ข่าว

'สุภิญญา'ยัน!'ศรส.'สั่งปิดบลูสกายไม่ได้

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

'สุภิญญา' ยัน 'ศรส.' สั่งปิดทีวีที่มีใบอนุญาตถูกกม.ไม่ได้-สั่งปิดได้แค่สถานีฯ เถื่อน พร้อมยก 3 ข้อเหตุปิด 'บลูสกาย' ไม่ได้

                    22 ม.ค.57 น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ กสทช. กล่าวถึงกรณีที่มีหลายคนสงสัยว่า เมื่อมีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในเรื่องการปิดสถานีโทรทัศน์ เป็นอำนาจของกสทช. หรือศรส. ว่า เคยมีการหารือกับคณะกรรมการกฤษฎีกาในเรื่องของอำนาจของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่เกี่ยวพันกับอำนาจของ กสทช. คือ หากดูให้ดี ตอนนี้ที่มีผลจริงๆ คือ พ.ร.บ.วิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 ที่ศรส.จะใช้อำนาจได้ คือ ปิดสถานีที่ใช้คลื่นผิดกฎหมาย หรือมีเครื่องส่งออกอากาศที่ผิดกฎหมาย แต่ถ้าเป็นการใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.ประกอบกิจการ พ.ศ.2551 และ พ.ร.บ.กสทช.พ.ศ. 2553 อำนาจยังอยู่กับกสทช.
 
                    "ถ้า ศรส.จะใช้อำนาจไปปิดสถานีโทรทัศน์ ก็ต้องดูว่าสถานีนั้น เป็นสถานีที่ถูกกฎหมายหรือไม่ ถ้าเป็นสถานีที่ผิดกฎหมายก็มีความเสี่ยงที่จะถูกปิดได้แน่นอน เพราะเป็นสถานการณ์ฉุกเฉิน แม้ว่า จะมีสิทธิเสรีภาพก็อาจจะลำบาก แต่ถ้าเป็นสถานีฯ ที่ถูกกฎหมายก็จะมีเครื่องป้องกันคือ ใบอนุญาต คนที่มีอำนาจเพิกถอนใบอนุญาตได้มีเพียงผู้เดียว ก็คือ กสทช.ซึ่งเป็นองค์กรอิสระ ถ้า ศรส.ทำเรื่องขอมายัง กสทช.ให้ปิดสถานีโทรทัศน์บลูสกาย กสทช.ก็ต้องถามว่า  ปิดบนพื้นฐานอะไร เพราะว่า 1.เขาไม่ได้ใช้คลื่นเถื่อน 2.เขาไม่ได้ทำผิดเงื่อนไขผังรายการ 3.เขามีใบอนุญาตตามกฎหมาย ถ้าจะให้ปิด เพราะเนื้อหาก็ต้องส่งข้อความมาให้วินิจฉัยว่า เนื้อหานั้นกระทบตรงไหนอย่างไรและต้องใช้มาตรฐานเดียวกับสถานีฯ อื่นๆ ด้วย" น.ส. สุภิญญา กล่าว 
 
                    เมื่อถามว่า สถานีโทรทัศน์ส่วนใหญ่เพิ่งต่อสัญญากับ กสทช.ไป และสถานีโทรทัศน์บลูสกายก็เพิ่งต่อสัญญาไปเมื่อ 20 ม.ค.ที่ผ่านมา แสดงว่า ทุกช่องที่เพิ่งต่อสัญญาไปมีกฎหมายคุ้มครองไม่ให้ถูกปิดสถานี ใช่หรือไม่ นส.สุภิญญา กล่าวว่า ใช่ เมื่อวันจันทร์เพิ่งต่อสัญญาไป 160 กว่าช่อง ต่อให้อีก 2 ปี  สถานีโทรทัศน์บลูสกายก็เป็นหนึ่งใน 160 กว่าช่อง  จึงเป็นสถานีที่มีใบอนุญาตออกอากาศได้ตามกฎหมาย ถ้ามีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับเนื้อหาว่า ทำผิดตามมาตรา 37 ก็ต้องเข้าสู่กระบวนวินิจฉัย ของกสทช.เหมือนที่ผ่านมา อย่างเช่น รายการไทยแลนด์ก็อตทาเลนต์, ตอบโจทย์ เพื่อดูว่า เนื้อหานั้นขัดต่อมาตรา 37 หรือไม่
 
                    ส่วนกรณีที่ว่า มีช่องทางไหนที่ ศรส.จะสามารถเข้าไปแทรกแซงเนื้อหาของช่องสถานีโทรทัศน์ต่างๆ ได้ น.ส. สุภิญญา กล่าวว่า ดูแล้วน่าจะเป็นสื่อของรัฐจะง่ายที่สุด เพราะโครงสร้างของฟรีทีวีโดยเฉพาะ ช่อง 11 ก็ยังขึ้นตรงกับรัฐบาล เพราะอำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เป็นของฝ่ายบริหารหรือรัฐบาล การสั่งแทรกแซง ก็จะสั่งตรงไปยังสื่อของรัฐเป็นหลัก ทั้งวิทยุหรือโทรทัศน์ ส่วนสื่อภาคเอกชน รัฐบาลไม่สามารถสั่งได้ นอกจาก สื่อเซ็นเซอร์ตัวเอง ส่วนสถานีโทรทัศน์ดาวเทียม และวิทยุชุมชนเมื่อก่อนก็มีความเสี่ยงสูง เพราะว่า เกิดขึ้นมาในยุคที่ยังไม่มีใครอนุญาต เป็นสูญญากาศอยู่หลายปี แต่ตอนนี้เข้าสู่ระบบใบอนุญาตแล้ว เพราะฉะนั้น  ถ้า ศรส.จะเข้าไปปิดสถานีฯ เอง ก็ต้องถามว่า ใช้อำนาจอะไร เพราะหนทางที่ ศรส.จะทำได้ ก็คือ ขอให้ กสทช.ดำเนินการปิดให้ ซึ่ง กสทช.เป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญไม่ได้ยึดโยงกับฝ่ายบริหาร จึงไม่จำเป็นต้องทำตาม คำสั่ง ศรส.
 
                    เมื่อถามว่า ตอนนี้มีปัญหาการร้องเรียนจากสถานีโทรทัศน์ที่เกี่ยวกับเรื่องการเมืองร้องมายัง กสทช.จำนวนมากหรือไม่ น.ส. สุภิญญา กล่าวว่า ก็มีมาเป็นระยะๆ อยู่ในกระบวนการพิจารณาตามเนื้อหาแต่ละช่วง ในช่วงสัปดาห์นี้ จะเป็นเรื่องสัญญาณล่มเสียมาก คือ สัญญาณรบกวนช่องบลูสกายทำให้ดูไม่ได้มากขึ้น ซึ่งเราก็กำลังแก้ปัญหากันอยู่ ซึ่งการกวนสัญญาณเป็นการผิดกฎหมายตาม พ.ร.บ.วิทยุคมนาคม ซึ่ง ศรส.สามารถใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน เข้าไปจัดการได้เลย แต่ถามว่า รัฐบาลจะจัดการหรือไม่ เพราะนี่คือ อำนาจของรัฐบาลที่จะเข้าไปกวาดหาผู้ทำการรบกวนสัญญาณดาวเทียม  แต่อยู่ที่ว่ารัฐบาลจะทำหรือไม่ เพราะเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย   เรื่องของสื่อได้รับการรองรับตามรัฐธรรมนูญว่า เป็นสิทธิเสรีภาพ กฎหมายจึงแยกออกมาว่า ให้มีองค์กรอิสระขึ้นมากำกับดูแล เพราะฉะนั้นการกำกับดูแลเนื้อหา กสทช.ก็ยังต้องมีกระบวนการให้รอบคอบ ถ้าจะตัดสินว่าเรื่องนั้นผิดต่อความมั่นคงของชาติ ศีลธรรมอันดี กสทช.ก็ต้องอธิบายได้ เพราะว่า เกี่ยวพันกับสิทธิเสรีภาพของสื่อด้วย อันไหนเป็นเรื่องที่ต้องหารือองค์กรวิชาชีพ อันไหนเป็นเรื่องที่ กสทช.ใช้อำนาจได้เอง เป็นเรื่องดุลยพินิจที่กรรมการ กสทช.ต้องถกเถียงกันต่อไป
        
                    ส่วนที่ว่า ถ้า ศรส.เข้ามาแทรกแซงการนำเสนอข่าว  สื่อสามารถใช้ช่องทางกฎหมายได้อย่างไรบ้างนั้น น.ส.สุภิญญา กล่าวว่า  สื่อมีสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ สิ่งที่สื่อกลัวมากที่สุด คือ การถูกปิดสถานีและถูกยึดใบอนุญาต แต่สถานีที่ได้รับใบอนุญาตแล้ว จะเป็นเกราะป้องกันเสรีภาพในตอนนี้ เพราะคนที่จะไปเพิกถอนยึดใบอนุญาตและปิดสถานีได้มีแต่ กสทช.แต่ในเรื่องการดำเนินรายการ ก็อาจจะมีในเรื่องการถูกฟ้องหมิ่นประมาทในการนำเสนอข่าวนั้นๆ ซึ่ง กสทช.ไม่สามารถเข้าไปป้องกันได้ ถ้ามีการไปฟ้องหมิ่นประมาทซึ่งกันและกัน  ซึ่งเป็นเรื่องของผู้จัดรายการและบรรณาธิการที่ต้องใช้ความระมัดระวังในการนำเสนอเอง แต่ในเรื่องของการปิดสถานี   ถ้าสถานีมีใบอนุญาตก็ยืนยันไปได้ คือ ไม่ต้องกลัวจนเกินไปเมื่อสถานีถูกแทรกแซงกดดันว่า ถ้าไม่ทำตาม วันหนึ่งสถานีจะถูกปิด เป็นไปไม่ได้ง่ายขนาดนั้น แต่ว่าถ้าเป็นความกังวลของสถานีฯ เองว่า เสนอแล้วทำให้สังคมสับสนกับสถานการณ์ ก็เป็นเรื่องของจริยธรรม จรรยาบรรณ สถานการณ์แบบนี้ต้องคิดให้รอบคอบมากขึ้น  ก็ให้เป็นเรื่องของดุลยพินิจของกองบรรณาธิการและสถานีว่า แค่ไหนจึงจะได้จุดสมดุลย์ระหว่างสื่อยังใช้สิทธิเสรีภาพในการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร แต่ก็ยังรับผิดชอบต่อสังคม แต่ไม่ใช่เพราะกลัวว่า การใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จะทำให้สถานีถูกปิดหรือผิดกฎหมาย
 
                     เมื่อถามว่า สื่อที่ถูกแทรกแซงสามารถฟ้องต่อศาลปกครองได้หรือไม่ น.ส.สุภิญญา กล่าวว่า  ตอนนี้คนที่มีสิทธิสั่งสถานีฯ ที่มีใบอนุญาตตามกฎหมายได้ คือ กสทช.ถ้าทางสถานีฯ ไม่เห็นด้วยก็ไปฟ้อง กสทช.ได้  แต่การแทรกแซงโดยใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน อย่างเป็นทางการโจ่งครึ้มคงทำไม่ได้ เพราะคนที่ออกคำสั่ง ต้องรับผิดชอบ แต่คงเป็นการแทรกแซงโดยทางอ้อม ดังนั้น สื่อก็ต้องตั้งหลัก มีสติ ใช้ดุลยพินิจ ไม่ใช่กลัวจนเกินเหตุ หรือตกใจจนเกินไป หากมีการข่มขู่ ให้กลัวทางอ้อมหรือแทรกแซงเป็นรายบุคคลหรือส่งสัญญาณต่างๆ สื่อก็ต้องลุกขึ้นมาต่อสู้ เพื่อศักดิ์ศรีวิชาชีพของตนเองเหมือนกัน แต่สังคมไทยที่อยู่ในภาวะปกติ สื่อก็ต้องมีความรอบคอบ ทำหน้าที่อย่างสุจริต ตรงไปตรงมาและเป็นธรรม ต้องคำนึงถึงคนดูที่หลากหลาย แต่ก็ไม่ใช่ เพราะความกลัวกฎหมายที่จะมาปิดสถานี มันเลยยุคนั้นมามากแล้ว  
 
                    ส่วนที่ว่า ในภาวะการเมืองที่มีการชุมนุมแบบนี้ กสทช.ได้ทำการตรวจสอบสื่อมากน้อยแค่ไหน น.ส.สุภิญยา กล่าวว่า การทำงานของ กสทช.ไมใช่การมอนิเตอร์อย่างเป็นทางการ แต่เป็นการกำกับตามเรื่องร้องเรียน เมื่อให้ใบอนุญาตไป ก็ให้ส่งผังรายการมา และเมื่อมีการร้องเรียนเกี่ยวกับรายการใด เราก็พิจารณาเป็นเรื่องๆ ไป ตอนนี้สื่อทีวีการเมืองแทบทุกค่ายมีความร้อนแรง กสทช.ก็อยากให้ลดความร้อนแรงลง แต่เราไม่ใช้วิธีเข้าไปสั่งตรง เราใช้จดหมายเวียนไปตามสถานีฯ ให้นำเสนอข่าวด้วยความระมัดระวังในการนำเสนอข่าวไม่นำไปสู่ความยั่วยุ แต่เราจะไม่สั่งว่า อะไรนำเสนอได้หรือไม่ได้ เราเคารพดุลยพินิจสิทธิเสรีภาพของสื่อในการกลั่นกรองเอง เว้นแต่มีปัญหาร้องเรียนเรื่องใดเข้ามา เราจึงจะนำเรื่องนั้นมาพิจารณาว่าจะลงโทษหรือไม่
 
                    เมื่อถามว่า ขณะนี้ มีฝ่ายการเมืองร้องเรียนหรือพูดคุยมายัง กสทช.บ้างหรือไม่ น.ส.สุภิญญา กล่าวว่า ก่อนวันนี้ ศรส.ก็ได้มีหนังสือมาเป็นทางการถึง กสทช.ซึ่งเราก็นำเข้าสู่ที่ประชุมและมีหนังสือไปยังทุกสถานีขอความร่วมมือ แต่เมื่อมีการใช้ประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน นั้น ศรส.ยังไม่มีหนังสือมา แต่ก็มีข่าวลือไปทั่วว่า ศรส.จะมาขอให้ กสทช.ทำเรื่องนั้นเรื่องนี้ให้
 
 
 
 
 
logoline

ข่าวที่น่าสนใจ