ข่าว

สองสายธารแห่งขบวนการอิสลามในตุรกี

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

สองสายธารแห่งขบวนการอิสลามในตุรกี : วิถีมุสลิมโลก โดยศราวุฒิ อารีย์

             เมื่อปีที่แล้ว สมาคมนักธุรกิจไทย-ตุรกี ได้เชิญผมไปดูงานการเคลื่อนไหวขององค์กรหนึ่งในตุรกี ชื่อว่า "ขบวนการกูเลน" (Gulen Movement) เป็นองค์กรที่สร้างเครือข่ายทั้งจากการทำธุรกิจและเปิดโรงเรียนนานาชาติไปทั่วโลก รวมถึงในประเทศไทย จากการเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ผมก็เข้าใจว่า องค์กรนี้เป็นองค์กรศาสนาที่เคลื่อนไหวทำกิจกรรมใน 3 ด้านหลักๆ คือ การขจัดความยากจน เปลี่ยนแปลงสังคมผ่านการศึกษา และมุ่งเน้นการสานเสวนาระหว่างอารยธรรม

             แต่ด้วยความที่ผมเป็นคนสนใจศึกษาขบวนการอิสลามในโลกมุสลิม ความเข้าใจเท่านี้จึงยังไม่พอ มีคำถามมากมายผุดขึ้นมาในใจ หนึ่งในนั้นคือคำถามที่ว่า "ขบวนการกูเลน" มีความสัมพันธ์อย่างไรกับรัฐบาล "พรรคยุติธรรมและการพัฒนา" (Justice and Development Party) ของตุรกี ที่ได้ชื่อว่าเป็นพรรคการเมืองนิยมแนวทางอิสลาม (Political Islam)

             ผมเก็บความสงสัยนี้ไว้อยู่นาน จนกระทั่งได้มาอ่านบทความของ Omer Taspinar เมื่อสัปดาห์ก่อน เรื่อง "The Islamic roots of the conflict in Turkey" (ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ Today’s Zaman) ก็ทำให้เกิดความกระจ่างขึ้น
เขาบอกว่า "ขบวนการกูเลน" กับพรรครัฐบาลตุรกีนั้นมีความแตกต่างไม่ลงรอยกัน อันมีต้นเหตุมาจากเรื่องราวทางประวัติศาสตร์และอุดมการณ์แนวคิดทางศาสนา พรรครัฐบาลปัจจุบันของตุรกีนั้นมีวิวัฒนาการมาจากขบวนการการเมืองนิยมแนวทางอิสลามของผู้นำเดิมที่ชื่อ นิคมิดดีน อัรบาคาน ผู้ซึ่งยึดมั่นแนวทางอิสลามตามแบบ ฮาซัน อัล-บันนา ผู้ก่อตั้งขบวนการภราดรภาพมุสลิม (Muslim Brotherhood) ในอียิปต์

             และแน่นอนอุดมการณ์ของภราดรภาพมุสลิมก็คือการเปลี่ยนแปลงระบบการเมืองให้มีคุณธรรมแบบอิสลามเข้าไปอยู่ในนั้นด้วย เน้นย้ำความเป็นประชาชาติสากลของโลกอิสลาม (Islamic Ummah) และไม่ให้ความสำคัญมากนักกับแนวคิดเรื่องรัฐ-ชาติ เพราะมองว่าเป็นเครื่องมือสร้างความแตกแยก อันเป็นแนวคิดที่ตะวันตกสร้างขึ้น

             แตกต่างกับ "ขบวนการกูเลน" ที่พัฒนามาจากแนวคิดแบบอิสลามสายรหัสยนัย หรือ ซูฟี (Sufi) ซึ่งเป็นที่นิยมแพร่หลายในตุรกี และเป็นอุดมการณ์ที่ไม่ต่อต้านแนวคิดรัฐ-ชาติ ในทางตรงข้าม "ขบวนการกูเลน" ยึดหลักชาตินิยมตุรกีและให้ความเคารพต่อประเพณีปฏิบัติแบบออตโตมันตุรกีตลอดเวลา

             ถ้าให้ย้อนกลับไปดูรากจริงๆ ของ "ขบวนการกูเลน" ก็ต้องบอกว่า มาจากบุรุษที่ชื่อ ซาอีด นุรซี (ค.ศ.1878-1960) ซึ่งเป็นนักเผยแพร่ศาสนาจากดินแดนอนาโตเลียตะวันออก หลักใหญ่ใจความในคำสั่งสอนของเขาคือความสอดคล้องระหว่างอิสลามกับเหตุผลนิยม อิสลามกับวิทยาศาสตร์ และอิสลามกับแนวคิดปฏิฐานนิยม เขาสนับสนุนให้มีการสอนศาสตร์สมัยใหม่ในโรงเรียนสอนศาสนา เพื่อเป็นการปูทางไปสู่ยุคแห่งความรุ่งโรจน์ของอิสลามอีกครั้งในอนาคต

             นี่เป็นความแตกต่างระหว่าง 2 ขบวนการอิสลามในตุรกีที่บทความของ Omer Taspinar พยายามชี้ให้เห็น แต่ในทัศนะของผม ขบวนการการเมืองนิยมแนวทางอิสลามที่ผ่านการปรับตัวแล้ว ก็คงให้ความสำคัญกับศาสตร์สมัยใหม่คล้ายๆ กับ "ขบวนการกูเลน"

             แต่ความต่างจริงๆ ของ 2 ขบวนการอิสลามนี้ น่าจะอยู่ที่ประเด็นทางการเมืองและบทบาทของรัฐมากกว่า กล่าวคือ "ขบวนการกูเลน" พยายามหลีกห่างออกจากการเมือง โดยมองว่า การใช้วาทกรรมการเมืองในนามศาสนาเป็นแนวทางที่อันตราย แล้วเน้นการขับเคลื่อนองค์กรโดยใช้กิจกรรมทางสังคมและวัฒนธรรมเป็นเครื่องมือ ลักษณะเช่นนี้ทำให้ "ขบวนการกูเลน" ไม่ค่อยจะเผชิญหน้าขัดแย้งกับฝ่ายนิยมแนวทางฆราวาส (Secularism) ของตุรกีมากนัก

             ต่างจากพรรครัฐบาลของตุรกีปัจจุบันที่เคลื่อนไหวทางการเมืองนิยมแนวทางอิสลาม ซึ่งปฏิเสธแนวทางของ กะม้าล อตาเติร์ก บิดาผู้ก่อตั้งตุรกีสมัยใหม่ ที่ต้องการเห็นตุรกีเติบโตทันสมัยแบบตะวันตก อีกทั้งพรรครัฐบาลตุรกีปัจจุบันยังเน้นความเป็นสากลของอิสลาม ที่ไม่ผูกติดกับแนวคิดชาตินิยม

             ลักษณะเช่นนี้จึงทำให้เราเห็นการเผชิญหน้าระหว่างฝ่ายรัฐบาลที่นิยมอิสลามการเมืองกับฝ่ายนิยมแนวทางฆราวาสของตุรกีอยู่บ่อยๆ และการประท้วงรัฐบาลตุรกีครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นในช่วงกลางปีที่ผ่านมานี้ ก็เป็นเหตุการณ์หนึ่งที่สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจน

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ