ข่าว

ย้อนรอย'เสียบบัตรแทนกัน'จุดตายร่างกฎหมายรัฐบาล

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ย้อนรอย'เสียบบัตรแทนกัน' จุดตายร่างกฎหมายรัฐบาล : ขนิษฐา เทพจรรายงาน

               “ศาลพิจารณาพยานหลักฐานที่ได้จากการไต่สวน ฟังข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติได้ว่า นายนริศร ทองธิราช อดีต ส.ส.สกลนคร พรรคเพื่อไทย ได้ใช้บัตรแสดงตนและออกเสียงลงคะแนนแทน ส.ส.รายอื่น ในการประชุมสภา เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2556 พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ.... ซึ่งถือว่าเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 122 และ 126 ดังนั้นศาลรัฐธรรมนูญจึงมีมติเสียงข้างมาก 6  ต่อ 2 เห็นว่า ร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ.... ตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ”

               นี่เป็นเพียงบางช่วงบางตอนของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ตามที่มีผู้ยื่นคำร้องให้วินิจฉัยว่า ร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ.... หรือ ร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน วงเงิน 2 ล้านล้านบาท ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยข้อสรุปท้ายสุดคือ “ร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาทนั้น ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ หรือแปลง่ายๆ ว่า ร่างกฎหมายนี้ไม่มีผลทางปฏิบัติต่อไป

               แต่นี่ไม่ใช่เป็นปรากฏการณ์ครั้งแรก ที่ “สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ฟากรัฐบาล” ทำผิดกติกา จนเป็นเหตุให้มีผู้แอบบันทึกภาพ และนำไปยื่นประกอบคำร้องให้ “ศาลรัฐธรรมนูญ” พิจารณาวินิจฉัย และเกิดผลให้ร่างกฎหมายสำคัญที่รัฐบาลของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร วางเป้าเป็นผลงานชิ้นโบแดง เพื่อปูทางไปสู่เป้าหมายสูงสุด พังครืน-ล้มไม่เป็นท่า!

               อย่างรอบกดบัตรแทนกันที่เป็นต้นเหตุทำให้ ร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาทตกไปนั้น พบว่า “รังสิมา รอดรัศมี อดีต ส.ส.สมุทรสงคราม พรรคประชาธิปัตย์” เป็นผู้บันทึกและนำมาเผยแพร่ โดยเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2556 ระหว่างการประชุมสภา เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท วาระที่สอง ซึ่งขณะนั้นเป็นการลงมติจากสมาชิกสภาว่าเห็นด้วยหรือไม่กับบทบัญญัติของมาตรา 6 โดยภาพในคลิปประจักษ์ชัดว่า “นริศร” เสียบบัตรลงคะแนนแทน ส.ส.คนอื่น

               พฤติกรรมต่อมา.. ปรากฏในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2556 ที่พิจารณาคำร้องว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย กลุ่มมาตราที่ว่าด้วยที่มาของสมาชิกวุฒิสภาว่าเข้าข่ายเป็นการกระทำเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิถีทางที่ไม่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 68 วรรคหนึ่ง หรือไม่ โดยมีคำวินิจฉัยในประเด็นกระบวนการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าถูกต้องตามกระบวนการพิจารณาหรือไม่ ซึ่งผู้ร้องได้หยิบยกพฤติกรรมการเสียบบัตรแสดงตนและลงคะแนนแทนกันของ “นริศร"  หน้าเก่าเจ้าเดิม

               ต่อประเด็นนี้ ศาลได้มีคำวินิจฉัยสรุปความได้ว่า พฤติกรรมของนายนริศร ที่ใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์หลายใบเสียบในช่องลงคะแนนและแสดงตน เป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักการใช้สิทธิ์ออกเสียง ที่ ส.ส. 1 คนย่อมมีสิทธิ์ออกเสียงเพียง 1 เสียง ตามรัฐธรรมนูญ 126 วรรคสาม กำหนด นอกจากนั้นแล้ว พฤติกรรมนั้นยังถือเป็นการละเมิดหลักการพื้นฐานของการเป็น ส.ส. ที่ต้องปฏิบัติหน้าที่โดยไม่อยู่ภายใต้อาณัติ หรือการครอบงำใด รวมถึงต้องปฏิบัติตนด้วยความชื่อสัตย์สุจริตเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของปวงชนชาวไทย จากประจักษ์พยาน และพฤติกรรมที่ศาลฯ ไต่สวนข้อเท็จจริงพบ ทำให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ กลุ่มมาตราว่าด้วยที่มา ส.ว.ต้องเป็นอันพังพาบไป เพราะเนื่องด้วยปมกระบวนการตราที่มิชอบด้วยกฎหมาย

               ต้นเหตุที่มาของคลิปเสียบบัตรแทนกันรอบนี้ ทางพรรคประชาธิปัตย์ ฐานะฝ่ายค้านในรัฐสภา ได้นำมาเปิดเผยต่อสื่อมวลชน เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2556 ว่า พบ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลกดบัตรแทนกันระหว่างการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ กลุ่มมาตราที่มาของ ส.ว. จำนวน 2 ช่วง คือ ช่วงแรก วันที่ 10 กันยายน 2556 เวลา 17.33 น.ขณะการลงมติในมาตรา 9 และช่วงที่สอง เกิดเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ เวลา 16.43 น. ขณะลงมติมาตรา 10 

               นอกจากนั้นยังพบพฤติกรรมกดบัตรแทนกันอีกหลายกรณี ได้แก่ ช่วงพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาญาจักรไทย มาตรา 291 ช่วงเดือนเมษายน 2555 ที่ “รสนา โตสิตระกูล” ส.ว.กทม. นำภาพนิ่งที่อ้างว่าเป็น “ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล” เอื้อมแขนมากดปุ่มบนโต๊ะที่อยู่ด้านหลังที่นั่ง และ “อดีต ส.ส.จอมแฉ" ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ พรรครักประเทศไทย นำคลิปวิดีโอที่ระบุว่าเป็นการบันทึก ส.ส.จำนวน 8 คน แบ่งเป็นฝ่ายรัฐบาล 6 คน และต่างพรรครัฐบาล 2 คน ที่มีพฤติกรรมเสียบบัตรแทนกัน มาเปิดเผยต่อสื่อ และจากภาพหลักฐานรอบนั้น “บรรดา ส.ส.พรรคเพื่อไทยถึงกับนั่งไม่ติด และต้องออกมาชี้แจงตอบโต้"

               อย่าง “วรชัย เหมะ" อดีต ส.ส.สมุทรปราการ ชี้แจงยอมรับว่า ไม่มีใครที่นั่งกับที่ได้ถึง 24 ชั่วโมง และช่วงที่ประธานที่ประชุมเรียกให้แสดงตนมี ส.ส.และส.ว.ที่ทำธุระนอกห้องประชุมเดินมากดบัตรแสดงตนไม่ทัน ก็ต้องให้เพื่อนมากดบัตรแทนให้ จึงเป็นผลให้รอบนั้นมีการตั้งคณะกรรมการร่วมรัฐสภาเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและสอบจริยธรรรม เช่นเดียวกันกับการประชุมสภาเพื่อลงมติ ร่าง พ.ร.บ.วิชาชีพสังคมสงเคราะห์ ในวาระสาม เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2555 ที่พบการกดบัตรแสดงตนแทนกัน จนทำให้ต้องใช้กลไกกรรมาธิการกิจการสภา และให้พรรคการเมืองในสภาส่งตัวแทนมาร่วมตรวจสอบ

               แต่บทสรุปก็ไม่มีการผลตรวจสอบ หรือการเอาผิดใครได้ ทั้งในทางกฎหมายหรือทางจริยธรรม !!

               หากมองถึงพฤติกรรมของสมาชิกในสภาหินอ่อน ที่ลักไก่ ถือสิทธิ์หลายเสียง ไม่ได้มีแค่อดีต ส.ส.สายอีสาน - “นริศร” เท่านั้น หากพลิกแฟ้มประวัติศาสตร์การเมืองไทยผ่านสายตาของ “ศรีราชา เจริญพานิช" ผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนไว้ว่า “เรื่องการเสียบบัตรแทนกัน ได้ยินมานานเป็น 10 ปี ไม่ใช่เรื่องใหม่ ผมมองว่าเป็นเรื่องที่ผิด แต่หากถามว่าจะแก้ได้ไหม ก็ต้องไปแก้ที่ตัว ส.ส. ที่เขาต้องตระหนักในการทำหน้าที่ของตัวเอง”


"นริศร" ยันเป็นเหยื่อการเมือง

               นายนริศร ทองธิราช อดีต ส.ส.สกลนคร เปิดเผยว่า ถือเป็นเกียรติอันสูงยิ่งที่ตนได้เป็นเหยื่อทางการเมืองคนหนึ่ง แต่ก็ไม่เป็นไร วันนี้นักกฎหมายงงกันทั้งประเทศ เพราะการตัดสินแบบไม่มีหลักการ เรื่องที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องของระบบอิเล็กทรอนิกส์ แต่ที่สงสัยก็คือ ส.ส. 500 คน ส.ว. 150 คน แต่กลับมีรูปของตนคนเดียวเป็นหมื่นกว่ารูปถูกเผยแพร่ไปทั่วโลก ไม่รู้ว่าคนปล่อยไปนั้นต้องการอะไร ทำให้อยู่ๆ ก็เลยดัง

               ทั้งนี้ กระบวนการไต่สวน ตนจึงกลายเป็นจำเลยของการเมืองที่ไม่มีผู้เสียหาย แต่เรื่องนี้ไม่ใช่สาระสำคัญ ตนจึงแสดงเจตนารมณ์กับแกนนำพรรคว่า อยากจะหยุดสักระยะ เพราะเห็นการใช้อำนาจอธิปไตยที่ไม่มีมาตรฐาน ซึ่งพรรคก็บอกให้ตนเสนอชื่อคนในครอบครัวมาลงแทน จึงเสนอชื่อภรรยาและบุตร แต่บุตรอายุขาดไปอีก 16 วัน จึงลงไม่ได้

               อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งล่าสุดพิสูจน์แล้ว แม้ว่าฝ่ายตรงข้ามจะนำเรื่องนี้มาโจมตีก็ตาม เห็นจากภรรยาชนะคู่แข่งเป็นหมื่นคะแนน แม้ขณะนี้จะยังไม่รับรองก็ไม่เป็นไร และสุดท้ายหากจะให้เลือกตั้งใหม่ก็ไม่มีปัญหา

----------------------------------

(หมายเหตุ : ย้อนรอย'เสียบบัตรแทนกัน' จุดตายร่างกฎหมายรัฐบาล  : ขนิษฐา เทพจรรายงาน)

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ