ข่าว

สอบ "สงกรานต์เลือด" เหลว

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

แม้เริ่มต้นจะเกิดจากความตั้งใจดีของเหล่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่พยายามจะแกะรอย ตามล่าหาความจริง ในเหตุการณ์ “สงกรานต์ทมิฬ" จึงมีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง โดยโฟกัสไปที่เหตุรุนแรงในวันที่ 8-15 เมษายน 2552

 จนถึงขณะนี้ 40 กรรมการที่มาจากพรรคการเมือง วุฒิสมาชิก และคนนอก ที่ออกสตาร์ทประชุมไปแล้ว 3 นัด สังคมจ่ายค่าเบี้ยประชุมไปแล้วเหยียบแสนบาท

 แต่ผลลัพธ์นั้นยังดูจะไกลเกินเอื้อมถึง แก่นสานสาระที่จับต้องได้มีเพียงน้อยนิด

 และถ้าเปรียบคณะกรรมการชุดนี้เป็นเหมือนเรือ ที่มี “สมศักดิ์ บุญทอง" เป็นกัปตัน ก็เป็นเรือที่ลอยเคว้งคว้างอยู่กลางทะเลลึก หาทิศทางที่จะมุ่งหน้าเข้าฝั่งไม่เจอ หมุนไปทางโน้นที ทางนี้ที ตาม "ลมปาก" ของนักการเมืองแต่ละฝ่าย แต่ละปีก
 ถ้าย้อนกลับไปดูภารกิจของกรรมการชุดนี้ จะเห็นว่ามี 3 ประการที่สำคัญ คือ

 1.ศึกษา รวบรวมและตรวจสอบข้อมูล ข้อเท็จจริง ตลอดจนรายละเอียดต่างๆ ที่เกี่ยวกับกรณีเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมืองระหว่างวันที่ 8-15 เมษายน 2552

 2.รวบรวมข้อมูล ข้อเท็จจริง ผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน และกำหนดแนวทางการดำเนินการของฝ่ายนิติบัญญัติ เพื่อให้เกิดความปรองดอง สมานฉันท์ของคนในชาติ

 3.ประมวลและรวบรวมข้อเสนอในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบเพื่อเผยแพร่และรายงานให้รัฐสภาทราบ
 ภารกิจที่ถูกกำหนดนั้น “ดูดี" น่าจะมีความหวัง แต่ในทางปฏิบัติกลับเป็นคนละเรื่องกับหลักการที่ถูกวางไว้ให้ทำ

 โดยเฉพาะ “ความจริง" ที่เป็นข้อสงสัยของสังคม

 ไม่ว่าจะเป็นกรณีการเผารถเมล์ การยึดรถแก๊ส การล้มการประชุมสุดยอดอาเซียน หรือการปะทะกันจนมีผู้เสียชีวิต และได้รับบาดเจ็บหลายร้อยคน

 ประเด็นต่างๆ ที่คลุมเครือเหล่านี้ ยิ่งหาความกระจ่างไม่ได้ ก็ยิ่งเป็นปมที่ทำให้สังคมเกิดความแตกแยก

 ฝ่ายหนึ่งก็บอกว่าฝ่ายเสื้อแดงก่อจลาจล
 ขณะที่อีกฝ่ายยันว่ารัฐบาลจัดฉากใส่ร้ายเสื้อแดง
 ตกลงใครเป็นฝ่ายก่อจลาจล ใครเป็นฝ่ายเริ่มใช้ความรุนแรง

 เมื่อ “ความจริง" ยังไม่ชัดเจน กองเชียร์แต่ละฝ่ายก็พร้อมจะเชื่อในมุมที่แกนนำตัวเองเชื่อ "เสื้อแดง" ไม่น้อยก็ยังเชื่อว่า นายกรัฐมนตรีไม่อยู่ในรถที่กระทรวงมหาดไทย แถมยังเชื่อด้วยว่า การสลายม็อบเที่ยวนี้มีคนตายไม่น้อย แต่ทหารซุกศพไว้ไม่ให้เห็น
 
 ดังนั้น สิ่งที่จะสยบข่าวลือได้ดีที่สุดก็คือ “ความจริง" ซึ่งมาพร้อมกับ “หลักฐาน" ที่น่าเชื่อถือ

 แต่การประชุม 40 ผู้ทรงเกียรติ ที่ปักหลักประชุมกันมา 3 นัด ก็ยัง “งม" หาหลัก หาเข็มทิศในการเดินไม่ได้

 และอุปสรรคที่สำคัญที่สุดคือ “วุฒิภาวะ” ของเหล่ากรรมการ โดยเฉพาะกรรมการที่มาจาก “เพื่อไทย" และ “ประชาธิปัตย์”

 ที่ไม่ยอม “สลัด" สีที่ติดตัวมา ทั้ง เหลือง-แดง

 วงประชุมการค้นหาความจริง จึงกลายสภาพเป็น เวทีฟาดปาก วิวาทะกันทางการเมือง ไปเสียฉิบ

 "อคติ" ที่ยึดติดกับพวกพ้อง กลุ่มก้อนทางการเมือง หรือความต้องการที่จะเอาใจ “กองเชียร์" กลายเป็นกำแพงที่กรรมการจากปีกฝ่ายค้าน และปีกรัฐบาล ก้าวข้ามไม่พ้น

 ซึ่งหากยังก้าวไม่พ้นพวกพ้อง ก็ไม่มีวันจะพบ “ความจริง”

 เวทีนี้จึงกลับกลายเป็นเวทีที่ “ช่วงชิง" เอาชนะคะคานกันในทางการเมือง เอาความคิดเห็น ความเชื่อ แล้วยกระดับไปเป็น “ความจริง” ของฝ่ายตัวเอง

 เป็น “ความจริง” ที่ตัวเองอยากให้เป็น

 และเมื่อแต่ละฝ่ายพกพา “ธง" ของตัวเอง ไม่เชื่อในสิ่งที่ฝ่ายตรงข้ามชี้แจง

  แต่พร้อมจะเชื่อทุกอย่างที่พวกตัวเองอธิบาย ถึงแม้ในความเป็นจริงเหตุผลจะน้อยนิดเพียงใดก็ตาม

 “สงวน พงษ์มณี” ส.ส.ลำพูน พรรคเพื่อไทย รองประธานคณะกรรมการ บอกว่า “กรรมการชุดนี้ไม่สามารถชำระประวัติศาสตร์ให้หมดจดได้ แต่ทำได้เพียงบันทึกความจริงของกลุ่มคน 2 ฝ่ายเอาไว้ แล้วให้สาธารณชนตัดสิน"

 สุดท้ายกรรมการสะสางเหตุ “เมษาเลือด" ก็ไม่มีอะไรตื่นเต้นมากกว่าบันทึก “ความเห็น” และ “ความเชื่อ” ของแต่ละฝ่าย ไม่มี "ความจริง" ที่น่าเชื่อถือให้ลูกหลานได้เรียนรู้

 เหมือนอย่างที่เคยทำมาหลายครั้ง-หลายหน ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

 จึงไม่น่าแปลกใจ ที่แม้ว่าล่วงเลยมาถึงปี 2551 “สมัคร สุนทรเวช” ยังเชื่อว่า เหตุการณ์ล้อมปราบนักศึกษาเมื่อ 6 ตุลาคม 2519 มีคนตายแค่คนเดียว

 เหตุการณ์ "สงกรานต์เลือด" ก็ลงเอย "อีหรอบ" เดียวกัน ไม่มีความกระจ่าง ปล่อยให้มีการถกเถียงกันต่อไป อย่างไม่มีวันรู้จบ

  **เสถียร วิริยะพรรณพงศา**

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ