ข่าว

'ยางพารา'เมืองคอนขนมผสมน้ำยา

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

'ยางพารา'เมืองคอนขนมผสมน้ำยา : ต่อปากต่อคำ โดย ดร.อมร วาณิชวิวัฒน์ [email protected]/ twitter@DoctorAmorn

              ข่าวการประท้วงของชาวสวนยางพาราใน จ.นครศรีธรรมราช ที่ลุกลามบานปลายกลายเป็นเรื่องใหญ่โตขนาดรัฐบาลต้องส่งคณะบุคคลลงมาไกล่เกลี่ยเจรจาและหาทางออกด้วยมาตรการ “อุ้ม” หลากหลายรูปแบบ ซึ่งแม้จะมีการออกมาปฏิเสธโดยหลายฝ่ายว่าไม่เกี่ยวข้องกับ “การเมือง” คงบอกว่าเชื่อได้ยาก เพราะทั้งรัฐบาลเองและพรรคฝ่ายค้านเองได้เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ทั้งทางตรงและทางอ้อม

              ปัญหาราคายางเป็นเรื่องค้างเก่าที่มีมาตลอดทุกยุคสมัยของรัฐบาลที่เข้ามาบริหารประเทศ ทางพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งมีฐานเสียงส่วนใหญ่อยู่ในภาคใต้ ย่อมถือว่าปัญหาปากท้องของชาวสวนยางในภาคใต้ถ้าช่วยแก้ไขได้ก็จะเป็นหน้าตาและได้รับความนิยมชมชอบทางการเมืองได้ต่อเนื่อง ส่วนทางพรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นรัฐบาลและได้ออกมาตรการพยุงราคาต่างๆ มาก่อนหน้า ก็อยู่ในสภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก เพราะถึงจะไม่ใช่ฐานเสียงสำคัญแต่จะไม่ทำอะไรก็จะเกิด “แรงเสียดทาน” เพราะฝ่ายที่อยู่ตรงข้ามยังมีความพยายามแสวงหาทางในการจัดการกับรัฐบาลด้วยหลายรูปแบบ บางที “น้ำผึ้งหยดเดียว” จะละเลยไม่ดูแลหรือมองข้ามเป็นเรื่องไม่สำคัญก็อาจสุ่มเสี่ยงต่อความมั่นคงของรัฐบาลเองอยู่พอสมควร

              ในฐานะที่ผมมีโอกาสเข้าไปร่วมเป็นกรรมการในส่วนของภาคเศรษฐกิจที่จะต้องรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนทำให้ต้องรับฟังและรับรู้ทุกปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมและในประเทศนี้ ดังกรณีตัวอย่างเรื่องของยางพารามีประเด็นพูดคุยกันหลากหลาย ตั้งแต่ปัจจุบันการทำสวนยางในภาคใต้เองไม่มีความปลอดภัย หากต้องออกมากรีดยางกันในเวลาเช้ามืดเหมือนแต่ก่อน ก็สุ่มเสี่ยงต่อการถูกทำร้ายโจมตีของผู้ไม่หวังดีที่อาจฉกฉวยสร้างสถานการณ์ ทางรัฐบาลโดย “กรมวิชาการเกษตร” จึงมีความพยายามคิดค้นศึกษาวิจัยหาทางทำให้สามารถกรีดยางได้ในเวลากลางวันหรือเวลาอื่นที่เหมาะสม และยังมองไปถึงการเน้นให้มีการส่งเสริมอุตสาหกรรมแปรรูปยางให้เป็นสินค้า “ปลายน้ำ” มากกว่าการเป็นวัถถุดิบ “ต้นน้ำ” ซึ่งเชื่อว่าหากทำได้สำเร็จ เช่น ผลิตออกเป็นยางรถยนต์ ทำเป็นอะไหล่อุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ จะสามารถช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้เกษตรกรและเมื่อถึงเวลานั้นก็อาจไม่จำเป็นต้อง “อุ้ม หรือ เข้ามาแทรกแซง” เช่นเดียวกับปัญหาในกรณีของผลิตภัณฑ์ข้าวในปัจจุบัน

              ยิ่งกว่านั้น เมื่อทำการสำรวจตรวจสอบกันทำให้ได้ทราบข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในปัจจุบันคนทำยางทั้งด้วยเหตุผลของการขยายตัวทางเศรษฐกิจและปัญหาภายในภาคใต้ ทำให้มีชาวสวนยางจำนวนมากอพยพไปอยู่ในภูมิภาคอื่นอย่างมากมายทั้งภาคเหนือ ภาคอีสานและภาคตะวันออก ทำให้ไม่น่าแปลกใจว่าทำไมแกนนำชาวสวนยางในภาคอื่นๆ จึงสามารถรับฉันทามติการปิดเปิดถนนของแกนนำที่ทำการเคลื่อนไหวได้อย่างสอดประสานและมีประสิทธิภาพ ซึ่งหลายคนอาจนึกเข้าใจผิดไปว่า เดี๋ยวนี้คนอีสาน คนเหนือเปลี่ยนใจไปเห็นดีเห็นงามกับคนใต้ ซึ่งความจริงเป็นอย่างที่อธิบายให้ทราบ

              เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าและเป็นเรื่องกระทบต่อคนหมู่มาก เมื่อผู้เรียกร้องรู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรม หากเกิดด้วยปัญหาตามธรรมชาติไม่มีเรื่องอื่นมาเกี่ยวพันโยงใย ต้องถือเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องเข้าไปช่วยเหลือดูแลเพราะไม่ว่าจะพี่น้องภาคไหนๆ ก็คนไทยเฉกเช่นเดียวกันหมด แต่หากกลายเป็นเรื่อง “ขนมผสมน้ำยา” มีร่องรอยการแอบแฝงเอาผลประโยชน์ทางการเมืองเข้าแลกด้วยการเอาความเดือดร้อนของคนสัญจรไปมาและคนบริสุทธิ์ที่เข้ามาประท้วงด้วยความเดือดร้อนอย่างแท้จริงให้มาเป็น “ตัวประกัน” ต้องถือว่าเป็น “ความเห็นแก่ตัวอย่างร้ายกาจ” และน่าจะหามาตรการหรือบทลงโทษผู้คนที่อยู่เบื้องหลังทั้งหลาย เพราะแค่ออกหมายจับแกนนำน่าจะยังไม่พอ ต้องรวบหัวรวบหางเอาทั้งหัวและท้ายขบวนให้ได้เห็นกันชัดๆ ว่าปัญหาที่รุมเร้าสังคมเกิดจากต้นเหตุอะไรเป็นแน่แท้ เพราะพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยก็ล่าถอยไปเรียบร้อยด้วยการทิ้งทวนให้เห็นบทบาทความสัมพันธ์เชิงลึกกับพรรคการเมืองบางพรรคตลอดเวลาที่ผ่านมาในขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมือง

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ