ข่าว

‘สมยศ’ยันมีหลักฐาน‘กริชสุดา’โอนเงิน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

‘สมยศ’ยันมีหลักฐาน‘กริชสุดา’โอนเงิน แต่ไม่ชัดค่าอะไร โพลล์หนุนการทำงานรูปแบบคสช. ประชาชนพอใจการสร้างความปรองดอง

                ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.)  วันที่ 14 กันยายน  พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) กล่าวถึงกรณีวิดีโอคลิปของ น.ส.กริชสุดา คุณะเสน หรือ เปิ้ล สหายสุดซอย ที่ออกมาปฏิเสธว่าไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจ้างวานชุดดำ 5 คน ที่ถูกตำรวจจับกุมได้เมื่อวันที่ 11 กันยายน ที่ผ่านมา ว่า สำหรับเรื่องนี้ น.ส.กริชสุดามีสิทธิ์ที่จะออกมาปฏิเสธ ซึ่งเรื่องดังกล่าวตนไม่ได้กล่าวหาว่า น.ส.กริชสุดาเป็นผู้จ้างวานชายชุดดำ แต่เนื่องจากการตรวจค้นบ้านพักของ น.ส.กริชสุดา พบสลิปการโอนเงินที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการโอนเงินให้หนึ่งในผู้ต้องหาที่ถูกจับกุมได้เท่านั้น จึงเป็นการตั้งข้อสังเกตว่า น.ส.กริชสุดา อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ อย่างไรก็ตาม ยังไม่สามารถระบุได้แน่ชัดว่า เงินที่โอนเข้าบัญชีมานั้นเป็นเงินค่าอะไร หรือเป็นเงินที่ทาง นปช.ชอบเรียกว่า เงินเยียวยา ก็ได้ ซึ่งเราก็ไม่ทราบจุดประสงค์ของเงินในจำนวนดังกล่าว โดยขอให้ตำรวจจับกุม น.ส.กริชสุดาให้ได้ก่อน จึงจะทราบว่าเงินตรงนี้เป็นเงินค่าอะไร ทั้งนี้ ทางเรายังไม่ทราบแน่ชัดว่า ขณะนี้ น.ส.กริชสุดาพักอาศัยอยู่ที่ประเทศไหนด้วย

                พล.ต.อ.สมยศ กล่าวต่อว่า กรณีที่นายถาวร เสนเนียม อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ออกมายืนยันว่า ชายชุดดำมีอยู่จริง โดยมี 4 คนที่ติดต่อมา และบอกเล่าข้อเท็จจริงว่ามีใครบ้างอยู่เบื้องหลัง พร้อมกับขอเงิน 5 ล้านบาท เพื่อแลกกับการเปิดเผยความลับ ว่า เรื่องนี้ไม่ทราบถึงข้อเท็จจริง แต่ถ้าหากต้องการเข้าให้การต่อตำรวจก็ต้องมีการเตรียมหลักฐาน ไม่ใช่มาพูดจาว่าตัวเองเป็นชายชุดดำ แต่กลับไม่มีหลักฐานมายืนยันว่าในวันที่เกิดเหตุอยู่ที่ไหน ทำอะไรบ้าง ซึ่งต้องมีหลักฐานมายืนยันให้แน่ชัด และหากประสานขอเข้าให้การต่อตำรวจ ทางเราก็จะต้องมีการเช็กข่าวให้รอบด้าน เพื่อไม่ให้ถูกหลอก และเพื่อความชัดเจนของคดีอีกด้วย


โพลล์หนุนการทำงานรูปแบบคสช.

                รศ.ดร.เชษฐ รัชดาพรรณาธิกุล รองประธานชมรมนักวิจัยไทยเพื่อความสุขชุมชน  เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจมาสเตอร์โพลล์ (Master Poll) เรื่อง แกนนำชุมชนคิดอย่างไรต่อ การทำงานในรูปแบบ คสช. กับ การทำงานในรูปแบบรัฐบาล และความคิดเห็นต่อการจัดระเบียบชายหาด กับไมค์แพงที่ทำเนียบรัฐบาล กรณีศึกษาตัวอย่างแกนนำชุมชนทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 600 ชุมชน ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 11-13 กันยายน 2557 ที่ผ่านมา ผลการสำรวจพบว่า

                ที่น่าพิจารณาคือ เมื่อถามถึงสิ่งที่แกนนำชุมชนอยากบอกรัฐบาล คสช.ในเวลานี้มากที่สุด พบว่า ร้อยละ 27.5 อยากบอกให้ระวังหลุมพรางที่อยู่ในระบบราชการ ทำให้ล่าช้าต่อการแก้ปัญหาชาวบ้าน ขณะที่ร้อยละ 20.6 อยากบอกให้ระวังการหยิบยื่น อำนาจ เงินตรา นารี การยกย่องเชิดชูจากกลุ่มข้าราชการ นายทุน และคนแวดล้อม ร้อยละ 17.4 อยากบอกว่า ไม่มีเวลาฮันนีมูน หาความสุขจากตำแหน่ง แต่ให้ทำงานลงพื้นที่แก้ปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้านทันที อย่างไรก็ตาม เพียงร้อยละ 34.5 ระบุไม่มีอะไรต้องบอก ทุกอย่างดีอยู่แล้ว

                ที่น่าสนใจคือ เมื่อถามถึงความคิดเห็นต่อรูปแบบการทำงานแบบ คสช. กับรูปแบบการทำงานแบบรัฐบาลว่า รูปแบบไหนดูดีกว่า ดูจริงจังมากกว่า ผลสำรวจพบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 84.6 เลยทีเดียวที่ระบุว่า คิดว่าการทำงานแบบ คสช. ดูดีกว่า ดูจริงจังมากกว่า ในขณะที่ ร้อยละ 15.4 คิดว่า การทำงานแบบรัฐบาลดูดีกว่า ดูจริงจังกว่า


ประชาชนพอใจการสร้างความปรองดอง

                “สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จำนวน 1,534 คน ระหว่างวันที่ 8-13 กันยายน 2557 ในหัวข้อ "การสร้างความปรองดอง” ของคนไทย ณ วันนี้ สรุปผลได้ ดังนี้

                ประชาชนพึงพอใจต่อ “การสร้างความปรองดอง” ณ วันนี้ มากน้อยเพียงใด พบว่า อันดับ 1 พึงพอใจ 43.16% เพราะประชาชนตื่นตัว มีส่วนร่วมมากขึ้น การทะเลาะเบาะแว้งและการชุมนุมเคลื่อนไหวลดน้อยลง ฯลฯ อันดับ 2 พึงพอใจมาก 38.14% เพราะสถานการณ์โดยรวมดีขึ้น บ้านเมืองเป็นระเบียบและสงบสุข ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ ฯลฯ อันดับ 3 ไม่ค่อยพอใจ 12.32% เพราะยังมีการสร้างกระแส ปล่อยข่าว โจมตีกันไปมา หลายฝ่ายที่กระทำผิดยังไม่มีการลงโทษ ฯลฯ อันดับ 4 ไม่พอใจเลย 6.38% เพราะถูกปิดกั้น ควบคุม ขาดความเป็นอิสระ เป็นปัญหาที่แก้ไขยาก ฯลฯ

                ส่วนข้อเสนอแนะต่อ “การสร้างความปรองดองที่ยั่งยืน” คือ อันดับ 1 รณรงค์ กระตุ้น ปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรม สร้างจิตสำนึกที่ดีตั้งแต่วัยเยาว์ 80.18% อันดับ 2 เปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น 77.44% อันดับ 3 ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม เน้นความยุติธรรมและสร้างความเท่าเทียม 74.25% อันดับ 4 รัฐบาลต้องดำเนินงานอย่างจริงจังและต่อเนื่อง โดยใช้กฎหมายเป็นหลัก 71.12% อันดับ 5 ควรต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นที่มีอยู่ในสังคมทุกรูปแบบ 61.28%


เด็กเพื่อไทยจี้มหาดไทยเร่งอนุมัติงบฯท้องถิ่น

                นายอำนวย คลังผา อดีตประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล(วิปรัฐบาล) และอดีตส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ขณะนี้ได้รับร้องเรียนจากองค์กรบริหารส่วนตำบล(อบต.) เรื่องงบประมาณท้องถิ่นของอบต.ที่ยังมาไม่ถึง ตอนนี้ชาวบ้านเดือดร้อน ถนนเสียหาย สะพานขาด เข้าบ้านไม่ได้ จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือกระทรวงมหาดไทย กรมปกครองส่งเสริมส่วนท้องถิ่น ช่วยเร่งติดตาม อนุมัติงบประมาณในส่วนนี้ด้วย ขณะนี้เข้าสู่เดือนก.ย.แล้ว จะไม่ทันการจัดซื้อจัดจ้างเพื่อซ่อมแซมและพัฒนาท้องถิ่น จึงขอให้เร่งอนุมัติงบประมาณส่วนนี้ให้กับอบต.ทั่วประเทศ ตามนโยบายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ที่เร่งเบิกจ่ายงบประมาณปี 57 ด้วย ทั้งนี้การที่เงินส่วนท้องถิ่นยังมาไม่ถึงมือ อบต.นั้น ตนขอตั้งข้อสังเกตว่ามีการนำเงินส่วนนี้ ไปใช้ทำอย่างอื่นหรือไม่ อย่างไร


ประธานสภาอบจ.โคราชยื่นหนังสือลาออก

                จากกรณีสภาท้องถิ่น ได้ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี กำหนดหลักเกณฑ์การจัดตั้งจังหวัดใหม่ และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ 2548 ให้องค์กรปกครองส่วนถิ่น (อปท. ) ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นจากสมาชิกสภา ฯ ว่ามีเหตุความจำเป็น ผลดี ผลเสีย สมควรให้คำรับรองหรือไม่ ได้เกิดขึ้นภายหลังสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) นครราชสีมา ได้เปิดประชุมสมัยสามัญ ครั้งที่ 2/2557 ในวาระการพิจารณาเรื่องการเสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จัดตั้งจังหวัดบัวใหญ่ โดยมี 8 อำเภอของ จ.นครราชสีมา ผนวกเข้าด้วยกัน ประกอบด้วย อ.บัวใหญ่ บ้านเหลื่อม ประทาย คง โนนแดง แก้งสนามนาง บัวลาย และสีดา ซึ่งสมาชิกสภา  39 คน จากจำนวนทั้งสิ้น 48 คน มีมติเห็นชอบ 32 เสียง และงดออกเสียง 7 เสียง 

                เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 14 ก.ย. 57  ที่ศูนย์ส่งเสริมอาชีพเทศบาลตำบลโพธิ์กลาง อ.เมือง จ.นครราชสีมา   นายกิติพงศ์  พงศ์สุรเวท ประธานสภา อบจ.นครราชสีมา ได้ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่ง กับนายธงชัย  ลืออดุลย์ ผวจ.นครราชสีมา โดยให้มีผลหลังวันที่ 30 กันยายน นี้ ท่ามกลางความตกตะลึงของบรรดาผู้ที่รู้จักมักคุ้นกับนายกิติพงศ์ 
 
                นายกิติพงศ์  กล่าวว่า สาเหตุที่ขอลาออก เพื่อต้องการคลี่คลายสถานการณ์ ไม่ให้เกิดความขัดแย้งกันในกระแสคัดค้านการแบ่งแยกจังหวัดนครราชสีมา ออกเป็นจังหวัดบัวใหญ่ จังหวัดที่ 78 ของประเทศ ซึ่งมีแนวโน้มความขัดแย้งลุกลาม  

                “อบจ.นครราชสีมา ได้ปฏิบัติตามหน้าที่ และขั้นตอนกระบวนการของกฎหมาย การลงมติเห็นควรจัดตั้งจังหวัดบัวใหญ่ อาจส่งผลกระทบต่อความรู้สึกของชาวโคราช จนเกิดเป็นกระแสความขัดแย้งในพื้นที่ ที่มีความคิดเห็นต่าง กระบวนการครั้งนี้ เป็นเพียงขั้นตอนเริ่มต้นเท่านั้น  จึงขอรับผิดชอบ โดยไม่ละเลยความรู้สึก และให้เกิดความสบายใจ ต้องการให้เกิดบรรยากาศความเรียบร้อยสงบสุข ชาวบ้านมีความปรองดอง รักสามัคคี  การทำเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน แม้นจะอยู่ในฐานะใด ตำแหน่งใดก็สามารถทำได้ ”  นายกิติพงศ์  กล่าว 
 
                นายธงชัย  กล่าวว่า การจัดตั้งจังหวัดต้องมีการออกกฎหมายเป็นพระราชบัญญัติ  ขั้นตอนต้องไปสิ้นสุดที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งจะมีสมาชิกอภิปรายกว่า 200 คน โดยไม่ใครสามารถบังคับควบคุมความคิดเห็นในสภา ได้ นอกจากนี้การจัดตั้งจังหวัด ยังเกี่ยวข้องกับงบประมาณ การเสนอพระราชบัญญัติ เข้าสภาได้ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ การกระทำของ อบจ.นครราชสีมา ดำเนินไปตามขั้นตอนของกฎหมาย และ มติ ครม. ที่จะต้องแสดงความเห็น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการ

                ด้านนายวินัย  กีรติอุไร อายุ 35 ปี เจ้าของเพจกลุ่มชาวโคราชคัดค้านการแบ่งแยกจังหวัดบัวใหญ่ กล่าวว่า ช่วงกฎอัยการศึก การเคลื่อนไหวแม้นไม่ได้เกี่ยวข้องกับการต่อต้านรัฐประหาร พบอุปสรรค แกนนำถูกเจ้าหน้าที่รัฐด้านความมั่นคงจับตามองอย่างใกล้ชิด พร้อมกำชับห้ามกระทำที่หมิ่มเหม่  แม้นจะทำป้ายไวนิล แสดงข้อความ “ ชาวโคราช คัดค้านการตั้งจังหวัดบัวใหญ่ ” ยังถูกห้ามดำเนินการ แกนนำจึงได้หารือ โดยจะทำหนังสือผ่านนายธงชัย  ลืออดุลย์ ผวจ.นครราชสีมา เพื่อส่งต่อ พล.ต วุฒิ  แสงจักร ผบ.มทบ.21 กองทัพภาคที่ 2 ฐานะ ดูแล รับผิดชอบความสงบเรียบร้อยในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ให้รับทราบถึงวัตถุประสงค์การเคลื่อนไหวที่ไม่เกี่ยวข้องหรือมีนัยยะกับการเมือง
 
                ขณะที่เครือข่ายสังคมออนไลน์ ทั้งเฟสบุ๊ค และไลน์กว่าร้อยละ 90 แสดงความคิดเห็นไม่ต้องการให้แบ่งแยกจังหวัด แกนนำได้เตรียมจัดกิจกรรมเพื่อระดมนักรบในโลกออนไลน์ ที่เคลื่อนไหวอยู่บนหน้าจอ ให้ออกมาสำแดงพลังไม่เห็นด้วยกับการแยกแผ่นดินหลานย่าโม ซึ่งจะนัดหมายให้ชาวโคราช สวมเสื้อสีแสด สีประจำจังหวัด ให้ได้มากที่สุด เพื่อแสดงสัญลักษณ์ในเร็วๆนี้ พร้อมตระเวนจัดกิจกรรมตามสถานศึกษา แหล่งชุมชน เพื่อบอกเล่าถึงความผูกพันระหว่างชาติพันธุ์ และขนบธรรมเนียมประเพณีชาวโคราช ทั้ง 32 อำเภอ ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันค่อนข้างชัดเจน รวมทั้งความภาคภูมิใจที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวจังหวัดนครราชสีมา เมืองประตูหน้าด่าน 20 จังหวัดภาคอีสาน โดยที่มีพื้นที่ใหญ่สุดในภูมิภาค และเปิดให้ลงรายชื่อไม่เห็นด้วย

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ