ข่าว

จรรยาบรรณนายทุนสื่อ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

จรรยาบรรณนายทุนสื่อ : 'จอกอ'จักรกฤษ์ เพิ่มพูล

               พูดกันมายาวนานพอสมควร สำหรับจรรยาบรรณ หรือมาตรฐานความประพฤติของนายทุนสื่อ แต่ก็เป็นการปรับทุกข์กันภายใน สำหรับระดับผู้ปฏิบัติการ เพราะผู้บริโภคข่าวสารอาจมองภาพการทำงานของสื่อไม่ชัด


                ดังนั้น ภาพศพในสภาพอเนจอนาถ ภาพโป๊เปลือย ภาพเด็กและผู้หญิงที่ตกเป็นเหยื่ออาชญากรรม ภาพเด็กที่ตกเป็นผู้ต้องหาคดีอาญา ภาพความรุนแรงในครอบครัว รวมทั้งเรื่องราวเหล่านี้ที่ปรากฏในรูปของข่าว บทความ ความเห็น จึงถูกโยนความผิดให้นักข่าวภาคสนาม หรือผู้ปฏิบัติการข่าว โดยที่ผู้ทรงอิทธิพลตัวจริงคือ นายทุน หรือเจ้าของสื่อ กลับถูกมองข้ามไป

                ไม่ว่าจะเป็นองค์กรวิชาชีพสื่อประเภทใด ที่มีหน้าที่ในการกำกับดูแลจริยธรรม ไม่เคยมีข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมของนายทุนสื่อ หรือผู้ประกอบการสื่อ ด้านหนึ่งเราอาจเชื่อว่าหน้าที่ของนายทุนคือการดูแลด้านธุรกิจ ให้องค์กรสามารถอยู่รอดได้ โดยไม่เกี่ยวข้องกับงานวันต่อวัน หรือเนื้อหาในการนำเสนอ แต่ในความเป็นจริงนายทุนนั่นเอง คือตัวการสำคัญที่ทำให้สื่อละเมิดจริยธรรม ยิ่งหากนายทุนนั้นไม่ได้มีพื้นฐานของความเป็นสื่อมวลชนที่เข้าใจในหลักการ ก็จะยิ่งนำพาให้องค์กรนั้นดิ่งลงเหวเร็วยิ่งขึ้น

                ถ้าจะปรับแนวปฏิบัติขององค์กรสื่อมาเป็นแนวปฏิบัติของนายทุนสื่อด้วย เช่น การพาดหัวข่าวและความนำของหนังสือพิมพ์ ต้องไม่เกินไปจากข้อเท็จจริงในข่าว และต้องสะท้อนใจความสำคัญหรือเนื้อหาหลักของข่าว ในกรณีสื่อหนังสือพิมพ์ หรือการรายงานข่าว หรือเหตุการณ์ ต้องรายงานตามความเป็นจริง ไม่สอดแทรกความคิดเห็นหรือบิดเบือน ไม่คาดเดา ไม่ชี้นำ ไม่สร้างความเข้าใจผิด และไม่ทำให้ผู้ชมผู้ฟังตื่นกลัวเกินเหตุสำหรับสื่อโทรทัศน์ ก็อาจจะละเอียดเกินไปในระดับนโยบาย  

                ถึงแม้ว่า คู่มือจริยธรรมและการกำกับดูแลกันเอง ในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ หรือ Ethical Guideline and Self - regulation for Broadcasting จัดทำล่าสุด โดย มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ (พฤษภาคม 2557) จะพูดถึงหลักจริยธรรมและแนวปฏิบัติตนขององค์กร ซึ่งหมายถึงผู้รับสัมปทาน ผู้ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ ผู้บริหารสถานี ผู้อำนวยการสถานี ผู้ผลิตเนื้อหารายการ ผู้ให้บริการช่องรายการ ผู้รวบรวมช่องรายการ ผู้ประกอบธุรกิจโฆษณา ผู้ประกอบกิจการผู้ให้บริการลูกค้า ก็เป็นหลักการพื้นฐานทั่วไป ที่ยังไม่ได้เจาะจงถึงความเป็นเจ้าของ และยังขาดกระบวนการหลักประกันความรับผิดชอบของเจ้าของสื่อต่อสาธารณชน

                เพื่อให้จรรยาบรรณเป็นคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ให้สามารถปฏิบัติได้จริงจัง ต้องมีกระบวนการให้เจ้าของสื่อลงสัตยาบันเป็นสัญญาประชาคม ว่าจะปฏิบัติตามจรรยาบรรณอย่างเคร่งครัด กรณีที่ผิดคำสัญญา ก็คงเป็นเรื่องของผู้บริโภคข่าวสารที่จะตัดสินว่าองค์กรสื่อนั้นๆ มีความน่าเชื่อถือหรือไม่ ในขณะเดียวกันหากเป็นการกระทำที่เข้าองค์ประกอบความผิดตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 ก็ต้องบังคับใช้ตามบทบัญญัติมาตรา 37 ว่าด้วยการกำกับเนื้อหา โดยอาจถึงขั้นพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตได้
 
                ประเด็นต่อมาคือ องค์กรใดจะมีหน้าที่ในการร่างกติกาให้เจ้าของสื่อยึดถือและปฏิบัติ ถ้าคำนึงถึงองค์กรวิชาชีพที่มีหน้าที่โดยตรง คือ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ล้วนแต่มีฐานะเป็นลูกจ้างหรือพนักงานทั้งสิ้น การร่างกติกาโดยลูกจ้างให้นายจ้างปฏิบัติตามคงเป็นเรื่องยาก แต่ในนัยเดียวกัน ถ้าลูกจ้างที่ทำงานในองค์กรวิชาชีพสื่อที่มีข้อบังคับด้านจริยธรรม และมีมาตรการลงโทษทางสังคม ร่วมกับ กสทช.ที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย เป็นผู้ร่างกติกากลางขึ้น และถือเอากติกานี้เป็นเงื่อนไขสำคัญในการพิจารณาคำขออนุญาต ก็มีความเป็นไปได้

                ในยุคที่นายทุนสื่อท้าทายอำนาจรัฐ ขาดไร้ความรับผิดชอบต่อสังคมเช่นนี้ ความมีอยู่ของจรรยาบรรณเจ้าของสื่อเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนเรื่องหนึ่งในบรรยากาศของการปฏิรูปประเทศ

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ