ข่าว

‘ประยุทธ์’โชว์กำไลแหวนโบราณสั่งรื้อ‘ไมค์แพง’

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

‘ประยุทธ์’สั่งรื้อ‘ไมค์แพง’ออกใช้ของเก่า อารมณ์ดียาหอมนักข่าวโชว์กำไลแหวนโบราณอ้อนขอเวลาทำงาน แจงใช้กฎอัยการศึกเพียงบางมาตรา ลั่นจับตากลุ่มเคลื่อนไหวต้าน

               16ก.ย.2557 เมื่อเวลา 12.50 น. ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า  พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้าคสช. ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมครม.ครั้งที่ 1 / 2557 ถึงกระแสข่าวยกเลิกการใช้ไมโครโฟนราคาแพง ในห้องประชุม 501 และห้องประชุมที่เกี่ยวข้องบนตึกบัญชาการ 1 ว่า ขอให้ใจเย็นๆ ต้องถอดออกให้หมดไปก่อน ทบทวนใหม่ทั้งหมด ยุติกันไปก่อน รอให้คณะกรรมการตรวจสอบ

               ผู้สื่อข่าวถามว่าแสดงว่าไม่เอาตามราคาตัวละ 1.45 แสนบาทใช่หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า มันไม่ใช่ราคานั้น ตอนนี้อยู่ระหว่างการสอบสวนว่าเหมาะสมหรือไม่ และจะใช้ดีขนาดนี้หรือเปล่า วัตถุประสงค์คือให้มีการประชุมแบบเห็นหน้าเห็นตากันเวลาสั่งการเพราะเราต้อเดินสู่ความเป็นประชาคมอาเซียนในอนาคต

               เมื่อถามว่าเบื้องต้นวางไว้หรือไม่ว่าควรอยู่ราคาเท่าไร นายกฯ กล่าวว่า เท่าที่ทราบตอนนี้ชุดไมโครโฟนดังกล่าวเป็นอุปกรณ์ใหม่ และเพิ่งนำเข้ามายังไม่มีราคากลาง ดังนั้นถือว่าราคากลางยังไม่ชัดเจน อยู่ในขั้นต่อรองกัน ซึ่งคณะกรรมการจะไปดูและตรวจสอบว่าขั้นตอนต่างๆถูกต้องหรือไม่ สมควรใช้หรือไม่ แต่เรื่องนี้ตนสั่งยุติทั้งหมดไปแล้วและต้องดำเนินการตรวจสอบให้เสร็จอย่างรวดเร็ว

               เมื่อถามว่าเรื่องนี้ใครเป็นผู้รับผิดชอบ พล.องประยุทธ์ กล่าวว่า อย่าเพิ่งเลย ขอหาข้อมูลก่อนว่ามีความเป็นมาอย่างไร สมมติฐานเป็นอย่างไร สิ่งของต่างๆราคาเป็นอย่างไร วันนี้อย่าเพิ่งให้ตนตอบทั้งหมด อย่างไรก็ตาม เครื่องมือต่างๆในห้องประชุมครม.ชั้น 5 ได้ถอดออกหมดแล้วพูดง่ายๆคือยกเลิก จากนี้จะสอบสวน ถ้าจะใช้เป็นห้องประชุมครม.ก็ใช้โมโครโฟนเก่าติดไปชั่วคราว จากนั้นก็หาใหม่หรือไม่ก็ค่อยว่ากันอีกครั้งหนึ่ง    ผู้สื่อข่าวถามว่าในสัปดาห์หน้าจะใช้เป็นห้องประชุมครม.ที่ตึกบัญชาการ1 ได้หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า มันเหม็นสีและมันยังไม่ค่อยเรียบร้อย

               นายกฯ กล่าวว่า เมื่อเกิดปัญหาขึ้น ตนในฐานะนายกฯก็สั่งให้ตรวจสอบว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร วันนี้อย่าเพิ่งไปลงโทษอะไรกัน เราต้องการให้เกิดความโปร่งใส ดังนั้นเรื่องนี้ต้องดูที่เจตนา ต้องสืบหากันต่อ ขอให้ใจเย็นๆ เมื่อถามย้ำว่าที่ผ่านมาถ้าสื่อไม่ตรวจสอบเรื่องก็คงผ่านไป นายกฯ กล่าวว่า ก็ตรวจสอบไป ตนไม่ได้ว่าอะไร ให้ตรวจสอบกัน แต่บางทีก็ต้องหยุดเสียบ้าง ขณะที่เขากำลังตรวจสอบอยู่ อย่าเพิ่งมาถามว่าตรวจสอบแล้วอย่างไรต่อ จะตอบได้อย่างไรต้องให้เจ้าหน้าที่เขาตรวจสอบก่อน ต้องเรียกหน่วยงานและเรียกคนมาสอบ

               เมื่อถามว่าทุจริตแค่ไหนถึงจะมีการดำเนินการ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ป.ป.ช.มีกฎหมายมีกติกา ก็ต้องดำเนินการตามขั้นตอน ไม่ใช่ให้ตนนำไปฆ่าทิ้ง มันไม่ได้ ต้องดูว่ากฎหมายเขียนไว้อย่างไร ผิดแค่ไหน จะต้องภาคทัณฑ์กักขัง จำขังหรือไล่ออก ต้องเป็นไปทีละอย่าง ถ้าไม่เจตนาจะต้องภาคทัณฑ์หรือไม่ ตัดเงินเดือนหรือไม่ก็ต้องดูในข้อกฎหมาย เรื่องไมโครโฟนก็ยังไม่รู้ ต้องขอเวลาดูก่อน อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมืองพูดก็ต้องฟังเขาบ้าง ถ้ายังไม่ได้ทุจริตก็อย่าเพิ่งไปอะไร


อารมณ์ดียาหอมนักข่าวโชว์กำไลแหวนโบราณ

               พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวด้วยว่า หลังจากเสร็จสิ้นการประชุมคณะรัฐมนตรีแล้ว ตนจะเข้าทำงานที่กองบัญชาการกองทัพบกต่อทั้งวัน     เมื่อผู้สื่อข่าวได้ถามนายกฯถึงเครื่องประดับที่ข้อมือ นายกฯ กล่าวว่า “เป็นกำไลหางช้างที่ใส่อยู่นานแล้ว ก็เป็นความเชื่อตามคนโบราณเขา เราคนไทยเรื่องศาสนาก็เชื่อถือกัน หรือไม่เชื่อ ถ้ามีแล้วจะใส่ไหม” นายกฯ กล่าวพร้อมโชว์กำไลให้กับสื่อมวลชนอย่างอารมณ์ดี

               นอกจากนี้พล.อ.ประยุทธ์ โชว์แหวนทั้ง 4 วง ที่ใส่ด้วยว่า "เป็นแหวนที่ใส่เหมือนเดิม คือแหวนพระ แหวนนโม แหวนสมเด็จ แหวนนพเก้า โดยเมื่อตนแต่งเครื่องแบบต้องย้ายแหวนมาใส่มือขวาทำให้ทำความเคารพไม่ได้ ต้องเปลี่ยนข้าง "

               ผู้สื่อข่าวถามว่าได้แจงบัญชีทรัพสินเครื่องประดับหมดแล้วหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า "แจงหมดแล้ว ไม่เป็นไรหรอก ผมเป็นคนเจตนาดี หรือดูหน้าผมจนมากรึไง หรือรวยมาก"

               เมื่อถามว่าตั้งแต่เป็นนายกฯ จะดูอารมณ์ดีกว่าผบ.ทบ. พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า “ผมอารมณ์ดีตลอด เพียงแต่บางทีต้องอดทนเหมือนกัน ส่วนบรรยากาศที่ทำเนียบรัฐบาลนั้นดีกว่า และนักข่าวประจำทำเนียบรัฐบาลก็เป็นไปได้ที่น่ารักกว่า”

               ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่าหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ ได้ยืนให้สัมภาษณ์นักข่าวที่บริเวณทางเชื่อมตึกสันติไมตรี กับตึกไทยคู่ฟ้าเป็นเวลากว่า 15 นาที โดยผู้สื่อมวลชนจะอยู่ด้านล่างทางเชื่อม ต้องเอื้อมมือถือไมโครโฟนขึ้นไปสัมภาษณ์ และได้ถามกับนายกรัฐมนตรีว่า  "โอกาสหน้าจะให้สัมภาษณ์ในที่ที่สะดวกกว่านี้ได้หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า มันต้องลำบากหน่อย เพราะเวลาไม่ปกติ ตนก็ยืนให้สัมภาษณ์เต็มจอ ไม่แอบ ไม่งั้นไมโครโฟนทิ่มหน้าอีก แต่เดี๋ยวครั้งหน้าจะเตรียมโพเดียมให้"

               “ผมพูดมากก็ไม่ดี อะไรที่ยังไม่ได้ทำพูดไปแล้วเดี๋ยวผมก็โดนตีอีก ทั้งที่คิดไว้หลายเรื่องแล้ว บางเรื่องยังอยู่ในการพิจารณา บางเรื่องอนุมัติไปแล้ว เดี๋ยวเขาก็จะแถลงว่าทำอะไรไปแล้วบ้าง น้อง(สื่อมวลชน) ก็ช่วยกันหน่อยละกัน บางทีพูดในสิ่งที่ยังไม่ได้ทำ ก็โดนวิจารณ์ว่าจะทำไมไหวเหรอ ปีเดียวจะทันเหรอ เป็นอย่างนี้ตลอด ท่านต้องให้เวลาเรานะ บางเรื่องกันมาหลาย 10 ปี เรามาแก้ทุกเรื่อง 4 เดือนที่ผ่านมาเราทำทุกเรื่องนะ ทำแบบรัฐบาลนี่ละ มีรัฐมนตรีแล้วผมก็สั่งเหมือนเดิมว่าจะทำยังไง” นายกฯ กล่าว

               ผู้สื่อข่าวถามว่าในหนึ่งสัปดาห์จะใช้เวลาพักผ่อนวันใดบ้างพล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า อาจจะมีการไปออกกำลังกายกับเพื่อนๆบ้าง เพราะ 4 เดือนที่ผ่านมาไม่เคยหยุดงาน ต่อข้อถามว่าสื่อไม่ใช่ปรปักษ์กับนายกฯ หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า "สื่อถือเป็นมหามิตรของผมอยู่แล้ว รักกันอยู่แล้ว"

               เมื่อถามต่อว่ามีเสียงล่ำลือว่านายกฯ ไม่ชอบหน้าสื่อ นายกฯ ถามกลับว่า "ใครไปพูด ใครปากเสีย แต่บางเวลาผมก็อาจมีอารมณ์เสียบ้าง เช่น บางเรื่องที่อาจจะซ้ำซ้อนเข้ามาแล้วสื่อไม่เข้าใจเรา ผมพยายามพูดเยอะๆ แต่ผมเยอะมันก็เป็นประเด็น"


แจงใช้กฎอัยการศึกเพียงบางมาตรา

               พล.อ.ประยุทธ์  กล่าวถึงการยกเลิกกฎอัยการศึกในพื้นที่บางจังหวัดว่า ที่ประชุมครม.ยังไม่มีการพิจารณา แต่เรื่องนี้ตนเตรียมไว้แล้ว ต้องเตรียมข้อกฎหมายและสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตมาดูก่อน ทั้งสภาวะแวดล้อมทั้งภายในและภายนอก ฝากสื่อช่วยอธิบายว่ากฎอัยการศึกนั้นเราใช้เพียงบางมาตรา ทั้งหมดมี 10 กว่ามาตรา เแต่คนตกใจเพราะคำว่ากฎอัยการศึกโดยเฉพาะต่างชาติมีความตกใจ แต่เรื่องนี้เราอธิบายให้เข้าใจได้ว่าเราใช้แค่ตรงไหน และสิ่งที่เป็นประเด็นนำมาตอบโต้ตอนนี้ ถือว่าขัดแย้งกันทั้งหมด สื่อก็รู้ดี เรื่องนี้มีการปรับกันตลอดเวลาแต่บางครั้งก็พูดไม่ได้

               นายกฯ กล่าวว่า ยืนยันว่ากฎอัยการศึกไม่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจภายในประเทศ แต่อาจมีผลกระทบต่อต่างชาติบ้าง ซึ่งเราต้องเลือกว่าวันนี้เราจะเอาผลประโยชน์ของใครก่อน คนไทยในประเทศที่ตนดูจากโพล 70-80 เปอร์เซ็นต์เห็นด้วยว่าบ้านเมืองเรียบร้อย ประชาชนไม่เดือนร้อน แต่ต้องดูว่ามีผลกระทบต่อการท่องเที่ยวหรือไม่เพราะเมื่อประกาศใช้กฎอัยการศึกตรงนี้ ประกันชีวิตบางบริษัทก็ไม่รับทำ แต่รัฐบาลก็แก้ปํญหาโดยตนอนุมัติงบไปแล้ว 200 ล้านบาทตั้งกองทุนของรัฐเพื่อดูแลนักท่องเที่ยว เพราะเวลามาท่องเที่ยวในประเทศก็มีประกันชีวิตหลายอย่าง

               เมื่อถามว่าในเชิงลึกถือว่าประเทศสงบเรียบร้อยแล้วหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ถ้าในทางบนดินก็ถือว่าโอเค แต่รู้ดีกันว่าในเว็บหรือโซเซียลมีเดียต่างๆหรือการเคลื่อนไหวใต้ดิน เราก็มีการสืบทราบอยู่   เมื่อถามว่าเรื่องชายชุดดำมีการรายงานอะไรมาเพิ่มเติมหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ตอนนี้กำลังสอบสวนอยู่ ข้อมูลต่างๆมาจากประจักษ์พยานและหลักฐาน วัตถุพยานและพยานบุคคล และมีการตรวจสอบขบวนการในเรื่องของเงิน

               เมื่อถามว่านายกฯยังไม่เบาใจในเรื่องความสงบเรียบร้อยในประเทศใช่หรือไม่ นายกฯกล่าวว่า “ผมไม่เบาใจทุกเรื่องเพราะปัญหามันมีอยู่ทุกเรื่อง ทั้งด้านความมั่นคง เศรษฐกิจ ซึ่งปัญหาเศรษฐกิจมีปัจจัยหลายอย่างโดยเฉพาะปัจจัยภายนอก และสถานการณ์เศรษฐกิจโลกยังไม่ดีขึ้นเลย ทั้งยุโรป ตะวันตกและการสู้รบ ทำให้เศรษฐกิจโลกมีผลกระทบ ประเทศไทยก็ได้รับผลกระทบเพราะเราต้องส่งออกสินค้า บางประเทศก็มีสงคราม ดังนั้น ปัญหาเศรษฐกิจไม่ได้ทำให้เราตกอย่างเดียว แต่ทั้งโลกเกิดภาวะตกต่ำ  วันนี้การประเมินตัวเลขของทุกด้านของทุกประชาคมตกต่ำทั้งหมด ต่างคนจึงต่างสนใจว่าทำอย่างไรให้ประเทศตนเองดีขึ้น แม้แต่ประเทศมหาอำนาจ เศรษฐกิจก็ตกลงเช่นกัน”
 

ลั่นจับตากลุ่มเคลื่อนไหวต้าน

               พล.อ.ประยุทธ์  กล่าวถึงแนวทางการสร้างความปรองดองว่า ทุกท่านต้องสร้างแนวคิดร่วมกันกับตน ว่า รัฐบาลคิดอย่างนี้ นายกรัฐมนตรีคิดอย่างนี้ แล้วประชาชนไม่ร่วมมือจะทำอย่างไร ใครที่เป็นแกนนำต่างๆ ยังไม่หยุดแล้วจะแก้ได้อย่างไร อย่ามาไล่ตนข้างเดียว ต้องไปบอกทุกพวก วันนี้ตนถึงบอกว่าตนไม่มีข้าง และทำแบบนี้มาตลอดไม่เคยเบียดเบียนใคร และยอมรับว่าโดนด่าก็ต้องโดน ถ้าว่าไม่อย่างนี้อย่างนั้น แต่ตนต้องการให้ประเทศที่ซ้ายกับขวาหยุดให้ได้ แล้วค่อยปรองดองกันไป หารือพูดคุยกัน ตนก็พาประเทศเดินหน้าไปก่อน

               “ถ้าเราหยุดที่ตีกันแบบนี้ ก็แก้กันอยู่ตรงนี้ มันไปไม่ได้ประเทศก็ตกต่ำทุกวันจะทำยังไง แล้วบอกว่าเหลื่อมล้ำจะทำอย่างไร แก้ปัญหากันมากมาย จะทำอย่างไร สรุปว่าต้องตีกันก่อนใช่ไหม ถึงจะชนะกันได้ถึงจะเดินหน้าประเทศใช่ไหม ซึ่งมันไม่ได้เราต้องหยุดความขัดแย้งให้ได้ และพูดคุยกันปฏิรูปประเทศให้ได้ ประเทศต้องเดิน ทั้งเศรษฐกิจ สังคม และการต่างประเทศ การศึกษาทั้งหมด มีหลายอย่างต้องใช้เวลา ผมก็สั่งไปเยอะ เยอะมากสั่งแบบทหารสั่งล่ะ” นายกฯ กล่าว

               ผู้สื่อข่าวถามว่าได้มีการจับตาความเคลื่อนไหวของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรับมนตรี อยู่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า จับตาดูทุกพวก ทุกคน รวมทั้งสื่อฯด้วย ส่วนจะจับตาความเคลื่อนไหวอย่างไรนั้นตอบไม่ได้ เป็นเรื่องของความมั่นคง เรามี สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) มีหน่วยข่าวเยอะแยะไปหมด มีทั้งคลื่นใต้น้ำ บนน้ำก็มี

               เมื่อถามว่าอยากให้พ.ต.ท.ทักษิณ กลับมาดำเนินคดีที่ประเทศไทยหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ไม่รู้ ตนไม่ทราบ ตนไม่มี ความคิดอะไรทั้งนั้น ใครผิดก็หมายก็ว่ากันไป ตามกฎหมาย


 ‘สรรเสริญ’แจงเพื่อทบทวนราคาจัดซื้อ

               ต่อมาเวลา 14.00 น. พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ทุกครั้งที่พล.อ.ประยุทธ์เน้นเรื่องประสิทธิภาพของการทำงาน ความตั้งใจจริง และความโปร่งใสตรวจสอบได้ ดังนั้นเพื่อป้องกันความสับสนของข้อมูลข่าวสารนายกฯจึงสั่งให้ยุติการจัดซื้อจัดจ้าง และให้ทบทวนใหม่ว่าจะใช้อะไรมาใช้แทนและมีประสิทธิภาพและเหมาะสม ไม่สิ้นเปลืองเงินจนเกินเหตุและความจำเป็น และให้หน่วยงานต่างๆเข้ามาตรวจสอบว่าที่ผ่านมาขั้นตอนต่างๆมีอะไรเกิดขึ้น ส่วนจะให้บริษัทอัศวโสภณ ซึ่งเป็นบริษัทเดิมที่ติดตั้งไมโครโฟนเข้ามาดำเนินการต่อหรือไม่นั้น ตนไม่ทราบ

               “นายกฯไม่อยากให้ลงไปถึงขั้นว่ามีอะไรทุจริตหรือไม่ มันเสียความตั้งใจเพราะเท่าที่ผู้เกี่ยวข้องรายงานทุกคนมีความตั้งใจดี และนายกฯสั่งการว่าเรื่องไมโครโฟน ระบบการติดต่อสื่อสารที่จะต้องมีการประชุมวิดีโอคอนเฟอร์เรนท์ไปยังท้องถิ่นต่างๆ ต้องถ่ายทอดคำสั่งสื่อเห็นหน้าตา เพราะระหว่างการเห็นหน้ากับการได้ยินเสียงอย่างเดียวคนละอารมณ์กัน การเห็นหน้าจะได้รู้ว่าตั้งใจ ทุกคนจึงตั้งใจดีที่จะตอบสนองต่อนโยบายและติดตั้งให้เร็ว แต่ขั้นตอนอยู่ระหว่างการเจรจาต่อรองราคายังไม่เสร็จสิ้น กลับมีการไปเล่าก่อนจึงเกิดปัญหา นายกฯจึงวิงวอนทุกฝ่ายว่าเมื่อทุกอย่างมีการทบทวนและขั้นตอนการจัดซื้อยุติแล้ว ของที่ได้มามีประสิทธิภาพไม่แพงเกินจริง และมีการตรวจสอบของคณะกรรมการแล้ว ก็ขอให้ยุติเพื่อให้รัฐบาลมีกำลังใจทำงานต่อไป ทั้งนี้นายกฯยังฝากขอบคุณสื่อที่ช่วยเป็นหูเป็นตาตรวจสอบเพราะเป็นหน้าที่ อย่าเพิ่งไปมองว่าทุจริต ” พ.อ.สรรเสริญ กล่าว


นายกฯสั่งหั่นเงินเดือนผู้ช่วยรมต.ห้าม"ขรก.ประจำ-การเมือง"ขึ้นป้ายโชว์รูปตัวเอง

               พ.อ.สรรเสริญ แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ครั้งที่1/2557 ว่า นายกรัฐมนตรีมีดำริเกี่ยวกับการเรื่องค่าตอบแทนของผู้ช่วยรัฐมนตรี ซึ่งในอดีตตำแหน่งนี้มีค่าตอบแทนท่านละ 63,800บาท/เดือน ซึ่งสูงกว่าที่ปรึกษาของนายกฯและรัฐมนตรีเสียอีก จึงมอบหมายให้กระทรวงการคลังไปดูว่าค่าตอบแทนเท่าใดจึงจะเหมาะสม ไม่สูงเกินไปแต่เน้นประสิทธิภาพในการทำงาน จึงลดค่าใช้จ่ายลงมาเหลือ ท่านละ 50,000 บาท/เดือน ประหยัดค่าใช้จ่ายได้ 13,800 บาท/เดือน     " มีผู้ช่วยรัฐมนตรีทั้งหมด 30 คน ก็ประหยัดเงินได้สี่แสนกว่าบาทในแต่ละเดือนก็จะได้นำเงินไปใช้อย่างอื่นที่เป็นประโยชน์ " พ.อ.สรรเสริญ กล่าว 

               รองโฆษกฯ กล่าวอีกว่า และที่ผ่านมามีการตั้งที่ปรึกษาค่อนข้างทั้งแบบทางการเและไม่เป็นทางการ พอผ่านไปนานๆก็จำไม่ได้ว่าใครเป็นที่ปรึกษาเป็นทางการหรือไม่เป็นทางการบ้าง ก็มีการพิมพ์นามบัตรไปแจกกัน ก็เพื่อป้องกันความสับสน ดังนั้นที่ปรึกษารัฐมนตรีที่ไม่ได้รับการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการจะเรียนว่าคณะทำงานของรัฐมนตรี เพื่อไม่ซ้ำซ้อนกัน    "นายกฯบอกว่าไม่ต้องไปพิมพ์นามบัตรไปแจกหรอกเพราะที่ปรึกษาเยอะไปหมด มี 70 - 80 คนก็วุ่นวายยปวดหัว ก็แยกกันให้ชัดว่าที่ปรึกษาที่เป็นทางการกับคณะทำงานของรัฐมนตรีที่ไม่เป็นทางการ " พ.อ.สรรเสริญ กล่าว    

               รองโฆษกฯ กล่าวอีกว่า นายกฯยังกล่าวถึงการขึ้นป้ายคัตเอาท์ของข้าราชการการเมมืองและข้าราชการประจำที่ชอบโชว์รูปร่างหน้าตาของท่าน นายกฯบอกว่าไม่ต้องโชว์เพราะมันเป็นเงินภาษีของประชาชนไม่ใช่เงินส่วนตัวของท่าน และทุกคนต้องทำงานตามอำนาจหน้าที่ดูแลพี่น้องประชาชน เป็นการทำงานในหน้าที่ไม่ต้องโชว์ตัวบุคคล     

               "โชว์ว่าท่านได้ทำอะไรไปบ้างดีกว่า เพราะฉะนั้นถ้าอยากจะขึ้นป้ายคัตเอาท์ก็ขึ้นเรื่องงานที่ทำและมีผลต่อการรับรู้ขของประชาชนดีกว่าว่าควรจะรับรู้รับทราบเรื่องอะไรบ้าง ไม่ต้องโชว์ตัวนะครับ"พ.อ.สรรเสริญ กล่าว    

               ส่วนว่าหากไม่ปลดป้ายจะมีโทษหรือไม่ พ.อ.สรรเสริญ กล่าวว่า "คนเป็นรัฐมนตรี คนเป็นข้าราชการกระทรวงทบวงกรมก็ระดับผู้ใหญ่ คงไม่มีใครขึ้นคัตเอาท์หรอก ส่วนนักการเมืองท้องถิ่นก็เป็นเรื่องวุฒิภาวะของท่าน    " ท่านนายกฯขอให้ทำแบบนี้ ถ้าท่านคิดว่าท่านไม่อยากทำ ยังฝืนอยู่สังคมก็โลกะวัตชะ โลกติเตียน เจ้านายเขาบอกแล้วว่าอย่าขึ้น ให้ขึ้นเรื่องงาน แล้วยังจะไปขึ้นอยู่ทำแมวอะไร " พ.อ.สรรเสริญ กล่าว    

               พ.อ.สรรเสริญ กล่าวอีกว่า และนอกจากนี้เรื่องการดูงานในประเทศและต่างประเทศ นั้นนายกรัฐมนตรีมีความกังวล2เรื่อง ที่มีการติงมาว่าคณะดูงานหน่วยงานไหน กระทรวงทบวงกรม คณะกรรมาธิการก็ตามที่ชอบจะขอลดวาระการดูงานลง ทั้งที่เจ้าภาพเขาเตรียมให้ไปดูงานเต็มที่เพื่อศึกษาดูรายละเอียด ได้ข้อมูลข้อเท็จจริงในการนำมาใช้ในการทำงาน    " แต่นี่พอไปถึงก็ไปขอลดเขา จาก3ชั่วโมงเหลือ 2 ชั่วโมงนะแล้วก็หายๆกันไป ต่อไปนี้ไม่ได้ทุกหน่วยงานเมื่อเขาจัดให้แบบไหนต้องดูให้ครบตามนั้น เมื่อไปกลับมาแล้วจะอยชายกลับมาเฉยๆไม่ได้ ต้องมีรายงานที่แบ่งเป็น 3 ระดับ ถ้ารัฐมนตรีไปต้องรายงานถึงนายกฯ ถ้าปลัดกกระทรวงไปรายงานต้องถึงรัฐมนตรี ถ้าต่ำกว่านั้นรายงานต้องถึงหัวหน้าหน่วยงาน จะต้องเขียนอธิบายว่าท่านไปดูอะไร ของเขาเป็นอย่างไร แล้วบ้านเราตรงหรือแตกต่างกัน ใครมีข้อดีเสียออย่างไรแล้วเราจะปรับแก้ไขอย่าง แต่ไม่ใช่เอาของเขามาทั้งหมด ก็จะทำให้การเดินทางไปดูงานเกิดผลสัมฤทธิ์มากขึ้น " พ.อ.สรรเสริญ กล่าว

 

'สมคิด'หนุนยุทธศาสตร์ชาติของวปอ.56


                นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ฐานะประธานคณะทำงานปฏิรูปด้านการเมือง ตามมติของที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เปิดเผยว่าในวันที่ 17 ก.ย. เวลา 16.00 น. คณะทำงานได้นัดประชุมรอบแรกเพื่อหารือและวางกรอบศึกษา เบื้องต้นตนได้มอบหมายให้นายบุญส่ง อัครธรรมกุล ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายศิษย์เก่าสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดำเนินการศึกษาตามกรอบ 3 ด้าน คือ การเลือกตั้ง, พรรคการเมือง และคณะรัฐมนตรี ทั้งนี้จะนำผลการศึกษาที่มีอยู่ อาทิ ส่วนของสถาบันพระปกเกล้า, ร่างการปฏิรูป ที่ทำโดย นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกฯ , นายคณิต ณ นคร ประธานกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.), นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส เป็นต้นมาศึกษา คาดว่าจะใช้เวลาศึกษาประมาณ 1 เดือน ถึง 1 เดือนครึ่ง ก่อนที่จะนำเสนอต่อ ทปอ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป ส่วนข้อเสนอปฏิรูปประเทศที่มาจากคณะนักศึกษาวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) 2556 ที่เกี่ยวข้องกับการเมือง โดยเฉพาะการคัดเลือกบุคคลที่เก่ง และดีเข้าสู่อำนาจนั้น ถือเป็นสิ่งที่หลายฝ่ายเห็นตรงกัน แต่ท้ายสุดจะได้ข้อสรุปเช่นไรขึ้นอยู่กับที่ประชุมจะพิจารณาและลงมติร่วมกัน อย่างไรก็ตามตนขอปฏิเสธการเสนอตัวเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ในโควต้าของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาต (สนช.) เพราะเคยผ่านการยกร่างรัฐธรรมนูญมาแล้วถึง 2 ฉบับ ทั้งนี้ตนเห็นว่ายังมีบุคคลที่มีความเหมาะสมต่อการเข้ามายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เช่น นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า, นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อดีตอธิการบดีสถาบันพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เป็นต้น

                นายสมคิด กล่าวว่า ตนไม่เป็นห่วงต่อประเด็นที่จะนำแนวทางปฏิรูปที่เคยมีการศึกษามาปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม เพราะก่อนหน้านี้ที่แนวทางการปฏิรูปไม่สามารถนำมาปฏิบัติใช้จริงได้ เพราะยังไม่เคยมีการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ แต่ปัจจุบันการปฏิรูปที่ดำเนินการนั้น มาพร้อมกับการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จึงเชื่อว่าข้อกังวลดังกล่าวไม่มีปัญหา

                ด้านนายโคทม อารียา ผู้อำนวยการศึกษาสันติวิธีและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล ฐานะประธานคณะทำงานปฏิรูปด้านการต่อต้านการคอร์รัปชั่น กล่าวว่าคณะทำงานได้มีการหารือและวางกรอบการปฏิรูปแล้วคือ จะให้องค์กรที่เกี่ยวข้อง อาทิ สถาบันการศึกษา, มหาวิทยาลัย, องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.), คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.), พรรคการเมือง ร่วมจัดตั้งและเครือข่ายภายในองค์กรของตนเอง เพื่อดำเนินการตรวจสอบและกำกับองค์กรของตนเองในเรื่องต่างๆ ให้มีความโปร่งใส โดยเครือข่ายภายในองค์กรดังกล่าวต้องประกอบด้วยภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น เครือข่ายมหาวิทยาลัย จะมีสมาชิกองค์กรที่ประกอบด้วย อาจารย์, นักศึกษา, ข้าราชการหรือพนักงานของสถาบัน ส่วนแนวทางปฏิบัตินั้นคณะทำงานจะหารืออีกครั้งในการประชุมรอบต่อไป

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ