ข่าว

จริยธรรมของผู้บริหาร

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

จริยธรรมของผู้บริหาร : วันเว้นวัน จันทร์ พุธ ศุกร์ กับ ประภัสสร เสวิกุล

             สิ่งหนึ่งซึ่งเป็นที่พูดถึงกันมากในเวลานี้ก็คือจริยธรรมของผู้บริหาร เพราะหากผู้บริหารมีปัญหาในเรื่องจริยธรรม ก็ย่อมส่งผลให้คนในองค์กรมีปัญหาไปด้วย ทั้งในเรื่องของจริยธรรม ศีลธรรม คุณธรรม และวัฒนธรรมองค์กร และแน่นอนว่าองค์กรใดที่มีปัญหาดังกล่าว องค์กรนั้นก็ย่อมสูญเสียความน่าเชื่อถือไปในที่สุด

             คุณลักษณะของผู้บริหารที่ดีนั้น มีอยู่ในทฤษฎีต่างๆ หลายทฤษฎี เช่น ผู้บริหารจะต้องรอบรู้งานในหน้าที่ของตน ต้องมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีกับคนในองค์กร ต้องกล้ารับผิดชอบ ต้องเป็นตัวอย่างที่ดี ต้องมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ หรือบางทฤษฎีอาจจะเพิ่มเติมเรื่องความอดทน มีความสามารถในการควบคุมสติอารมณ์ มีความภักดีต่อองค์กร เข้าไปด้วยก็ได้ แต่ที่ขาดไม่ได้ก็คือต้องมีความยุติธรรมและพรหมวิหาร 4 อันได้แก่ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ซึ่งเป็นเสมือนหัวใจของผู้บริหารที่ดี

             นอจากนี้ ก็มีสิ่งที่นิยมกล่าวถึงกันบ่อยๆ คือ “ทศพิธราชธรรม” หรือจริยธรรม 10 ประการ ซึ่งผู้ปกครองในอดีตยึดถือปฏิบัติ ได้แก่

             1.ทานํ การเสียสละทรัพย์สินส่วนตนแก่ผู้อื่น

             2.ศีลํ การดำรงตนอยู่ในกฎเกณฑ์อันดีงาม

             3.ปาริจาคํ การเสียสละความสุขส่วนตัวเพื่อความสุขส่วนรวม

             4.อาชชวํ ความซื่อตรง ดำรงตนอยู่ในสัตย์สุจริต

             5.มัททวํ ความอ่อนน้อม อ่อนโยน

             6.ตปํ ความเพียร ความอุตสาหะ

             7.อโกธํ ความไม่ถือโกรธ

             8.อวีหิสา การไม่เบียดเบียนผู้อื่น

             9.ขันติ ความอดทนอดกลั้น

             10.อวิโรธนํ ความหนักแน่น เที่ยงธรรม

             ในทางพุทธศาสนา ก็ได้มีการกล่าวถึงจริยธรรมของผู้บริหารซึ่งเรียกว่า “จักรวรรดิวัตร 5” อันหมายถึงหน้าที่ของผู้ปกครองที่ยิ่งใหญ่ 5 ประการ ได้แก่

             1.ธรรมาธิปไตย ผู้บริหารต้องถือธรรมเป็นสรณะ โดยยึดถือความจริง ความถูกต้องและประโยชน์ของมหาชน

             2.ธรรมิการักขา ผู้บริหารต้องให้ความคุ้มครอง รักษาความชอบธรรมแก่ผู้คนทุกหมู่คณะ

             3.อธรรมการนิเสธนา ผู้บริหารมีหน้าที่ป้องกัน แก้ไข ปราบปราม สิ่งที่ไม่เป็นธรรม

             4.ธนาประทาน ผู้บริหารมีหน้าที่จัดแบ่งทรัพย์สิน ผลประโยชน์ที่ถูกต้อง โดยยุติธรรม

             5.ปริปุจฉา ผู้บริหารต้องแสวงหาความรู้เพิ่มเติมให้ยิ่งขึ้นไปเรื่อยๆ

             ผมเชื่อว่าปัญหาเรื่องจริยธรรมของผู้บริหาร ไม่ว่าจะในระดับรัฐบาล ระดับประเทศ ลงมาถึงหน่วยงานต่างๆ ไม่ใช่เกิดจากความไม่รู้เรื่องจริยธรรม หรือคุณลักษณะที่ดีของผู้บริหารหรอกครับ หากเกิดจากการที่รู้แต่ไม่ปฏิบัติตามหลักการที่ถูกต้อง หรือดึงดันจะทำทั้งๆ ที่รู้ว่าไม่ถูกไม่ต้อง

             และจริงๆ แล้ว หลักจริยธรรมสำหรับผู้บริหารที่ง่ายที่สุดก็คือการเอาใจเขามาใส่ใจเรา ถ้าเราไม่ชอบสิ่งไหนก็อย่าไปทำสิ่งนั้นกับผู้อื่น และจงปฏิบัติต่อผู้อื่นเหมือนที่เราต้องการให้ผู้อื่นปฏิบัติต่อเรา...แค่นี้เท่านั้นแหละครับ

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ