ข่าว

ผบ.หน่วยกู้ระเบิดฉก.อโณทัย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ผบ.หน่วยกู้ระเบิดฉก.อโณทัย 'ถ้าเราไม่เข้าหา..แล้วใครจะทำ' : ทีมข่าวความมั่นคงรายงาน

               เหตุความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้พรากชีวิตทหารกล้าไปอีก 3 นาย คราวนี้เป็นชุดเก็บกู้วัตถุระเบิดนาวิกโยธิน ประกอบด้วย 1.ร.ท.ชัยสิทธิ์ เตชะสว่างวงศ์ อายุ 28 ปี หัวหน้าชุด 2.พ.จ.อ.ทัศนัย ชมพูทวีป อายุ 35 ปี รองหัวหน้าชุด และ 3.จ.อ.เรวัตร คงนาค อายุ 31 ปี เสมียนกองยุทธการหมวดทำลายวัตถุระเบิด

               การสูญเสียชุดกู้ระเบิดฝีมือดีครั้งนี้ หนึ่งในผู้ที่สะเทือนใจมากที่สุด นอกจากครอบครัวทหารผู้กล้า คือ พ.อ.ทวีศักดิ์ จันทราสินธุ์ ผู้บังคับหน่วยทำลายล้างวัตถุระเบิด หน่วยเฉพาะกิจอโณทัย จ.ปัตตานี ในฐานะ "ครู" ของชุดอีโอดีทุกเหล่าทัพ ผู้ยืนหยัดทำลายล้างระเบิดนับหมื่นๆ ลูกมาเกือบ 10 ปี นับตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม 2547 หรือหลังเหตุการณ์ปล้นปืนแค่ 6 วัน

@ทราบว่า หัวหน้าชุดกู้ระเบิดที่เสียชีวิตเป็นหนึ่งใน "ลูกศิษย์" ด้วย

               ปกติอีโอดีทุกเหล่าทัพจะต้องผ่านการอบรมกับผมมาทั้งหมด เป็นคอร์สสั้นๆ 1 อาทิตย์ สำหรับ ร.ท.ชัยสิทธิ์ เคยมาเรียนหลักสูตรระเบิดแสวงเครื่องในภาคใต้ และตะวันออกกลาง ซึ่งตอนที่ลงมาปฏิบัติภารกิจภาคใต้เขาก็ยังมารายงานตัวกับผมอยู่เลย ซึ่งนิสัยของน้องเขาเป็นคนเรียบร้อย เอาจริงเอาจัง เขาบอกว่า หากมีอะไรช่วยชี้แนะเขาได้เต็มที่ ผมก็ชวนอยู่ว่าว่างๆ มาทานข้าวด้วยกัน

@รู้สึกอย่างไรตอนที่ทราบข่าว และประเมินว่า สาเหตุเกิดจากอะไร

               ทั้งตกใจ และเสียใจมาก แต่เขาทำดีที่สุดแล้ว เท่าที่ประเมินเบื้องต้นคาดว่า เป็นการต่อวงจรที่ภาษาอีโอดีเรียกว่า "โอเวอร์ลูป" หรือที่โบราณเรียก "หัวล้านชนกัน" คือ หากเราเปิดฝาออกเพื่อจะปลดเชื้อปะทุข้างใน มันจะดึงให้วงจรที่ต่อเอาไว้ข้างในทำงาน และระเบิดทันที กรณีแบบนี้ผมก็เจอมาหลายครั้ง ส่วนใหญ่จะเป็นคาร์บอมบ์ ถ้าเราเปิดฝากระโปรงออกมันก็จะระเบิดทันที

@เคยเจอเหตุการณ์เฉียดตายแค่ไหน

               ตอนนั้นประมาณปี 2550 ผมเข้าไปเก็บกู้ระเบิดในกล่องเหล็ก 5 ลูก ที่ จ.นราธิวาส ขณะที่กำลังเก็บกู้ลูกที่ 1 อยู่นั้น จู่ๆ อีก 4 ลูกก็มีควันลอยขึ้นมาพร้อมกัน ทุกลูกอยู่ห่างไปแค่ 3 เมตรเท่านั้น ผมจึงรีบถอนกำลังออกมา เพราะกลัวระเบิดจะทำงาน แต่โชคดีมากที่เป็นแค่วงจรไหม้เท่านั้น ไม่รู้รอดมาได้ยังไง

@มีกลัวบ้างไหม

               ยิ่งรู้มากก็ยิ่งกลัวมาก และจะประมาทไม่ได้เลย เพราะถ้าพลาดแล้วไม่มีโอกาสแก้ตัว

@เสี่ยงชีวิตขนาดนี้มีการฝึกทบทวน และระมัดระวังตัวเองอย่างไร

               เราจะฝึกทบทวนกันทุกวันในตอนค่ำโดยให้มีการตั้งโจทย์ขึ้นมา แล้วให้กำลังพลฝึกคิดแก้ปัญหา จากนั้นก็ให้คนที่เหลือคอมเม้นต์ (แสดงความคิดเห็น) ว่า สิ่งที่เขาคิดรอบคอบดีแล้วหรือไม่ หรือจะต้องปรับปรุงตรงจุดไหนเพื่อให้ปลอดภัยมากที่สุด จากนั้นก็จะให้ฝ่ายยุทธการสรุปเป็นรูปแบบในการปฏิบัติงานขึ้นมา การฝึกคิดจะช่วยชีวิตเขาได้ เพราะรูปแบบระเบิดมันไม่ตายตัว

@ฝึกทบทวน และระวังกันขนาดนี้มีพลาดบ้างหรือไม่

               ตั้งแต่ตั้งหน่วยมามีสูญเสีย 1 นาย บาดเจ็บ 10 กว่านาย โดยเหตุการณ์ที่สูญเสีย คือ เหตุระเบิดที่อาคารแปดเหลี่ยม จ.ยะลา ปี 2552 และมีบาดเจ็บสาหัสอีก 2 นาย ซึ่งครั้งนั้นกระทบขวัญกำลังใจมากๆ แต่ก็พยายามบอกลูกน้องว่า มันเป็นเรื่องธรรมดาของการทำงานที่ร้อยครั้งพันครั้งต้องมีพลาดกันบ้าง แต่หลังจากนั้นคนที่บาดเจ็บสาหัส 2 นาย ก็กลับเข้ามาทำงานอีกจนถึงวันนี้

@อุปกรณ์ป้องกัน และเบี้ยเสี่ยงภัยเพียงพอหรือไม่

               เราไม่ได้มองตัวเงินเป็นหลัก แต่ถ้าได้ค่าฝ่าอันตรายที่มากขึ้นก็ถือว่าดีกว่าตายแล้วได้เงินเป็นล้าน แต่ไม่ได้ใช้ ทุกวันนี้นายทหารสัญญาบัตรได้ค่าเสี่ยงภัยเดือนละ 10,000 บาท ชั้นประทวน 7,500 บาท สมมุติว่า กู้ระเบิดวันละ 1 ลูก เดือนหนึ่งก็ 30 ลูก ก็ตกลูกละ 200 กว่าบาท แต่ส่วนใหญ่จะมีระเบิดมากกว่านั้น เฉลี่ยปีละประมาณ 1,000 ลูก

               สำหรับอุปกรณ์ตรวจระเบิดก็ใช้ "ไฟโด้" เป็นหลัก ส่วนบอมบ์สูทมี 18 ตัว ซึ่งถือว่าเพียงพอ แต่ของเก่ากำลังหมดอายุปีหน้าอีก 7 ตัว เราก็กำลังเสนอความต้องการมาทดแทน ขณะที่เสื้อเกราะมีประมาณ 20 ตัว กำลังพล 100 กว่าคน ใช้เสร็จก็เอามาผึ่งแดดให้ชุดต่อไปได้ใช้ แต่ถ้าบางครั้งมีระเบิดพร้อมกันหลายสิบจุดก็ไม่พอ ถ้ามีเสื้อเกราะมาเพิ่มก็จะช่วยได้มากขึ้น

@ทำงานหนัก เสี่ยง และเครียดแบบนี้ได้พักแค่ไหน

               เรามีเวลาทำงาน 30 วัน พัก 10 วัน ส่วนผมไม่จัดอยู่ในระบบ เพราะส่วนใหญ่จะอยู่ที่หน่วยตลอด บางครั้งก็ต้องเข้าที่เกิดเหตุด้วย เช่น เหตุป่วน จ.ปัตตานี หลายสิบจุดเมื่อวันที่ 9-10 เมษายน ที่มีทั้งระเบิดเรือประมง และระเบิดรถเกราะรีว่าทำให้ทหารเสียชีวิต 2 นาย แต่บางครั้งถ้าได้มาประชุมกรุงเทพฯ ก็อาจได้พักบ้าง 2-3 วัน

               ส่วนวงรอบการทำงาน คือ ผลัดละ 1 ปี แต่ส่วนใหญ่ลูกน้องผมจะอยู่กันหลายปี ไม่ค่อยมีใครขอย้าย ส่วนที่ต้องย้าย เพราะความจำเป็นของครอบครัวมากกว่า เช่น บางคนต้องไปแต่งงาน มีลูก ต้องกลับไปดูแลพ่อแม่ แต่ก็มีคนมาสมัครใหม่จนเกินความต้องการตลอด

@อยู่ภาคใต้มาเกือบ 10 ปี ไม่มีความคิดที่จะย้าย หรือครอบครัวอยากให้ย้ายบ้างหรือ

               ตั้งแต่จบจากโรงเรียนนายร้อยเมื่อปี 2530 ผมก็ทำงานกับระเบิดมาตลอด และมาอยู่ภาคใต้ตั้งแต่วันแรกๆ หลังเหตุการณ์ปล้นปืน ถามว่า เขาเคยห้าม และอยากให้ย้ายไหมก็ห่วงเป็นธรรมดา แต่ตอนหลังคงชินแล้ว ซึ่งผมก็บอกมาตลอดว่า งานอีโอดี(เก็บกู้วัตถุระเบิด) ในประเทศนี้มีไม่กี่คนที่ทำได้ รวม 3 เหล่าทัพไม่ถึงพันคน ถ้าเราไม่เข้าหา แล้วใครจะทำ 

................

(หมายเหตุ : ผบ.หน่วยกู้ระเบิดฉก.อโณทัย 'ถ้าเราไม่เข้าหา..แล้วใครจะทำ' :  ทีมข่าวความมั่นคงรายงาน)

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ