ข่าว

สิทธิสภาพนอกอาณาเขต

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

สิทธิสภาพนอกอาณาเขต : วันเว้นวัน จันทร์ พุธ ศุกร์ กับ ประภัสสร เสวิกุล

               คนไทยในปัจจุบันอาจไม่รู้จักกับคำว่า “สิทธิสภาพนอกอาณาเขต” และไม่ทราบว่า คนไทยในรัชสมัยรัชกาลที่ 5 ขมขื่นและเผชิญกับความเจ็บปวดจากคำคำนี้เพียงใด

               คำว่า สิทธิสภาพนอกอาณาเขต หมายถึงการที่ประเทศหนึ่งมีสิทธิที่จะนำกฎหมายของตนมาบังคับใช้แก่คนสัญชาติของตนที่ทำความผิดในดินแดนของประเทศคู่สัญญา พูดง่ายๆ ก็คือ ถ้าคนอังกฤษหรือฝรั่งเศสกระทำความผิดในประเทศไทย ไทยก็ไม่มีสิทธิที่จะดำเนินคดีคนอังกฤษหรือฝรั่งเศสในศาลไทยได้ แต่จะต้องให้ศาลอังกฤษหรือฝรั่งเศสเป็นผู้ดำเนินการ และสิทธิสภาพนอกอาณาเขตนี้ยังครอบคลุมถึงคนต่างด้าวที่อยู่ในบังคับของอังกฤษหรือฝรั่งเศสด้วย ภาษาไทยในสมัยรัชกาลที่ 5 เรียกคนพวกนี้ว่า "สัปเยก" (Subject) เช่นคนอินเดียสัปเยกอังกฤษ คนญวนสัปเยกฝรั่งเศส เป็นต้น ทำให้คนต่างด้าวเหล่านี้ซึ่งเข้ามาอยู่ในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก ไม่เกรงกลัวกฎหมายไทย เพราะถือว่าหากเกิดคดีความก็ขึ้นศาลต่างประเทศ และส่วนใหญ่แล้วศาลเหล่านั้นมักจะตัดสินความเข้าข้างคนของตน

               กรณีที่สร้างความสะเทือนใจแก่คนไทยเป็นอย่างมากคือ กรณีพระยอดเมืองขวาง - พระยอดเมืองขวาง เป็นข้าหลวงเมืองคำม่วน ซึ่งในเวลานั้นขึ้นอยู่กับมณฑลลาวพวนของไทย แต่ฝรั่งเศสซึ่งเข้ามายึดครองเวียดนามและกัมพูชา ต้องการที่จะได้ดินแดนล้านช้าง จึงพยายามกดดันให้ไทยถอนตัวจากล้านช้าง โดยให้ไทยถอนทหารจากพื้นที่ริมแม่น้ำโขง แต่ฝรั่งเศสกลับส่งข้าราชการพลเรือนของตนและเวียดนาม กัมพูชา เข้าไปแทนที่ ต่อมากองกำลังฝรั่งเศสร่วมด้วยทหารเวียดนามและกัมพูชา ได้บุกเข้าจับพระยอดเมืองขวาง บีบบังคับให้ยกเมืองคำม่วนให้แก่ฝรั่งเศส แต่พระยอดเมืองขวางไม่ยินยอม เพราะถือว่าตนเป็นข้าราชการต่างพระเนตรพระกรรณและรับฟังคำสั่งของทางราชการไทยเท่านั้น จึงถูกคุมตัวเพื่อส่งกลับประเทศไทย นอกจากพระยอดเมืองขวางแล้ว ฝรั่งเศสยังจับกุมหลวงอนุรักษ์ ผู้ช่วยของพระยอดเมืองขวาง แต่หลวงอนุรักษ์ต่อสู้ จึงถูกทำร้ายและถูกคุมขังไว้ เมื่อพระยอดเมืองขวางมาถึงฝั่งไทยได้ไปพบกับนายทหารที่คุมกำลังอยู่ เพื่อขอให้ไปช่วยหลวงอนุรักษ์ ทหารไทย 50 นาย จึงเดินทางไปยังจวนบัญชาการของฝรั่งเศสที่แก่งเจ๊ก ซึ่งคุมขังหลวงอนุรักษ์ ได้มีการเจรจาเพื่อให้ปล่อยตัวหลวงอนุรักษ์ แต่ฝรั่งเศสไม่ยินยอม จึงเกิดการยิงต่อสู้กัน เป็นผลให้ทหารไทยเสียชีวิต 6 นาย ทหารฝรั่งเศสและเวียดนามเสียชีวิต 12 นาย รวมทั้งนายออกุสแรง ผู้ตรวจราชการฝรั่งเศส

               เหตุการณ์ที่แก่งเจ๊ก นำไปสู่ความตึงเครียดระหว่างไทยกับฝรั่งเศส โดยฝรั่งเศสได้ถือโอกาสเข้ามาปิดปากแม่น้ำ ส่งเรือปืนแล่นเข้ามาทอดสมอที่แม่น้ำเจ้าพระยาหน้าสถานทูตฝรั่งเศสในลักษณะข่มขู่ พร้อมกับยื่นข้อเรียกร้อง 6 ประการ ซึ่งสรุปให้ไทยต้องถอนทหารจากฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงทั้งหมด ชดใช้ค่าเสียหาย ค่าสินไหมทดแทนและค่าปรับแก่ฝรั่งเศส และเรียกร้องให้ไทยตัดสินใจภายใน 48 ชั่วโมง มิเช่นนั้นจะปิดอ่าวไทย ต่อมาฝรั่งเศสยังเรียกร้องเพิ่มเติมที่จะยึดเมืองจันทบุรีไว้จนกว่าไทยจะถอนทหารจากฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง และกล่าวหาพระยอดเมืองขวางเป็นจำเลยสำคัญในเหตุการณ์ที่แก่งเจ๊ก ศาลไทยซึ่งมีพระเจ้าน้องยาเธอ กรมพระพิชิตปรีชากร เป็นประธาน ได้พิพากษาว่า เมืองคำม่วนเป็นของไทย พระยอดเมืองขวางได้กระทำการในฐานะเจ้าเมือง เพื่อปกป้องและดูแลบ้านเมือง จึงไม่มีความผิด แต่ฝรั่งเศสไม่พอใจคำตัดสิน ผู้สำเร็จราชการอินโดจีนของฝรั่งเศสได้เรียกร้องให้มีการตั้งศาลผสมประกอบด้วยผู้พิพากษาฝรั่งเศส 3 คน กับผู้พิพากษาไทย 2 คน พิจารณาคดีพระยอดเมืองขวางอีกครั้งที่สถานทูตฝรั่งเศส ในกรุงเทพฯ และตัดสินให้พระยอดเมืองขวางมีความผิด เป็นฆาตกรสังหารนายออกุสแรง จึงพิพากษาให้จำคุกเป็นเวลา 20 ปี และตีตรวน ใส่ขื่อคา ล่ามโซ่ เช่นนักโทษอุกฉกรรจ์ และยังมีความพยายามที่จะนำตัวพระยอดเมืองขวางไปลงโทษเอง แต่รัชกาลที่ 5 ไม่ทรงยินยอม และเมื่อพระยอดเมืองขวางต้องโทษได้ 4 ปีเศษ ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ปล่อยตัวเป็นอิสระ

               โดยแลกกับเงื่อนไขของฝ่ายฝรั่งเศส 3 ประการ คือ ให้ไทยยอมรับการจดทะเบียนคนในบังคับฝรั่งเศส (Subject) ในหลวงพระบาง และเขตปลอดทหาร 25 กิโลเมตรฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง, การปล่อยตัวพระยอดเมืองขวาง ไม่ให้ทำเป็นการเอิกเกริก ห้ามมีข่าวในหนังสือพิมพ์ และไทยจะต้องปล่อยคนในบังคับฝรั่งเศสที่ถูกคุมขังอยู่ทั้งหมด

               สิทธิสภาพนอกอาณาเขต เป็นการเสียอธิปไตยทางศาล ซึ่งไทยตกอยู่ในภาวะจำยอมมาตั้งแต่การทำสนธิสัญญาเบาว์ริง ในสมัยรัชกาลที่ 3 และสนธิสัญญาเบอร์นี ในสมัยรัชกาลที่ 4 จนถึงรัชกาลที่ 6 จึงได้ ดร.ฟรานซิส บี. แซย์ ที่ปรึกษากระทรวงการต่างประเทศ ชาวอเมริกัน ซึ่งต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยากัลยาณไมตรี ช่วยดำเนินการแก้ไข จนหลุดพ้นจากสิทธิสภาพนอกอาณาเขตได้สำเร็จ

               ถึงวันนี้ ผมไม่ทราบหรอกครับว่า ยังมีใครที่ยังอยากจะเป็นสัปเยกของต่างชาติ เพื่อจะได้ใช้ความเป็นคนในบังคับของฝรั่งมังค่า เมื่อทำความผิดในเมืองไทยแล้วไม่ต้องขึ้นศาลไทยอยู่อีกหรือไม่? แต่ถ้าบังเอิญมี ก็ขอให้คิดถึงความขมขื่น ความเจ็บปวด ที่คนไทยรุ่นปู่ย่าตายายเคยได้รับมา

               บอกตรงๆ ว่า ไม่หวังจะเห็นคุณซื่อสัตย์ต่อแผ่นดินเกิด เสียสละและจงรักภักดีต่อสถาบัน เช่นพระยอดเมืองขวางหรอกครับ

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ