ข่าว

อัพเดทก่อนเลือกล่วงหน้า'กปปส.'ยังปิด14จังหวัดใต้

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

อัพเดทก่อนเลือกล่วงหน้า'กปปส.'ยังปิด14 จังหวัดใต้ : โดย...ศูนย์ข่าวภาคใต้

 
                     นับจากการประกาศมาตรการ "เผด็จศึก" -ปิดกรุงเทพฯ ของคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข(กปปส.) ที่เริ่มปฏิบัติการณ์ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 13 มกราคม ที่ผ่านมา ต่อเนื่องจนถึงขณะนี้ ตรวจสอบภาพของความร่วมมือในเชิงคู่ขนานพบว่าดำเนินไปอย่างแข็งแกร่ง โดยเฉพาะสำหรับพื้นที่ทั้ง 14 จังหวัดภาคใต้ อันเป็นฐานทางการเมืองที่สำคัญของพรรคประชาธิปัตย์ จะเห็นได้ว่าพร้อมกันกับประกาศชัตดาวน์นับเนื่องตั้งแต่วันจันทร์ที่ 13 มกราคมพร้อมกัน เมื่ออัพเดทล่าสุดเมื่อถึงวันศุกร์ที่ 24 มกราคม ก่อนหน้าวันหย่อนบัตรเลือกตั้งล่วงหน้าเพียงแค่วันเดียวพบว่า ทุกๆ จังหวัด ทุกๆ กิจกรรมกดดันของมวลชน ล้วนเคลื่อนไหวต่อเนื่อง และสอดรับกับกปปส.ส่วนกลางดุจเนื้อเดียวกัน
 
                     ชุมพร : มวลชนของกปปส. ที่มีแนวร่วมสำคัญคือบุคลากรจากหน่วยงานในสังกัดสาธารณสุข เริ่มต้นการเคลื่อนไหวมาตั้งแต่วันที่ 13 มกราคม ด้วยการนำมวลชนไปกดดันที่ด้านหน้าศาลากลางจังหวัด เพื่อให้ข้าราชการผละจากงาน และมาร่วมเคลื่อนไหวกับกปปส. และปรากฏว่าแนวทางนี้ได้รับการตอบรับด้วยดีจากเหล่าข้าราชการ ที่ใช้วิธีการลางานและมาเข้าร่วมการชุมนุม
 
                     สำหรับสถานที่ราชการภายในศาลากลางจังหวัดชุมพร ที่ต้องปิดตัวไปโดยปริยาย และพบว่ามีข้าราชการขอใช้สิทธิ์ในการลาหยุดงานคือ สำนักงานสรรพากรจังหวัด, สำนักงานสรรพสามิตจังหวัด, สำนักงานธนารักษ์จังหวัด, สำนักงานศุลกากรจังหวัดชุมพร   
 
                     และที่เห็นได้ชัดถึงปฏิกิริยาในเชิงลูกโซ่ก็คือ สำนักงานสรรพากรพื้นที่ชุมพรสาขา อ.เมือง สาขา อ.หลังสวน สาขา อ.ทุ่งตะโก และสาขา อ.ละแม ต่างปิดให้บริการต่อเนื่องมา และจะเปิดให้บริการอีกครั้งในวันจันทร์ที่ 27 มกราคม ซึ่งเลยวันเลือกตั้งล่วงหน้าไปแล้ว
 
                     ตรัง : มวลชนแนวร่วมกปปส. จังหวัดนี้ พวกเขาเคลื่อนไหวในนาม " กองทัพประชาชนคนรักพระราชา" (กปพ.) ตรัง แน่นอนว่านอกจากประชาชนที่เป็นกำลังหลักแล้ว ก็ยังมีบุคลากรสาธารณสุข เรียกขานกันว่า "ประชาคมสาธารณสุข" เข้าร่วมการเคลื่อนพลกดดันโดยมีเป้าหมายที่แตกต่างไปจากพื้นที่อื่น เริ่มต้นด้วยการนำมวลชนนับพันคน ไปรวมตัวกันที่จวนผู้ว่าราชการจังหวัด จากนั้นจึงจะเคลื่อนย้ายไปปิดล้อมพื้นที่ศาลากลาง จนทำให้เจ้าหน้าที่ส่วนราชการต่างๆ ที่มีสำนักงานตั้งอยู่ภายในไม่สามารถเข้าปฏิบัติงานได้
 
                     นครศรีธรรมราช  : กปปส.นครศรีธรรมราช นำมวลชนเดินทางไปที่ศาลากลางจังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อปฏิบัติภารกิจคู่ขนานมาตรการชัตดาวน์กรุงเทพฯ ผลที่ได้คือ ปฏิกริยาตอบรับจากบรรดาข้าราชการที่ร่วมผละงานและออกมาจากศาลากลางในทันที ขณะที่ส่วนราชการอื่นๆ ที่ปิดตัวตามมา อาทิ ศูนย์พัฒนาสังคมที่ 11 นครศรีธรรมราช สำนักบริหารทรัพยากรป่าไม้ที่ 12 สำนักงานชลประทานนครศรีธรรมราช สำนักงานขนส่งจังหวัด 
 
                     พังงา : ด้วยการทำงานที่เข้มแข็งของแกนนำกปปส. คือ วีระชาติ ทนังผล อดีตรองนายก อบจ.พังงา  ควบคู่กับ วิชาญ ขมักการ อดีตผู้นำท้องถิ่น  ที่พามวลชนมาร่วมกดดันข้าราชการที่ศาลากลางจังหวัด จึงทำให้ศาลากลางต้องปิดตัวเองลง    
 
                     พัทลุง :  การนำแผงเหล็กมาปิดกั้นทางเข้าออกศาลากลางจังหวัด และใช้โซ่คล้องประตูรั้วทุกด้าน ก็ทำให้การทำงานของหน่วยงานต่างๆ ที่มีสำนักงานอยู่ภายในศาลากลางจังหวัดต้องอยู่ในภาวะชะงักงัน  ขณะที่แนวร่วมสนับสนุนมาตรการชัตดาวน์ ยังแผ่ขยายกิ่งก้านสาขาไปยังโรงเรียนระดับประถม และมัธยมศึกษา รวม 12 แห่ง ที่สั่งปิดการเรียนการสอน และจะเปิดอีกครั้งในวันที่ 27 มกราคม หลังเลือกตั้งล่วงหน้า 
 
                     พื้นที่จังหวัดนี้ โฟกัสไปในประเด็นที่ การเคลื่อนไหวของกปปส. ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะมาตรการกดดันข้าราชการเพียงเท่านั้น หากแต่ยังขยายไปถึงการปิดถนนสายเอเชีย บริเวณสี่แยกเอเชียเข้าทางเข้าตัวเมืองพัทลุง เพื่อแสดงพลังในการต่อต้านรัฐบาลด้วย
 
                     ภูเก็ต : ปฏิบัติการของกปปส.ภูเก็ต ใช้คำเรียกขานว่า "ชัตดาวน์ ภูเก็ต" และมีการทำกิจกรรมที่มีผลต่อเนื่องมาถึงการทำงานของข้าราชการภายในศาลากลางภูเก็ต ที่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่สามารถเข้าปฏิบัติงานได้ 
 
                     ระนอง  : ข้าราชการ ลูกจ้าง ตามสถานที่ราชการสำคัญๆ รวมทั้งหน่วยงานในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกว่า 60 แห่ง พากันปิดสำนักงานชั่วคราว หลังกลุ่มมวลชนดาวกระจายกดดันตลอดทั้งสัปดาห์  นับจากวันแรกในการประกาศภารกิจชัตดาวน์
 
                     สงขลา : ศาลากลางจังหวัด ถูกปิดตายตั้งแต่วันที่ 13 มกราคม ต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน ขณะที่ถนนหน้าศาลากลางทั้งสองฝั่งกลายเป็นพื้นที่การชุมนุมของกปปส. ความแข็งแกร่งของมวลชนสงขลา อยู่ที่พวกเขาสามารถเรียกระดมพลได้ตลอดเวลา เป็นความเข้มข้นของพลังมวลชนที่อาจจะทำให้การเลือกตั้งล่วงหน้า และการเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ ต้องพบกับความยุ่งยาก
 
                     สุราษฎร์ธานี  :  นับจากกปปส. เคลื่อนพลเข้าปิดสถานที่ต่างๆ เพื่อกดดันให้ข้าราชการ "อารยะขัดขืน"  ศาลากลางจังหวัดสุราษฎร์ธานีบ้านของกำนันสุเทพ เทือกสุบรรณ ต้องตกอยู่ในภาวะที่เงียบงัน จะมีความเคลื่อนไหวอยุ่บ้างก็แต่เพียงกำลังเจ้าหน้าที่ชุดควบคุมฝูงชนที่มาดูแลสถานที่ราชการเท่านั้น  
 
                     สตูล : แม้มวลชนจะไม่มากเท่ากับจังหวัดอื่น แต่บรรดาข้าราชการในหน่วยงานราชการส่วนใหญ่ก็พร้อมใจกันหยุดงาน เพื่อหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับมวลชนที่รวมพลกันมากดดัน  
 
                     ในขณะที่ กระบี่ ปัตตานี นราธิวาส และยะลา  มวลชนเริ่มเคลื่อนไหวตั้งแต่วันที่ 20 มกราคม  เป็นต้นมา โดยปัตตานี  สถานที่ราชการที่ถูกกดดันให้หยุดงานคือ สำนักงานเขตพื้นที่ประถมศึกษาเขตพื้นที่การศึกษา เขตที่ 2 สำนักงานสรรพากรจังหวัด โรงเรียนสะบารัง โรงเรียนเบญจมราชูทิศปัตตานี สำนักงานเทศบาลเมืองปัตตานี และศาลากลางจังหวัดปัตตานี ขณะที่สถานที่ราชการในจังหวัดกระบี่ ยะลา และนราธิวาส ก็อยู่ในภาวะที่ต้องปิดตัวเองลงเช่นกัน 
 
                     เป็นภารกิจที่เกิดขึ้นโดย กปปส.ภาคใต้ คู่ขนานกับการปิดกรุงเทพฯ โดยการนำของกำนันสุเทพ เทือกสุบรรณ บ่งบอกได้อย่างดีว่า บรรยากาศหย่อนบัตรเลือกตั้งล่วงหน้าวันอาทิตย์ที่ 26 มกราคม จะออกมาเช่นไร
 
 
 
.....................
 
(อัพเดทก่อนเลือกล่วงหน้า 'กปปส.'ยังปิด14 จังหวัดใต้ : โดย...ศูนย์ข่าวภาคใต้)
 
 
 
logoline

ข่าวที่น่าสนใจ