ข่าว

ฉายานายกฯ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ฉายานายกฯ : วันเว้นวัน จันทร์ พุธ ศุกร์ กับ ประภัสสร เสวิกุล

                 ฉายาหรือชื่ออันเป็นที่เข้าใจว่าหมายถึงนายกรัฐมนตรีของไทยนั้น น่าจะเริ่มต้นที่ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งมีฉายาว่า “จอมพลคนหัวปี” ผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 8 สมัย เป็นเวลานาน เกือบ 15 ปี อันหมายถึงการเป็นจอมพลคนแรกในระบอบประชาธิปไตย จอมพล ป. ยังมีฉายาอื่นอีก เช่น “กัปตัน” ซึ่งเรียกกันในหมู่นักเรียนไทยที่ศึกษาในฝรั่งเศสก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง นอกจากนั้นก็มี “นายกตลอดกาล” และ “ทำเนียบตราไก่” เนื่องจากท่านเกิดปีระกา จึงใช้รูปไก่ตัวผู้เป็นสัญลักษณ์ประจำตัว เช่น ตราประจำพรรคเสรีมนังคศิลาอันเป็นพรรครัฐบาล เป็นต้น


                 ดร.ปรีดี พนมยงค์ ได้ฉายาว่า “ขรัวท่าช้าง” เป็นคำที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม เรียก ดร.ปรีดี ซึ่งในเวลานั้นดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน และมีทำเนียบอยู่ที่ท่าช้าง ส่วน พ.ต.ควง อภัยวงศ์ นายกรัฐมนตรีในช่วงสงรามโลกครั้งที่ 2 อีกท่านหนึ่ง มีฉายาซึ่งนักข่าวตั้งให้ว่า “โหรหน้าสนามกีฬา” เนื่องจากชอบทำนายทายทักเรื่องการเมืองประกอบกับมีบ้านพักอยู่หน้าสนามกีฬาแห่งชาติ ขณะที่นักการเมืองฝ่ายตรงข้ามให้ฉายาว่า “ตลกหลวง” พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ มีฉายาว่า “นายกลิ้นทอง” จากการที่เป็นคนมีวาทศิลป์ดี สามารถโน้มน้าวจิตใจผู้อื่นได้

                 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ - “วีรบุรุษสะพานมัฆวานฯ” ผู้ทำการปฏิวัติ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ใน พ.ศ.2501 มีฉายาซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีคือ “จอมพลผ้าขาวม้าแดง” เนื่องจากชอบนุ่งผ้าขาวม้าแดงในเวลาที่เป็นส่วนตัว ทายาททางการเมือง คือ จอมพลถนอม กิตติขจร มีฉายาว่า “นายกคนซื่อ” และ จอมพลประภาส จารุเสถียร อดีตรองนายกรัฐมนตรี มีฉายาว่า “จอมพลคนสุดท้อง” เนื่องจากหลังจากนั้นก็ได้ยกเลิกยศจอมพล

                 หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ศ.สัญญา ธรรมศักดิ์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยได้ฉายาว่า “นายกพระราชทาน” ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้รับฉายาในช่วงเป็นนายกรัฐมนตรี ว่า “นายกเงินผัน” จากการดำเนินนโยบายผันเงินสู่ชนบท ขณะที่ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ถูกตั้งฉายาว่า “ฤษีเลี้ยงลิง” เนื่องจากความวุ่นวายของลูกพรรค พล.ร.อ.สงัด ชลอยู่ หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ใน พ.ศ.2519 ได้ฉายาว่า “จอว์ส” ตามชื่อภาพยนตร์เกี่ยวกับปลาฉลามยักษ์เรื่องจอว์ส แต่เมื่อ พล.ร.อ.อมร ศิริกายะ ขึ้นมาดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารเรือ พล.ร.อ.สงัด จึงถูกเรียกว่า “จอว์สใหญ่” และเรียก พล.ร.อ.อมร ว่า “จอว์สเล็ก” ซึ่งส่วนหนึ่งอาจจะมาจากรูปร่างของคนทั้งสอง

                 รัฐบาลของ ศ.ธานินทร์ กรัยวิเชียร ได้รับฉายาว่า “รัฐบาลหอย” เนื่องจากมีคณะทหารเป็นเสมือนเปลือกหอยที่คอยคุ้มกัน พล.อ.เกรียงศักด์ ชมะนันทน์ มีฉายาว่า “แกงเขียวหวานใส่บรั่นดี” ตามสูตรอาหารที่ชอบทำ ส่วน พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ คนส่วนมากจะติดคำว่า “ป๋าเปรม” แต่นักข่าวให้ฉายาว่า “เตมีย์ใบ้” เนื่องจากเป็นคนที่พูดน้อย และระมัดระวังคำพูดมาก บุคคลที่มีบทบาทสำคัญอีกคนหนึ่งในช่วงนั้น คือ พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก ถูกเรียกว่า “5 บิ๊กซัน” โดยแปลชื่อ อาทิตย์ เป็นภาษาอังกฤษ ส่วนคำว่า “บิ๊ก” มีที่มาจากคำที่อเมริกันใช้เรียกผู้นำทางทหารและการเมืองของเวียดนาม ในสงครามเวียดนาม คือ นายพลเดือง วัน มินห์ เจ้าของฉายา “บิ๊กมินห์” ผู้นำกำลังโค่นล้มรัฐบาลโง ดินห์ เดียม ในปี พ.ศ.2506

                 พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ มีวลีติดปากว่า “โน พรอบเบลม” ซึ่งเพี้ยนไปเป็น “โน พลอมแพลม” และเนื่องจากชอบขี่รถมอเตอร์ไซค์คันใหญ่ จึงมีอีกฉายาหนึ่งว่า “น้าชาติมาดนักซิ่ง” เมื่อคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ยึดอำนาจจาก พล.อ.ชาติชาย ได้เชิญ นายอานันท์ ปันยารชุน มาเป็นนายกรัฐมนตรี “ผู้ดีรัตนโกสินทร์” ส่วน พล.อ.สุจินดา คราประยูร มีฉายาว่า “บิ๊กสุ” นายชวน หลีกภัย มีฉายาติดตัวมาตั้งแต่เป็น ส.ส.ว่า “มีดโกนอาบน้ำผึ้ง” ด้วยวิธีการพูดที่สุภาพ เฉียบคม แต่เชือดเฉือน

                 นายบรรหาร ศิลปะอาชา ได้ฉายาว่า “เติ้งเสี่ยวหาร” เนื่องจากมีรูปร่างเล็กคล้ายอดีตนายกรัฐมนตรีเติ้ง เสี่ยว ผิง ของจีน พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ นอกจาก “บิ๊กจิ๋ว” แล้ว ก็มี “จิ๋วหวานเจี๊ยบ” ข้ามมาถึง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่มีฉายาว่า “หล่อใหญ่” คู่กับ นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน อดีตผู้ว่าฯ กทม. เจ้าของฉายา “หล่อเล็ก”

                 สำหรับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีคนที่ 29 หรือ “บิ๊กตู่” จะได้รับฉายาว่าอะไรนั้น คงต้องติดตามกันต่อไปครับ
 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ