ข่าว

ไทยกับเลโซโท

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ไทยกับเลโซโท : วันเว้นวันจันทร์ พุธ ศุกร์กับ ประภัสสร เสวิกุล

                 เลโซโท เป็นประเทศเล็กๆ ในทวีปแอฟริกาตอนใต้ มีพื้นที่ประมาณ 3 หมื่นตารางกิโลเมตร หรือประมาณสองเท่าของ จ.อุบลราชธานี ความน่าสนใจของประเทศนี้คือ เป็น 1 ใน 3 ของประเทศในทวีปแอฟริกาที่มีกษัตริย์ทรงเป็นประมุข นอกเหนือจากโมร็อกโก และสวาซิแลนด์ กษัตริย์องค์ปัจจุบันคือ สมเด็จพระราชาธิบดีเลตซี ที่ 3 เลโซโทเป็นเพียงไม่กี่ประเทศในทวีปแอฟริกาที่มีโอกาสได้สัมผัสหิมะ และใช้น้ำจากหิมะที่ละลายลงมา ทั้งนี้ เพราะพื้นที่โดยทั่วไปสูงกว่าน้ำทะเลประมาณ 1,400-1,800 เมตร เลโซโทเป็นประเทศที่ไม่มีปัญหาเรื่องเชื้อชาติ เพราะประชากรที่มีประมาณ 2 ล้านคน ร้อยละ 99.7 เป็นชนเผ่าโซโท ที่เหลือเป็นเอเชียและอื่นๆ ที่แปลกไปกว่านั้นก็คือ เลโซโทตั้งอยู่ในประเทศแอฟริกาใต้ คือถูกล้อมรอบด้วยแอฟริกาใต้ทุกด้าน

                 เลโซโทก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ.2361 โดยมีพระราชาธิบดีโทชูชู ที่ 1 เป็นกษัตริย์พระองค์แรก ต่อมาถูกชนเผ่าซูลูและชาวผิวขาวที่เข้าไปอยู่ในแอฟริกาใต้รุกราน จึงขอความคุ้มครองจากอังกฤษ และเป็นรัฐในอารักขาของอังกฤษ จนถึง พ.ศ.2509 จึง

                 ได้ประกาศเอกราช เป็นประเทศที่มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีกษัตริย์ทรงเป็นประมุข อย่างไรก็ตามความสัมพันธ์ของเลโซโทกับแอฟริกาใต้ก็ไม่ค่อยจะดีนัก มีปัญหาตามแนวชายแดนมาโดยตลอด จนกระทั่ง เนลสัน แมนเดลา เป็นประธานาธิบดีแอฟริกาใต้ และเดินทางไปเยือนเลโซโท ในปี 2538 จึงมีการพัฒนาความสัมพันธ์ตามลำดับ บนพื้นฐานของการมีผลประโยชน์ร่วมกัน ที่สำคัญได้แก่ โครงการสร้างเขื่อนและอุโมงค์ส่งน้ำขนาดใหญ่ เพื่อส่งน้ำจากเลโซโทไปให้แอฟริกาใต้ อันทำรายได้ให้เลโซโทปีละประมาณ 70 ล้านดอลลาร์ และสร้างงานให้ชาวเลโซโทประมาณ 1 หมื่นคน

                 เศรษฐกิจของประเทศเลโซโท นอกเหนือจากการส่งน้ำให้แอฟริกาใต้แล้ว ก็มีการทำเหมืองเพชร และสินแร่อื่นๆ การเกษตรกรรม เช่น การปลูกข้าวโพด ข้าวฟ่าง ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ และการปศุสัตว์ แต่ปัญหาสำคัญของประเทศคือ ผลิตอาหารได้ไม่พอเพียง ต้องนำเข้าจากต่างประเทศถึง 70 เปอร์เซ็นต์ของการบริโภค ทำให้ขาดดุลการค้าปีละประมาณ 900 ล้านดอลลาร์ อย่างต่อเนื่อง

                 ในโอกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ.2549 สมเด็จพระราชาธิบดีเลตซี ที่ 3 แห่งเลโซโท ได้เสด็จฯ มาถวายพระพร และเยือนประเทศไทยในฐานะพระราชอาคันตุกะ ในโอกาสดังกล่าวได้เสด็จฯ ทอดพระเนตรโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำ ที่ จ.เชียงใหม่ และนำแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงกลับไปช่วยเหลือชาวเลโซโท ด้วยความสนับสนุนช่วยเหลือของประเทศไทย ผ่านสำนักงานเพื่อความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ

                 ที่ผ่านมาเกษตรกรเลโซโทแต่ละรายปลูกพืชเพียงอย่างเดียว และพึ่งพาน้ำฝนเท่านั้น แต่เมื่อนำการเกษตรทฤษฎีใหม่ในพระราชดำริไปใช้ ปัจจุบันชาวนาชาวไร่เลโซโทปลูกพืชหลายชนิดในที่ดินแปลงเดียวกัน และรวมกลุ่มกันผันน้ำจากภูเขาในเวลาที่หิมะละลายที่เคยสูญเปล่า มาใช้ประโยชน์ในการเพาะปลูก และแนวคิดที่สำคัญก็คือ การปลูกพืชที่ตนเองสามารถใช้เป็นอาหารได้ ไม่ใช่การแห่ปลูกตามกระแสเพื่อมุ่งแต่จะจำหน่ายเพียงอย่างเดียว เพราะนอกจากคนปลูกจะไม่กินสิ่งที่ตนปลูกแล้วแล้ว ยังทำให้เกิดการตัดราคากันเอง และต้องนำเงินไปซื้ออาหารมากินอีกด้วย 

                 ระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา การเกษตรตามแนวพระราชดำริทำให้เกษตรกรเลโซโทมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และลดการนำเข้าอาหารจากต่างประเทศลง ขณะเดียวกันการส่งออกผลิตภัณฑ์การเกษตรก็มีราคาดีขึ้นด้วย

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ