ข่าว

เดอะ กู๊ด เดอะ แบด แอนด์ ดิ อั๊กลี่ (2)

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เดอะ กู๊ด เดอะ แบด แอนด์ ดิ อั๊กลี่ (2) : วันเว้นวัน จันทร์ พุธ ศุกร์กับ ประภัสสร เสวิกุล

               ในบรรดามิชชั่นนารีอเมริกันที่เดินทางเข้ามาประเทศไทยในยุคแรก นายแพทย์แดน บีช แบรดเลย์ ที่คนไทยรู้จักกันในชื่อ หมอบรัด หรือหมอปลัดเล นับว่าเป็นบุคคลมีชื่อเสียงและบทบาทอย่างสูง หมอบรัดเลย์ เป็นชาวนิวยอร์ก เกิดเมื่อ พ.ศ. 2355 นับถึงปีนี้ก็มีอายุได้ 200 ปีพอดี และเดินทางมาถึงกรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ.2378 ในระยะแรกได้พำนักอยู่กับมิชชั่นนารีอีกคนหนึ่งที่วัดเกาะ เขตสัมพันธวงศ์ และได้ตั้งโอสถศาลาขึ้นที่วัดเกาะ เพื่อรักษาชาวบ้านที่เจ็บป่วย พร้อมกับสอนศาสนาไปด้วย

               ในเวลาต่อมาได้ย้ายไปอยู่แถวกุฎีจีน ใกล้โบสถ์ซางตาครู้ส ฝั่งธนบุรี และได้เปิดโรงพิมพ์ขึ้นด้วย ซึ่งนอกจากพิมพ์หนังสือเกี่ยวกับศาสนาคริสต์แล้ว ยังรับพิมพ์ประกาศของทางราชการ โดยพิมพ์ประกาศเรื่องห้ามนำฝิ่นเข้ามาในประทศสยาม เป็นฉบับแรก นอกจากนี้ยังพิมพ์หนังสือวรรณคดีจีนที่แปลเป็นภาษาไทย เช่น  ไคเภ็ก ไซฮั่น สามก๊ก เลียดก๊ก ห้องสิน เป็นต้น

               ที่สำคัญก็คือการออกหนังสือพิมพ์รายปีชื่อ บางกอกกาเลนเดอร์  และรายสัปดาห์ชื่อ บางกอกรีคอร์เดอร์ ทำให้การอ่านหนังสือเป็นที่แพร่หลายในประเทศไทย หมอบรัดเลย์มีจิตวิญญาณของนักหนังสือพิมพ์ที่กล้าหาญและรักความเป็นธรรม เมื่อกงสุลฝรั่งเศสละเมิดอำนาจไทย โดยชวนข้าทาสไทยให้เข้าไปอยู่ในความคุ้มครองของฝรั่งเศส และตั้งตนเป็นเอเยนต์จำหน่ายสุราโดยไม่แจ้งให้รัฐบาลไทยทราบ หมอบรัดเลย์ก็นำเรื่องไปลงในหนังสือพิมพ์ของตน จนถูกฟ้องร้อง และถูกปรับ แต่พวกฝรั่งในเมืองไทยได้รวบรวมเงินจ่ายค่าปรับแทน โดยรัชกาลที่ 4 พระราชทานเงินสมทบด้วย

               หมอบรัดเลย์มีความเป็นอยู่ที่ค่อนข้างลำบาก ต้องย้ายบ้านพักหลายครั้ง จนในบั้นปลายของชีวิต รัชกาลที่ 5 ได้พระราชทานบ้านหลังป้อมวิไชยประสิทธิ์ ธนบุรี ให้เป็นที่อยู่ หมอบรัดเลย์ถึงแก่กรรม ในพ.ศ. 2416 ขณะอายุได้ 71 ปี

               มิชชั่นนารีอเมริกันอีกคนหนึ่งที่มีชื่อเสียงและพฤติกรรมในด้านตรงข้ามกับหมอบรัดเลย์ ก็คือ นายแพทย์มารีออน ชีค ซึ่งคนไทยเรียกว่าหมอชิต เดินทางเข้ามาประเทศไทยใน พ.ศ.2417 ขณะอายุได้เพียง 21 ปี และได้แต่งงานกับ ลูกสาวหมอบรัดเลย์ ในปีต่อมาได้ขึ้นไปปฏิบัติหน้าที่ที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งก็ได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเข้มแข็งจนเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป

               เชียงใหม่เมื่อร้อยกว่าปีก่อนยังมีป่าไม้อุดมสมบูรณ์ บริษัทอังกฤษหลายบริษัทจึงแข่งขันกันเข้ามาขอสัมปทานตัดไม้ รวมทั้งบริษัทบอร์เนียวซึ่งได้จ้างหมอชิตกับ นายหลุยส์ ที.เลียวโนเวนส์ ลูกชายของแหม่มแอนนา ครูสอนภาษาอังกฤษในราชสำนักสมัยรัชกาลที่ 4 ร่วมกันเป็นผู้จัดการด้านกิจการป่าไม้ นายหลุยส์นั้นนอกจากจะรู้จักคุ้นเคยกับเจ้านายไทยหลายพระองค์แล้วก็ยังเป็นลูกเขยของนายนอกซ์ กงสุลอังกฤษประจำประเทศไทยอีกด้วย

               ในชั้นแรกทั้งหมอชิตและนายหลุยส์ประสบความสำเร็จในการทำงานเป็นอย่างดี และได้รับค่าตอบแทนเป็นจำนวนมาก ทั้งสองคนปลูกเรือนหลังใหญ่ริมแม่น้ำปิง เลี้ยงดูสาวๆ ไว้หลายสิบคน และใช้ชีวิตอย่างสำเริงสำราญจนเป็นที่เลื่องลือ

               แต่ต่อมาหมอชิตมีปัญหาเรื่องการเงินกับบริษัทบอร์เนียว เพราะใช้เงินบริษัทไปถึงสองแสนกว่าบาทโดยไม่สามารถให้รายละเอียดได้ บริษัทจึงเปลี่ยนสัญญาการว่าจ้างใหม่ เป็นการจ้างรายปี และให้หมอชิตคืนเงินที่จ่ายเกินบัญชี หมอชิตจึงออกจากบริษัทบอร์เนียวมาทำสัญญาค้าไม้กับรัฐบาลสยาม โดยรัฐบาลให้ยืมเงินจำนวนแปดแสนบาทเพื่อทำทุน แต่หมอชิตมีนิสัยสุรุ่ยสุร่ายใช้เงินเกินตัวและขยายกิจการออกไปจนเกินกำลัง

               ดังนั้น การค้าไม้จึงประสบปัญหา ไม่สามารถหาเงินมาคืนรัฐบาลได้ เมื่อถูกเร่งรัดหนี้ หมอชิตจึงจำต้องขายไม้ส่วนหนึ่งให้แก่นายหลุยส์เพื่อนเก่าซึ่งกลายมาเป็นคู่แข่ง และเจรจากับบริษัทบอมเบย์ เบอร์ม่า ของอังกฤษ ซึ่งตั้งอยู่ในอินเดีย ให้จ่ายดอกเบี้ยเงินที่ยืมมาจากรัฐบาลสยามจำนวนสองแสนบาท กับให้หมอชิตยืมมาลงทุนในบริษัทอีกสี่แสนบาท

               รัฐบาลสยามไม่ยอมรับเงินสองแสนบาทจากบริษัทอินเดีย เบอร์ม่า เพราะทราบว่าบริษัทนี้ยุยงให้อังกฤษส่งกำลังทหารเข้ายึดพม่า จึงเกรงว่าจะเกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยขึ้นที่เชียงใหม่ และหมดความไว้วางใจหมอชิต จึงได้ยึดไม้ซุงและยึดทรัพย์หมอชิตชดใช้หนี้ หมอชิตจึงยื่นฟ้องรัฐบาลสยาม เรียกร้องค่าเสียหายเป็นเงินเกือบสองแสนบาท คดีนี้ยืดเยื้อเป็นเวลานานถึง 8 ปี ในที่สุดกงสุลอังกฤษประจำจีนและญี่ปุ่น ซึ่งทำหน้าที่พิจารณาคดีได้ตัดสินว่า การที่หมอชิตยืมเงินจากรัฐบาลสยามแล้วไม่ใช้ทั้งต้นและดอก ไม่ถือเป็นความผิด เพราะรัฐบาลสยามไปยึดซุงและอุปกรณ์การตัดไม้ของหมอชิต ดังนั้นหมอชิตจึงไม่ต้องชำระหนี้สินที่มีอยู่กับรัฐบาลสยาม แต่รัฐบาลสยามต้องจ่ายค่าเสียหายแก่หมอชิตเป็นเงินเจ็ดแสนกว่าบาท ซึ่งสูงกว่าที่เรียกร้องในคำฟ้องถึง 3 เท่า แต่หมอชิตเสียชีวิตไปก่อนหน้านั้นแล้ว
สิ่งที่หลงเหลืออยู่สำหรับมิชชั่นนารีอเมริกันผู้นี้ น่าจะเป็นบทจ๊อยซอบทหนึ่งที่ว่า

“ป้อเลี้ยงหมอชิตกับมิสสลวย
เอาสาวนอนต้วยสองคืนสิบห้า
อีหลวยเข้านอนอีออนนอนท่า
ว่าปอแล้วกาป้อเลี้ยง
  ป้อเลี้ยงหมอชิตกับมิสสลวย
  เอาสาวนอนต้วยสองคืนสิบห้า
  อีคำขอเงิน อีหวนขอผ้า อีโนขอช้าง
  ว่าปอแล้วกาป้อเลี้ยง...”

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ