ข่าว

สองคนยลตามช่อง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

สองคนยลตามช่อง : วันเว้นวัน จันทร์ พุธ ศุกร์ กับ ประภัสสร เสวิกุล

              เมื่อผมยังเล็กๆ นั้น ก่อนนอนคุณพ่อคุณแม่จะสอนให้ท่องจำคำประพันธ์บทหนึ่งที่ขึ้นต้นว่า
 

  “วิชาเหมือนสินค้า               อันมีค่าอยู่เมืองไกล
ต้องยากลำบากไป      จึงจะได้สินค้ามา
  จงตั้งเอากายเจ้า     เป็นสำเภาลำโสภา
ความเพียรเป็นโยธา                         แขนซ้ายขวาเป็นเสาใบ
  นิ้วเป็นสายระยาง               สองเท้าต่างสมอใหญ่
ปากเป็นนายงานไป    อัชฌาศัยเป็นเสบียง
  สติเป็นหางเสือ                   ถือท้ายเรือไว้ให้เที่ยง
ถือไว้อย่าให้เอียง                            ตัดแล่นเลี่ยงข้ามคงคา  ฯลฯ”


              เมื่อโตขึ้น ผมจึงทราบว่าบทประพันธ์ดังกล่าวอยู่ในหนังสือดรุณศึกษาของบราเธอร์ฮีแลร์แห่งโรงเรียนอัสสัมชัญ และท่านยังเป็นผู้แปลสุภาษิตอังกฤษหลายบทเป็นภาษาไทย เช่น “สองคนยลตามช่อง คนหนึ่งมองเห็นโคลนตม อีกคนตาแหลมคม เห็นดวงดาวอยู่พราวพราย” ที่รู้จักกันดี

              ผมมีโอกาสได้สัมผัสโรงเรียนอัสสัมชัญ เมื่อลูกชายคนโตซึ่งเป็นนักเรียนอัสสัมชัญ ธนบุรี สอบเข้าเรียนในชั้นมัธยมปลายที่อัสสัมชัญ บางรัก ได้ และเมื่อพาลูกชายไปรายงานตัวนั้น ท่านอธิการบดีในเวลานั้นได้เอ่ยปากขอหนังสือของผมเพื่อเข้าห้องสมุดของโรงเรียน ซึ่งผมรู้สึกเป็นเกียรติอย่างมาก อย่างไรก็ตาม ลูกชายของผมเรียนที่โรงเรียนอัสสัมชัญได้เพียงเทอมเดียว ก็เดินทางไปเรียนต่อที่ต่างประเทศ แต่จากการที่ผมและภรรยาต้องขับรถจากบ้านในย่านบางแคไปส่งลูกที่บางรักทุกเช้าเมื่อ 20 กว่าปีก่อนนั้น เป็นความทรงจำที่ไม่เคยลืมเลือน เพราะกว่าจะฝ่าการจราจรที่แออัดไปถึงโรงเรียนได้ บางครั้งก็สายจนลูกถูกอาจารย์ตี แต่แกก็ไม่เคยปริปากบ่นอะไร เพราะมีความรักและผูกพันกับโรงเรียนเป็นอย่างมาก

              ผมห่างหายจากกรุงเทพฯ ไประยะหนึ่ง เมื่อกลับมาอีกทีก็รู้สึกดีใจที่โรงเรียนอัสสัมชัญขยายด้านหน้าริมถนนเจริญกรุงออกไปอย่างกว้างขวาง แต่ยังรักษาอาคารเก่าสมัยบราเธอร์ฮีแลร์เอาไว้เป็นอย่างดี และยังเคยคิดว่ากรมศิลปากรน่าจะขึ้นทะเบียนอาคารเก่าในโรงเรียนให้เป็นมรดกของชาติ เพราะนอกจากที่นี่จะเป็นสถานศึกษาแห่งแรกๆ ของประเทศไทย ที่สร้างบุคลากรที่มีคุณค่าต่อสังคมมาเป็นระยะเวลายาวนานแล้ว สถานที่แห่งนี้ยังมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราไม่ค่อยจะหวงแหน และถนัดในการทุบทำลายเพื่อผลประโยชน์ในทางธุรกิจ จนกรุงเทพฯ เป็นเมืองที่ไร้รากและเลื่อนลอย แตกต่างจากประเทศเพื่อนบ้านที่พยายามจะเก็บรักษาอาคารเก่าๆ ที่มีค่าทางศิลปกรรมและเรื่องราวในอดีตเอาไว้ให้ลูกหลานได้ชื่นชม

              คนเราสามารถที่จะมีชีวิตอยู่กับโลกปัจจุบันได้ โดยไม่จำเป็นต้องทำลายอดีตหรอกครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำลายอดีตเพื่อผลประโยชน์ส่วนตน และเรื่องอย่างนี้ มองยังไงก็เห็นแต่โคลนตมเท่านั้นแหละครับ

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ