ข่าว

เขมรินทร-อินทิราและกัมพูชาที่รัก

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เขมรินทร-อินทิราและกัมพูชาที่รัก : วันเว้นวัน จันทร์ พุธ ศุกร์ กับประภัสสร เสวิกุล

               พระราชวังแห่งกรุงพนมเปญ สร้างขึ้นใน พ.ศ.1886 ในรัชสมัยของกษัตริย์นโรดม ภายในพระราชวังประกอบด้วยสถานที่สำคัญๆ เช่น ปราสาทเทวาวินิจฉัย หรือท้องพระโรง ซึ่งกษัตริย์เสด็จออกว่าราชการ ปราสาทสำราญภิรมย์ หรือโรงช้างต้น ที่พระราชวงศ์ฝึกหัดการบังคับช้าง หอบากูที่เก็บเครื่องราชกกุธภัณฑ์ จันทร์ชยา ซึ่งเป็นสถานที่แสดงดนตรีละเม็ง ละครฟ้อนรำ และปราสาทเขมรินทร์ อันเป็นที่ประทับของกษัตริย์และพระราชวงศ์ นอกจากนี้ก็ยังมีวัดพระแก้วมรกต หรือวัดอุโบสถรัตนาราม ซึ่งในสมัยต่อมานิยมเรียกกันว่าวัดเจดีย์เงินอยู่ภายในพระราชวังแห่งนี้ด้วย ซึ่งการวางผังของพระราชวัง และรูปทรงของปราสาท เป็นไปตามคตินิยมของพระบรมมหาราชวังที่กรุงเทพฯ แต่ก็ผสมผสานด้วยศิลปะแบบขอม แต่ชื่อของปราสาทที่หลาย ๆ คน ค่อนข้างจะคุ้นหูกันก็คือปราสาทเขมรินทร์

               จากนวนิยายเรื่อง “เขมรินทร์-อินทิรา” ของ ก.สุรางคนางค์ ซึ่งมีเรื่องย่อๆ ว่า อินทิราได้เดินทางไปสอนภาษาไทยแก่เจ้านายน้อยๆ ที่พนมเปญ และได้พบกับเจ้าชายเขมรินทร์ จนเกิดชอบพอกัน แต่ความสัมพันธ์ของคนทั้งสองต้องสิ้นสุดลงเมื่อเกิดกรณีพิพาทระหว่างไทยกับกัมพูชาในกรณีปราสาทพระวิหาร ซึ่งเมื่อย้อนกลับไปมองสภาพการณ์ทางการเมืองของไทยในยุคนั้น ก็ต้องนับว่า ก.สุรางคนางค์ มีความกล้าหาญมาก ที่นำประเด็นของความขัดแย้งดังกล่าวมาเขียน อย่างทวนกระแสของสังคมที่ถูกปลุกให้เกิดความรู้สึกคลั่งชาติ

               มาพนมเปญคราวนี้ เพื่อสานต่อโครงการวรรณกรรมเพื่ออาเซียน ตามแนวคิดของคุณหญิงลักษณาจันทร เลาหพันธุ์ นายกสมาคมอาเซียน-ประเทศไทย ซึ่งเริ่มต้นมาตั้งแต่ ปี พ.ศ.2552 และมีโอกาสได้ไปเยี่ยมเยียน คุณสิม วันนา นายกสมาคมนักเขียนกัมพูชา และพบปะกับเพื่อนนักเขียนกัมพูชา ทั้งที่มักคุ้นกันตั้งแต่สมัยที่ผมทำโครงการวรรณกรรมสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา ร่วมกับสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม ในปี พ.ศ.2546 และที่พบกันในการประชุมวรรณกรรมแม่น้ำโขง ที่ดานัง ประเทศเวียดนาม เมื่อปีที่แล้ว สิ่งหนึ่งซึ่งเรามีความเห็นตรงกันก็คือ บทบาทของนักเขียนและวรรณกรรมในการเสริมสร้างความเข้าใจอันดี และความรู้สึกดีๆ ของประชาชนต่อประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง อันได้แก่ ไทย กัมพูชา ลาว เวียดนามและพม่า ซึ่งนอกจากวรรณกรรมแล้วศิลปะแขนงอื่น เช่น จิตรกรรม ภาพยนตร์ หรือเพลงและดนตรี ก็มีความสามารถในการทำหน้าที่นี้ได้เป็นอย่างดีเช่นกัน ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับกัมพูชาผ่านเรื่องราวลุ่มๆ ดอนๆ มาหลายครั้งหลายครา เรามีทั้งเพลงและภาพยนตร์ที่ทั้งรักทั้งชังทั้งหวานและขมขื่น หลายต่อหลายเรื่องและหลายต่อหลายเพลง แต่คุณสิม วันนา กับผม เลือกที่จะจดจำเพลง “กัมพูชาที่รัก” ผลงานของครูฉลอง ภู่สว่าง จากเสียงร้องของภูษิต ภู่สว่าง อย่างใจตรงกัน

               พูดก็พูดเถอะครับ ผมคิดว่าความสัมพันธ์ระหว่างประเทศนั้นมีหลากหลายมิติและมีมากมายหลายระดับ ความขัดแย้งในบางประเด็นไม่ควรที่จะเป็นประเด็นนำไปสู่ความขัดแย้งโดยรวม แต่ควรจำกัดพื้นที่และขอบเขตของความขัดแย้งให้แคบที่สุด ขณะเดียวกันก็ขยายพื้นที่และขอบเขตของความสัมพันธ์ในด้านอื่นๆ ให้กว้างไกลออกไป ซึ่งถ้าทำได้เช่นนี้ปัญหาต่างๆ ก็จะเล็กลงตามธรรมชาติ และสัมพันธภาพดีๆ อย่างอื่นก็จะเป็นกลไกในการช่วยผ่อนคลายความขัดแย้งลงไปเอง

               ครับ เหตุการณ์สมัย “เขมรินทร์-อินทิรา” เมื่อ 50 ปีก่อน กำลังจะย้อนกลับมาใหม่อีกครั้ง ท่ามกลางบรรยากาศเช่นเดียวกับเมืองไทยในสมัยนั้น อินทิราจะมีอันต้องพรากจากเขมรินทร์อีกครั้งหรือไม่? และครั้งนี้จะมีสาวเวียดนาม สาวจีนเข้ามาครอบครองหัวใจของเขมรินทร์แทนสาวไทยหรือไม่? โปรดติดตาม “เขมรินทร์-อินทิรา” เวอร์ชั่นใหม่อย่างใกล้ชิด อีกไม่นานเกินรอ

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ