ข่าว

'เหนือเมฆ'ต่อสู้ด้วย'ความเงียบ'

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

'เหนือเมฆ'ต่อสู้ด้วย'ความเงียบ' : คลุกวงใน โดยเสถียร วิริยะพรรณพงศา

            มีเรื่องเล่าให้ฟังขำๆ สืบเนื่องจากละครเหนือเมฆ ภาค 2 ที่เพิ่งถูกแบนไปหมาดๆ คนที่เจ็บปวดมากที่สุดคนหนึ่งจากเหตุการณ์นี้กลับเป็นคนในรัฐบาลเอง ที่เป็นหนึ่งในตัวแสดงในเรื่องด้วย คนนั้นคือ รองโฆษกรัฐบาล ชลิตรัตน์ จันทรุเบกษา และที่แย่สุดๆคือรองชลิตรัตน์ ได้รับเชิญให้ไปเล่นใน 3 ตอนสุดท้ายซึ่งเป็น 3 ตอนที่ถูกแบนไปนั่นเอง เห็นมั้ยใครบอกรัฐบาลจะได้ประโยชน์ อย่างน้อย รองชลิตรัตน์ คนหนึ่งที่ยังบ่นเสียดายจนถึงวันนี้

            หรือว่าผู้จัดรู้ล่วงหน้าว่าละครที่แทงใจนักการเมืองขนาดนี้อาจจะมีชีวิตอยู่ไม่ยืนยาวจนถึงสิ้นอายุขัย จึงวางแผนดึงเอาคนในรัฐบาลมาร่วมลงเรือลำเดียวกันมันซะเลย เผื่อจะเป็นไม้กันหมาปกปักรักษาให้เหนือเมฆได้ฉายตลอดรอดฝั่ง แต่สุดท้ายก็เอาไม่อยู่ คราวหน้าถ้าให้ชัวร์จริงคงต้องเชิญนายกฯ มาร่วมแสดงในตอนจบ รับรองไม่มีใครกล้าหั่นตอนจบออกแน่ ฮ่า

            พูดถึงเรื่องการแบนละครหรือภาพยนตร์ในสังคมไทย คนที่คลุกอยู่ในวงผู้ผลิตละครจะรู้อยู่เต็มอกว่าประเทศไทยมีประชาธิปไตยอยู่แค่อนุสาวรีย์บนถนนราชดำเนินเท่านั้น แต่ในแวดวงศิลปะการแสดงไม่มีคำคำนี้อยู่เลย ข้อจำกัดในการทำบทละคร ภาพยนตร์หยุมหยิมมากมายก่ายกองจนสุดท้ายพวกเขาเลือกเซ็นเซอร์ตัวเองด้วยการทำแต่หนังรักๆ ใคร่ๆ ชิงรักหักสวาท ทั้งเรื่องไม่ต้องคิดเรื่องอื่นเลยนอกจากหาทางแย่งผัวแย่งเมียกัน เท่านั้นปลอดภัยร้อยเปอร์เซ็นต์

            ราวปี 2537 กันตนาเคยทำละครเรื่องหนึ่งซึ่งโด่งดังมากในยุคนั้น เรื่อง “สารวัตรใหญ่” เป็นเรื่องราวของตำรวจหนุ่มผู้มีอุดมการณ์ ชื่อว่า พ.ต.ต.ใหญ่ เวโรจน์ ผู้มุ่งมั่นพิทักษ์ความถูกต้องเหนือสิ่งอื่นใด นอกจากสารวัตรใหญ่ ต้องเผชิญหน้าโจรผู้ร้ายแล้ว ยังต้องต่อสู้กับตำรวจชั่วที่ขัดขวางการทำหน้าที่ของเขาอีกด้วย

            ละครเรื่องนี้โดนใจคนทั้งประเทศ เรตติ้งพุ่งปรู๊ดปร๊าด แต่สุดท้ายชะตากรรมเหมือนเหนือเมฆคือฉายได้ไม่ถึงตอนจบ เพราะตำรวจเขามองว่าทำให้ภาพลักษณ์ตำรวจเสียหาย ถ้ายุคนั้นมีเอแบคโพล หรือสวนดุสิตโพล ก็ควรจะให้ไปถามว่าชาวบ้านเห็นว่าก่อนมีละครเรื่องนี้ชาวบ้านเขามองภาพลักษณ์ตำรวจขาวใสบริสุทธิ์ผุดผ่องอย่างนั้นหรือ หรือมันย่ำแย่มาก่อน ละครแค่สะท้อนบางเสี้ยวของมันออกมาเท่านั้น

            เมื่อคลุกวงในคนทำละครป้อนทีวีในบ้านเราก็จะพบว่าพวกเขาทำงานด้วยความรู้สึกอึดอัด เสรีภาพในการที่คิดจะทำหนังทำละครตามอุดมการณ์ สะท้อนแง่มุมต่างๆ ที่เกิดขึ้นจริงในสังคมมันถูกจำกัดด้วยอำนาจบางอย่างที่ครอบงำสถานีมายาวนาน

            ปรากฏการณ์ฆ่าตัดตอนเหนือเมฆ ภาค 2 นอกจากทำให้เราได้ตระหนักความเป็นประชาธิปไตยในบ้านเราว่ามันไม่ได้สวยงามอย่างที่นักการเมืองมักจะอ้างกัน ก็อยากให้เห็นใจคนทำหนังทำละครวันนี้พวกเขาอยู่ในสถานะที่ต้องกลืนเลือดทุกวัน ทำงานตามอุดมการณ์ก็ไม่ได้ พอจะอธิบายชี้แจงสังคมก็ถูกสั่งให้ปิดปากเงียบอีก

            แต่ผมเชื่อว่าพวกเขายังจะต่อสู้กับอำนาจที่อยู่เหนือเมฆเพื่อเสรีภาพของคนทำงานศิลปะ เพราะความเงียบใช่จะหมายถึงการยอมจำนนซะเมื่อไหร่ล่ะ

            การเงียบคือการพูดอย่างหนึ่ง เผลอๆ มันดังกึกก้องกว่าการเอ่ยปากออกมาเสียอีก

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ