ข่าว

แมวกับหนู

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

แมวกับหนู : วันเว้นวันจันทร์ พุธ ศุกร์กับ ประภัสสร เสวิกุล

             การเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนในเวลานี้ นอกจากจะสร้างความไม่สบายใจให้แก่สหรัฐ และยุโรป ซึ่งเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจมาแต่เดิมแล้ว ก็ยังสร้างความกังวลแก่ประเทศในเอเชียโดยเฉพาะประเทศที่มีชายแดนหรือน่านน้ำใกล้ชิดกับจีน จนก่อให้เกิดกระแสไม่ไว้ใจจีนขึ้น แม้ว่าจีนจะพยายามทำตัวเป็นมิตรที่ดีกับประเทศเหล่านั้น และย้ำอยู่เนืองๆ ว่าจีนต้องการที่จะเห็นอาณาบริเวณนี้ของโลกมีเสถียรภาพและสันติสุขก็ตาม
 
             การอยู่บ้านข้างๆ กับยักษ์ใหญ่นั้น บอกตรงๆ ว่า คงไม่ใช่เรื่องที่ทำให้คนตัวเล็กมีความสุขหรือนอนตาหลับได้หรอกครับ ยิ่งเป็นยักษ์ที่โตเอาๆ ก็ยิ่งทำให้ไม่มีความสุขเข้าไปอีก เพราะไม่แน่ใจว่าวันใดวันหนึ่งยักษ์จะเกิดหน้ามืดเห็นเพื่อนบ้านเป็นอาหารประเภทเปิบพิสดารขึ้นมา
 
             ในทวีปอเมริกา เมื่อ ประธานาธิบดีเจมส์ มอนโร ประกาศ “ลัทธิมอนโร” ที่ห้ามประเทศในยุโรปเข้ามายุ่มย่ามในทวีปอเมริกานั้น หลายประเทศในอเมริกากลาง อเมริกาใต้ และแคริบเบียน คงจะรู้สึกปลอดภัยจากการรุกรานจากภายนอก แต่เอาเข้าจริงๆ แล้ว ภัยใกล้ตัวที่เกิดจากสหรัฐนั้นก็หนักหนาและน่ากลัวกว่าภัยจากภายนอกเสียด้วยซ้ำ เพราะสหรัฐถืออำนาจของความเป็นลูกพี่ใหญ่ จัดระเบียบประเทศต่างๆ ในอาณาเขตทวีปอเมริกาตามใจชอบ ไม่ว่าจะเป็นการยกพลขึ้นบกที่โน่นที่นี่ก่อการปฏิวัติ หรือเลื่อน ลด ปลด ย้าย บรรดาผู้นำที่อยู่ใต้อิทธิพลของตนเป็นว่าเล่น
 
             ในเอเชียช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง ญี่ปุ่นประกาศแนวคิด “วงศ์ไพบูลย์แห่งมหาเอเชียบูรพา” เพื่อรวบรวมประเทศในเอเชียเป็นปึกแผ่น และต่อต้านโค่นล้มอำนาจภายนอกของจักรวรรดินิยมทั้งหลาย แต่เอาเข้าจริงๆ แล้ว นั่นก็คือการเปลี่ยนมือที่ปกครองประเทศเหล่านั้นจากจักรวรรดินิยมยุโรปมาสู่มือของทหารสมเด็จพระจักรพรรดิญี่ปุ่น ซึ่งเลวร้ายและรุนแรงกว่าเดิม
 
             ความไม่ไว้ใจจีน จะเห็นได้จากการที่พม่ายกโครงการสร้างทางรถไฟจากจีนที่ผ่านตอนเหนือของพม่าเพื่อข้ามมาลาวและประเทศไทย หรือการที่พม่าซึ่งเคยมีความสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับจีน ดำเนินนโยบายเปิดประเทศอย่างรวดเร็ว เพื่อต้อนรับนักลงทุนจากต่างประเทศให้เข้ามาลงทุนด้านต่างๆ ในพม่า รวมทั้งความขัดแย้งเรื่องหมู่เกาะพาราเซล และสแปรตลีย์ ที่จีนและประเทศสมาชิกอาเซียนหลายประเทศ ต่างก็อ้างกรรมสิทธิ์ การอพยพประชากรจีนเข้าไปในประเทศเพื่อนบ้าน ฯลฯ
 
             การเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนเช่นที่เป็นอยู่ในเวลานี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอาศัยทรัพยากรและวัตถุดิบจำนวนมหาศาลเพื่อมาป้อนการผลิต ทั้งเพื่อการส่งออกและการบริโภคภายในประเทศ และการแสวงหาทรัพยากรและวัตถุดิบก็คือปฐมเหตุประการหนึ่งของการกำเนิดลัทธิล่าอาณานิคม และจักรวรรดินิยมในอดีต
 
             พม่าอาจเป็นประเทศที่ร่วมทุกข์กับจีนมาช้านาน นับตั้งแต่สมัยที่ทั้งสองประเทศยังลำบากยากแค้น แต่วันนี้เมื่อจีนกลายเป็นประเทศที่มั่งคั่งแทบจะที่สุดของโลก พม่าก็ไม่สามารถจะร่วมสุขกับจีนได้ และต้องแยกตัวออกห่าง
 
             สมัยหนึ่ง เติ้ง เสี่ยวผิง เคยกล่าวถึงการพัฒนาเศรษฐกิจจีนไว้ว่า “แมวสีอะไรไม่สำคัญ ขอให้จับหนูได้ก็แล้วกัน” แต่สมัยนี้ ทุนนิยมในจีนอาจจะกล่าวว่า “หนูสีอะไรไม่สำคัญ ขอให้แมวจับไว้ได้ก็แล้วกัน”
 
             ดังนั้น ประเทศต่างๆ ที่อยู่ใกล้จีน ก็คงจะคิดว่า “จะเป็นหนูสีอะไรไม่สำคัญ ขอให้หนีแมวได้ก็แล้วกัน”

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ