ข่าว

ยกฟ้อง!'รบ.ปู'จัดการน้ำ3.5แสนล.

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ศาลปกครองสูงสุด พิพากษากลับยกฟ้อง 'สมาคมต้านโลกร้อน - 45 ชาวบ้าน' ฟ้องล้มแผนแม่บทจัดการน้ำยุค 'รัฐบาลยิ่งลักษณ์'

 
                             31 ต.ค. 57  เมื่อเวลา 10.00 น.  ที่ศาลปกครองกลาง ถ.แจ้งวัฒนะ  ศาลอ่านคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ในคดีโครงการแผนแม่บทบริหารจัดการน้ำ หมายเลขดำที่ อ.1103/2556 ที่นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน และชาวบ้านในพื้นที่ กทม. , ปทุมธานี และอยุธยา รวม 45 คน ยื่นฟ้อง นายกรัฐมนตรีสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร , คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบบริหารจัดการน้ำ (กยน.) , คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (กบอช.) และคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1-4 เรื่อง เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ และหน่วยงานทางปกครอง กระทำการโดยมิชอบ กรณีที่เห็นว่า นายกรัฐมนตรี และ กยน. ผู้ถูกฟ้องที่ 1-2 จัดทำแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างไม่ถูกต้องตามรูปแบบขั้นตอน และเมื่อวันที่ 26 ม.ค. 55 ยังได้ใช้อำนาจทางปกครองของฝ่ายบริหาร ผ่านคณะรัฐมนตรี (ครม.) เร่งรีบจนเกินความจำเป็นอย่างไม่มีเหตุผล ในการรองรับการออกพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อวางระบบการบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ. 2555 ออกมาบังคับใช้ทันที หลังจากได้แถลงข่าวเรื่องการจัดทำแผนแม่บท ฯ เมื่อวันที่ 20 ม.ค. 55 ทั้งที่โดยสภาพของการดำเนินงานที่แท้จริงแล้ว ยังไม่มีความจำเป็น หรือเหตุผลเพียงพอที่จะออก พ.ร.ก. ดังกล่าว โดยผู้ถูกฟ้องยึดถือเงินเป็นตัวตั้ง ทั้งที่ยังไม่ทราบเลยว่า จะมีรายละเอียดของโครงการ หรือกิจกรรมใดเกิดขึ้นได้จริงบ้าง แต่กลับเร่งรีบออกกฎหมายกู้เงิน 3.5 แสนล้านบาท
 
                             โดยคดีนี้ศาลปกครองชั้นต้น มีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. 56 ให้ผู้ถูกฟ้องทั้ง 4 ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 57 วรรค 2 และ 67 วรรค 2 ด้วยการนำแผนแม่บท ฯ ไปดำเนินการจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างทั่วถึง ตามสิทธิ์ในการรับข้อมูลข่าวสาร และการร้องเรียน และดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดให้มีการศึกษา และจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตามสิทธิชุมชน ก่อนที่จะดำเนินการจ้างออกแบบ และก่อสร้างในแต่ละแผนงาน (โมดูล)
 
                             ทั้งนี้ศาลปกครองสูงสุด พิเคราะห์ข้อเท็จจริง และกฎหมายที่เกี่ยวข้องแล้ว เห็นว่า ที่ศาลปกครองชั้นต้น วินิจฉัยว่าตามคำขอผู้ฟ้องที่ให้ผู้ถูกฟ้องทั้งสี่ ปฏิบัติตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ จัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั่วประเทศย่างทั่วถึงก่อนดำเนินการตามแผนแม่บทบริหารจัดการน้ำ เป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับการที่ผู้ถูกฟ้องทั้งสี่ ละเลยต่อหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.การจัดตั้งศาลปกครอง และวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง (2) แต่ศาลปกครองสูงสุด เห็นว่า เป็นกรณีที่หน่วยงานทางปกครอง หรือเจ้าหน้าที่รัฐกระทำการโดยมิชอบ ตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (1) ส่วนที่ผู้ถูกฟ้องอุทธรณ์ว่า ผู้ฟ้องทั้ง 45 ราย ไม่มีสิทธิ์ฟ้องคดีหรือไม่ ศาลปกครองสูงสุด เห็นว่า ผู้ฟ้องที่ 1 เป็นนิติบุคคลที่มีวัตถุประสงค์ติดตาม ตรวจสอบแหล่งกำเนิดมลพิษ และส่งเสริมหน้าที่ประชาชนตามรัฐธรรมนูญในการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม และเมื่อแผนแม่บท ฯ ได้ระบุโครงการ และกิจกรรมครอบคลุมพื้นที่ในวงกว้าง ก็ย่อมมีผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติของประเทศ ดังนั้นสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ผู้ฟ้องที่ 1 จึงมีสิทธิ์ฟ้องคดี เช่นเดียวกับผู้ฟ้องที่ 2-45 ซึ่งเป็นประชาชนมีภูมิลำเนาในลุ่มน้ำต่างๆ ที่เป็นพื้นที่จะมีการดำเนินตามโครงการแผนแม่บท 
 
                             ขณะที่คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบบริหารจัดการน้ำ หรือ กยน. ผู้ถูกฟ้องที่ 2 ได้จัดทำการแผนแม่บท ฯ โดยไม่ได้จัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็น ฯ นั้น เป็นกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลปกครองสูงสุด เห็นว่า แผนแม่บท ฯ กำหนดสาระสำคัญไว้ในเรื่องฟื้นฟู อนุรักษ์พื้นที่ป่าต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ การปรับปรุงการใช้น้ำและประโยชน์ที่ดิน การเพิ่มศักยภาพกักเก็บน้ำ และดำเนินการยกร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อปรับปรุงการบริหารจัดการน้ำของประเทศ และเขื่อนสำคัญ ให้มีประสิทธิภาพ เพิ่มขีดความสามารถในการป้องกัน บรรเทาปัญหาอุทกภัยที่จะเกิดขึ้นในแต่ละปี ขณะที่วิธีดำเนินงาน ให้บูรณาการจัดทำแผนงานกำหนดพื้นที่รับน้ำนอง และเยียวยาอย่างเหมาะสม ปรับปรุงองค์กรเพื่อบริหารจัดการน้ำเพื่อให้บริหารจัดการอย่างบูรณาการ และมีลักษณะที่สามารถตัดสินใจได้อย่างฉับพลันในยามวิกฤติ และสามารถดำเนินการตามแผนบริหารจัดการน้ำระยะเร่งด่วน และระยะยาว โดยให้ กยน.-กยอ. จัดทำข้อเสนอแผนงานปรับปรุงองค์กรเพื่อบริหารจัดการน้ำ และให้มีคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อติดตามการดำเนินงานตามแผน เมื่อพิจารณาสาระสำคัญแผนแม่บท ฯ ที่ประกอบด้วย 8 แผนงานที่สำคัญ และแผนปฏิบัติหารเพื่อบรรเทาอุทกภัยระยะเร่งด่วน ที่ประกอบด้วย 6 แผนหลักแล้ว เห็นได้ว่า แม้แผนแม่บท ฯ จะระบุโครงการ หรือกิจกรรมในอนาคตไว้หลายโครงการ แต่ก็เป็นเพียงกรอบแนวคิดที่ยังไม่มีลักษณะเป็นรูปธรรมเพียงพอ คือ ยังไม่ได้ระบุรายละเอียด ว่าจะดำเนินโครงการ หรือกิจกรรมในประเภท รูปแบบ ลักษณะเช่นใด หรือในพื้นที่ใดอย่างเพียงพอที่เล็งเห็นได้ว่า จะมีผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพอนามัย คุณภาพชีวิต หรือส่วนได้ส่วนเสียสำคัญอื่นเกี่ยวกับชุมชน ท้องถิ่น ในวงกว้างเพียงใด ขณะที่ตามสภาพแผนแม่บท ฯ ก็ไม่ได้มีผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพอนามัย นอกจากนั้น แม้โครงการ หรือกิจกรรมในแผนแม่บท ฯ ระบุอาจจะต้องมีการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ การวางผังเมือง หรือกำหนดเขตการใช้ประโยชน์ที่ดิน แต่การจัดทำแผนแม่บท ฯ ก็ไม่ใช่เรื่องการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์แต่อย่างใด ดังนั้นการศึกษา และจัดทำแผนแม่บท ฯ ที่เป็นเหตุการณ์ฟ้องคดี จึงไม่ต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตามกระบวนการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ โดยวิธีประชาพิจารณ์ ตามบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ฯ พ.ศ. 2550 มาตรา 57-58 และ 67 ประกอบระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. 2548 ดังนั้นการกระทำของ กยน. ผู้ถูกฟ้องที่ 2 จึงไม่ใช่การกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
 
                             ส่วนที่ผู้ฟ้องทั้ง 45 ราย อุทธรณ์ว่า คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย หรือ กบอ. ผู้ถูกฟ้องที่ 4 จัดการประมูลในลักษณะเหมาเบ็ดเสร็จ (Design and Build) คือ ผู้รับจ้าง ต้องรับโครงการไปจัดการทั้งระบบ โดยสำรวจพื้นที่ก่อสร้าง ประมาณการก่อสร้าง งานออกแบบก่อสร้าง งานศึกษาความเป็นไปได้ งานศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม งานเจรจาขอซื้อ หรือเวนคืนที่ดิน และงานก่อสร้าง ซึ่งเป็นอำนาจรัฐเท่านั้นที่ทำได้ การมอบอำนาจให้เอกชนทำให้ เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น ศาลปกครองสูงสุด เห็นว่า ระบบการจัดทำ และส่งมอบโครงการ มีหลายรูปแบบ ซึ่งแต่ละรูปแบบมีข้อจำกัดแตกต่างกัน โดยผู้ว่าจ้างไม่ว่าจะเป็นรัฐ หรือเอกชน จะเลือกใช้ระบบใด ก็ขึ้นกับดุลพินิจการตัดสินใจของผู้ว่าจ้าง ดังนั้นการที่ กบอ. ผู้ถูกฟ้องที่ 4 กำหนดให้ใช้วิธีจัดซื้อจัดจ้างแบบ Design Build และ Guaranteed Maximum Price โดยเห็นว่า การดำเนินกิจกรรมเป็นโครงการเร่งด่วน และเพื่อเป็นการรวมจุดแข็งของคณะกรรมการด้านการศึกษากับคณะทำงานด้านการก่อสร้างเข้าด้วยกัน ลดขั้นตอนดำเนินการ เพื่อให้โครงการแล้วเสร็จโดยไม่ชักช้า พร้อมทั้งสามารถควบคุมเงินงบประมาณได้ จึงเป็นกระบวนการตัดสินใจเลือกใช้ระบบ และใช้ดุลพินิจโดยแท้ภายในฝ่ายบริหาร และการเลือกใช้ระบบในการจัดซื้อจัดจ้าง เพื่อดำเนินโครงการ ซึ่งไม่ว่าจะเลือกระบบใด ก็ไม่เป็นเหตุแผนแม่บท ฯ ของผู้ถูกฟ้องเป็นแผนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่อย่างใด
 
                             เมื่อการจัดทำแผนแม่บท ฯ เป็นเพียงกรอบแนวคิด ยังไม่มีความชัดเจน และยังไม่มีผลบังคับให้ต้องปฏิบัติตาม ประกอบกับแผนนั้น ไม่มีลักษณะเป็นการวาง จัดทำ และดำเนินการให้เป็นไปตามผังเมืองรวม และผังเมืองเฉพาะในเมือง หรือชนบท เพื่อสร้าง หรือพัฒนาเมือง หรือส่วนของเมืองขึ้นใหม่ หรือแทนเมือง หรือส่วนของเมือง ที่ได้รับความเสียหาย ฯ ที่จะถือได้ว่าแผนแม่บท ฯ เป็นการผังเมือง ตาม พ.ร.บ.การผังเมือง พ.ศ. 2518 อีกทั้งยังไม่มีเนื้อหาเป็นการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจการเมือง และวัฒนธรรม ไม่ใช่การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ และกำหนดเขตการใช้ประโยชน์ที่ดิน จึงไม่ใช่การวางผังเมือง ที่อาจมีผลกระทบต่อส่วนได้ส่วนเสียสำคัญของประชาชนที่จะมีผลบังคับให้รัฐจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างทั่วถึงก่อนดำเนินการ ศาลปกครองสูงสุด โดยนายวราวุธ สิริยุทธ์วัฒนา ตุลาการเจ้าของสำนวน และองค์คณะ ฯ จึงพิพากษา กลับคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น เป็นให้ยกฟ้องคดีนี้
 
                             ภายหลังนายศรีสุวรรณ นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน หนึ่งในผู้ฟ้อง กล่าวว่า ยอมรับว่าเสียใจกับผลคำพิพากษาที่ออกมา แต่คำพิพากษาศาลที่ออกมาในวันนี้ มีการวางแนวปฏิบัติหลายเรื่อง ซึ่งถือว่าทำให้ภาคประชาชน ต้องเหนื่อยมากขึ้น และศาลก็อาจต้องเหนื่อยมากขึ้น ซึ่งการมาฟ้องศาลอาจมองว่าเรื่องยังไม่เกิด ชาวบ้านต้องรอให้เดือดร้อนจากโครงการก่อนแล้วจึงมาฟ้อง ซึ่งต้องติดตามเป็นรายโครงการ 
 
                             อย่างไรก็ดี ภาคประชาชนจะยังทำหน้าที่ตรวจสอบโครงการ และนโยบายของรัฐ ที่อาจก่อให้เกิดผลปกระทบกับประชาชนต่อไป แม้โครงการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท จะถูกยกเลิกไปแล้วโดยรัฐบาลปัจจุบัน แต่ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลป์ยะ รมว.พาณิชย์ ผู้รับผิดชอบ ก็ได้มีการจัดทำแผนป้องกันน้ำท่วม น้ำแล้ง และน้ำเน่าเสีย ซึ่งก็ต้องถือว่าเป็นยุทธศาสตร์ในการบริหารจัดการน้ำเช่นกัน โดยขณะนี้มีการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ภาคเหนือแล้ว แต่ไม่ครบทุกจังหวัด ดังนั้นสัปดาห์ที่ผ่านมา สมาคม ฯ จึงทำหนังสือท้วงติงถึง พล.อ.ฉัตรชัย ว่าอยากให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างรอบด้าน ซึ่งถือว่าเป็นการตั้งข้อพิพาทของสมาคมแล้ว หากไม่มีการดำเนินการสมาคม ฯ ก็จะฟ้องศาลต่อไป ซึ่งภาคประชาชนจะติดตาม และกัดไม่ปล่อย ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล ถ้าทำให้ประชาชนเดือดร้อน
 
 
 
 
 
 
 
 
logoline

ข่าวที่น่าสนใจ