการ-วอนทบทวน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ชำแหละกฎหมายมั่นคงไซเบอร์ วงถกฟันธงเผด็จการ-วอนทบทวน : วัฒนา ค้ำชูรายงาน

               หมายเหตุ - ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดราชดำเนินเสวนา ในหัวข้อ “พ.ร.บ.ความมั่นคงไซเบอร์ เสี่ยงละเมิด?“ วิทยากร ได้แก่ สุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์, จักร์กฤษ เพิ่มพูล ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ, ก่อเขต จันทเลิศลักษณ์ ประธานสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย, สฤณี อาชวานันทกุล ประธานมูลนิธิเพื่ออินเทอร์เน็ต และวัฒนธรรมพลเมือง โดยมี อศินา พรวศิน บรรณาธิการโซเชียลมีเดีย หนังสือพิมพ์เดอะ เนชั่น ดำเนินรายการ

               สฤณี ให้ความเห็นว่า เศรษฐกิจดิจิทัลเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอยู่คู่กับชีวิตของคนไทยมากขึ้นเรื่อยๆ แม้แต่การไปทำธุรกิจกับธนาคารก็ต้องมีระบบจัดเก็บข้อมูล ซึ่งหัวใจสำคัญควรต้องคุ้มครองข้อมูลที่แบ่งเป็น 2 ส่วนใหญ่ๆ คือ ข้อมูลส่วนตัว ที่ต้องไม่ถูกดักฟังหรือสอดแนมแบบไม่มีเหตุผลอันควรจากรัฐ นอกจากนี้สิ่งที่เป็นห่วงอีกประการ คือ เรื่องของเสถียรภาพความปลอดภัยของระบบที่อาจถูกเจาะหรือแฮ็ก ที่เราเรียกระบบของความปลอดภัยหรือไซเบอร์ซีเคียวริตี้ ถือเป็นสิ่งที่รัฐควรวางบทบาทให้ชัดเจนว่า ได้เป็นผู้สนับสนุนให้เกิดการแข่งขันระหว่างผู้ประกอบการเพื่อให้มีความไว้วางใจต่อกัน นอกจากนี้ควรมีมาตรฐานความปลอดภัย เพื่อให้ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตรับรู้ในเรื่องความเหมาะสมด้วย

               “รัฐควรเล่นบทบาทผู้ให้การสนับสนุนส่งเสริมอย่างมีมาตรฐาน หากต้องการสร้างเศรษฐกิจดิจิทัลแล้วต้องคุ้มครองข้อมูลความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยของระบบด้วย สภาพการแข่งขันเช่นกัน รัฐต้องไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน อย่างไรก็ตามเท่าที่ดูยังไม่เห็นกลไกการเข้ามีส่วนร่วมอย่างชัดเจน”

               สฤณี บอกว่า ประเทศสหรัฐอเมริกาได้ให้ความสำคัญในระบบรักษาความปลอดภัยหรือความมั่นคงมาก เพื่อป้องกันการโจมตีหรือการก่อการร้าย จึงมีมาตรการป้องกัน โดยการตั้งศูนย์ขึ้นมาแลกเปลี่ยนข้อมูลกับเอกชนที่เป็นการวางกลไกเพื่อป้องกัน และให้เกิดความปลอดภัย ขณะที่ในส่วนของประชาชนก็ตระหนักถึงภัยคุกคามจากไซเบอร์ที่เนื้อหาหลักเน้นไปมุ่งรักษาความปลอดภัยของข้อมูลระบบ ไม่ได้มุ่งไปยังข้อมูลส่วนตัวแต่อย่างใด ตรงนี้จะทำให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่น แล้วถ้ามาดูร่างกฎหมาย พ.ร.บ.มั่นคงทางไซเบอร์ของเราแล้ว ไม่ได้มีเรื่องของเหล่านี้ และคำนิยามของภัยคุกคามทางไซเบอร์ก็ยังไม่มีเลย นอกจากนี้ยังไม่มีกลไกการตรวจสอบถ่วงดุล หรือกำหนดระยะเวลาในการตรวจสอบข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ แล้วก็ไม่มีบทลงโทษเจ้าหน้าที่ของรัฐ แต่ในการนำอำนาจไปใช้ยังมีลักษณะค่อนข้างกว้าง สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดข้อกังวลของภาคประชาชนเกี่ยวกับร่างกฎหมายดังกล่าว จึงขอเรียกร้องให้ชะลอร่างกฎหมายดังกล่าวเอาไว้ก่อน

               ก่อเขต กล่าวว่า ถ้าพิจารณาผลกระทบของ พ.ร.บ.ไซเบอร์ต่อการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน หากไปมองการทำงานหลายเรื่องย่อมกระทบข้อมูลส่วนบุคคล ถ้ามองประเด็นนี้แล้วหลายคนคงบอกว่า ควรควบคุม เพราะไปละเมิดรุกล้ำสิทธิส่วนบุคคลของคนอื่นเยอะเหลือเกิน แต่อีกด้านสังคมเรียกร้องให้สื่อตรวจสอบการทุจริตประพฤติมิชอบ เชื่อว่า ถ้ามองเช่นนี้ย่อมกระทบต่อการทำหน้าที่ของสื่อที่ต้องนำเอาข้อมูลส่วนบุคคลมานำเสนออธิบายว่า มีลักษณะเชื่อมโยงกันอย่างไร ขณะเดียวกันก็รู้สึกไม่แน่ใจนักต่อการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคล แล้วทำให้สามารถเข้าถึงแหล่งข่าวที่เป็นที่มาของข่าวตรวจสอบการทุจริต ตรงนี้จะปลอดภัยต่อไปหรือไม่

               “ตอนนี้ยังไม่มีกฎหมาย แต่เมื่อมีแล้ว นักข่าวจะมั่นใจได้หรือไม่ว่า การโทรศัพท์ไปคุยกับแหล่งข่าว แล้วกฎหมายบอกว่า มันเป็นเรื่องของความมั่นคง ก็คงจะทำให้กระทบ ถ้ามีการตีความไปอย่างนั้น แน่นอนกฎหมายนี้บัญญัติขึ้น เน้นไปที่ความมั่นคงไซเบอร์ ที่เป็นห่วงกันคือ มาตรา 35 (3) หลังจากได้วิพากษ์วิจารณ์แล้วได้รับปากว่าจะปรับแก้ หรือนิยามของความมั่นคงไม่ว่ายุคสมัยใดมันกว้างขวางมาก คงจะดีมากถ้าสามารถนิยามอย่างมีขอบเขต เพื่อรักษาความมั่นคงของประเทศ เพื่อให้ไม่ไปรุกล้ำความเป็นส่วนตัวหรือจะมีก็ต้องให้น้อยที่สุด ตรงนี้ควรที่จะกำหนดออกมาด้วย ผมขอย้ำว่า เรื่องความมั่นคงต้องดูให้รอบด้าน ใครมั่นคง ประเทศมั่นคง หรือผู้ที่มีอำนาจมั่นคง เท่านั้นหรือเปล่า ดังนั้นต้องมองความมั่นคงให้แตกว่า มันคืออะไร”

               ส่วน จักร์กฤษ มองว่า กฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัล มีสิ่งที่น่าสนใจ คือเรื่องของผลบังคับ อำนาจการใช้กฎหมายฉบับนี้ และลักษณะพิเศษของกฎหมาย ซึ่งเวลาที่พูดถึงกฎหมายฉบับนี้เรามักจะเพ่งเล็งไปยัง คสช. หรือรัฐบาลปัจจุบัน แต่หากมีการตรากฎหมายขึ้นมาบังคับใช้ ทางรัฐบาลยุคต่อไปย่อมใช้อำนาจกฎหมายฉบับนี้ทำให้มีอำนาจมากมายมหาศาล เท่าที่ดูเนื้อหามีความโน้มเอียงไปในด้านความมั่นคง เหมือนเช่น กฎอัยการศึก, พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร และพ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งกฎหมายเหล่านี้จำกัดสิทธิเสรีภาพ แต่ให้อำนาจรัฐเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลได้ จึงเป็นการให้อำนาจพิเศษ หมายถึงเจ้าหน้าที่ก็ไม่มีความผิด สามารถใช้ดุลพินิจอย่างกว้างขวางว่า อะไรคือความมั่นคง แล้วอะไรคือความไม่มั่นคง

               “ผมคิดว่า รัฐบาลใจกว้างที่ได้ยินการพูดคุยว่ากฎหมายฉบับนี้เป็นเผด็จการ ได้มีการนัดหมายให้ได้พูดคุยกัน ท่านรองนายกฯ บอกว่า กฎหมายความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์มีเนื้อหาบางข้อที่ดูแปลกๆ ทางรัฐบาลก็ไม่ได้เห็นเป็นเรื่องเร่งด่วน จึงจะนำเอากฎหมายฉบับนี้จัดอยู่ในอันดับท้ายๆ ที่จะพิจารณา ผมคิดว่า เป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อไป ถ้าปล่อยให้ไปจนสุดทางแล้วคงยากต่อการแก้ไข ดังนั้นอยากขอให้ได้นำกลับมาทบทวนกันใหม่”

               ขณะที่ สุรางคณา กล่าวว่า ต้องยอมรับกระบวนการออกกฎหมายของเราที่ดำเนินการออกมาค่อนข้างล่าช้า หากย้อนไปหลังมีรัฐบาลใหม่ได้มีการพิจารณาเรื่องเศรษฐกิจที่มีเรื่องอินเทอร์เน็ตแบงกิ้ง ที่มีการลดน้อยลง ต่อไปจะมีการเชื่อมโยงด้านดิจิทัลแบงกิ้งมากขึ้น เพราะประเทศไทยก้าวสู่เออีซี ซึ่งจะทำให้มีการยอมรับเอกสารทางอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น จึงมีความพยายามผลักดันให้มีการยอมรับกันในลักษณะกฎหมาย

               “ดิฉันทำงานกับหลายรัฐบาล เขาไม่ให้ความสนใจกับเศรษฐกิจดิจิทัล แต่ครั้งนี้รัฐบาลให้ความสนใจกฎหมายที่ส่วนใหญ่ก็มีลักษณะไปด้านการโปรโมท แต่ด้านความมั่นคงที่สร้างความเชื่อมั่นไม่มีเลย เราที่ทำงานหลังบ้าน ถูกท้าทายหลายอย่าง เมื่อเห็นปัญหาก็ไม่สบายใจ ที่จะให้อยู่ในโครงสร้างแบบเดิมๆ จึงมาทำตรงนี้ ขอบอกว่า ต้องเป็นรัฐบาลที่กล้าเท่านั้น ที่จะกล้าทำกล้าตัดสินใจจึงจะแก้ได้ เพราะเป็นปัญหาในเชิงโครงสร้างที่เปราะบางเหลือเกิน เรียนว่า เราเอาแนวรูปแบบมาจากญี่ปุ่นที่เขามีกฎหมายไซเบอร์เน้นการประสานความร่วมมือเป็นหลัก”

               สุรางคณา กล่าวต่อว่า ปัญหาที่เป็นสิ่งกังวลก็คือ ภัยคุกคามจากไซเบอร์ โดยเฉพาะกลุ่มธนาคารที่ค่อนข้างรู้สึกจริงจังกับเรื่องนี้มาก ดังนั้นจึงต้องมีกลไกสำหรับปกป้อง และป้องกัน เพราะเรายอมรับว่า เรื่องนี้ค่อนข้างอ่อนไหวมาก จึงทำให้รู้สึกไม่สบายใจ

               กฎหมายฉบับนี้ ถ้าเป็นเรื่องของข้อมูล เนื้อหาแล้ว ดิฉันเป็น สนช.จากการดีเบตกัน ถ้าดูข้อเท็จจริงมันอยู่ด้านเศรษฐกิจ ไม่ได้อยู่ฝั่งกลาโหม ถ้าเป็นการประสานความร่วมมือทุกอย่างจะง่ายขึ้น ความไว้วางใจจะมีมากกว่า ดังนั้นสิ่งที่นำเสนอกันในวันนี้เราจะนำไปปรับในร่างกฎหมาย ยอมรับว่ากลัว แต่ไม่ได้หมายความว่า กลัวทหาร แต่กลัวภัยคุกคามที่เจอแทบทุกวัน ที่ไม่มีใครปฏิบัติตามแล้วไม่มีใครทำอะไรได้เลย แต่สุดท้ายเป็นข่าวเรา จึงพูดได้ ตลกมากเลย ถ้าพูดถึงการคุ้มครองสิทธิของส่วนบุคคล เรื่องนี้จะมีการไปเขียนนิยามให้ชัดเจน อย่างไรก็ตามกฎหมายฉบับนี้คงไม่ได้เสร็จง่ายๆ คงไม่ต้องถอนกฎหมายออกมา แต่จะรับไปปรับแก้กัน แล้วรัฐก็เปิดให้เข้าไปมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่”
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ