ข่าว

รัดทำมะนวยกะอรหัง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

รัดทำมะนวยกะอรหัง : ว่ายทวนอารมณ์ โดย ใบตองแห้ง [email protected] รัดทำมะนวยกะอรหัง

                ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 จะกลับเข้ามาพิจารณาวาระ 2 ในรัฐสภาวันที่ 10-11 เมษายนนี้ โดยมีหลายประเด็นร้อนที่ต้องถกกัน
   
              ประเด็นแรก คือกรรมาธิการเสียงข้างน้อย ฉวยโอกาสที่ฝ่ายรัฐบาลหลังยาวหรือไรไม่ทราบ ลงมติ 12 ต่อ 10 ให้มี สสร.จากการเลือกตั้งโดยตรง 200 คน โดยยึดสัดส่วนตามการเลือกตั้งวุฒิสภาปี 2543 ไม่ต้องมีนักวิชาการ 22 คนที่สภาเลือก แต่ปรากฏว่ารัฐบาลใช้เสียงข้างมากพลิกมติกลับมาเป็น สสร. 77 คนบวกนักวิชาการ 22 คนตามเดิม
   
              ประเด็นนี้ถ้ามองข้ามการเอาชนะคะคานระหว่างฝ่ายค้านรัฐบาล โดยหลักการแล้วควรเลือก ส
สร.ตามสัดส่วนประชากร ร่าง 291 ทำตัวเป็นลูกปูเดินตามแม่ปู คือรัฐธรรมนูญ 2550 ให้มี ส.ว.เลือกตั้งจังหวัดละ 1 คน โดยอธิบายเหตุผลไม่ได้ว่าทำไมระนองกับกรุงเทพฯ จึงต้องมี ส.ว.เท่ากัน ประเทศไทยไม่ใช่สหพันธรัฐที่มี 77 รัฐ แม้แต่ร่างแก้ไข 291 ของ นปช.ที่รัฐบาลไม่ยอมรอ ก็เสนอให้มาจากการเลือกตั้งตามสัดส่วนประชากร แม้ให้มี 100 คนเท่านั้น
   
              ประเด็นที่สอง การกำหนดว่าห้ามแก้หมวดพระมหากษัตริย์ เป็นการดูหมิ่นสติปัญญาและวิจารณญาณของ สสร.ที่จะมาจากการเลือกตั้งไว้ล่วงหน้า ยังกะ สสร.ที่ประชาชนเลือกเข้ามาจะตั้งหน้าตั้งตามา “ล้มเจ้า” พวกเขาไม่มีวิจารณญาณที่จะรับฟังกระแสสังคมเลยหรือครับ ถ้าสังคมมีฉันทามติไม่ให้แก้ สสร. หรือจะกล้าแก้ แก้ไปก็ยังต้องลงประชามติ ถ้าแก้ไม่เหมาะสม เผลอๆ จะแพ้ประชามติเอา
   
              มาตรา 291 ควรกำหนดไว้ในหลักการว่าต้องอยู่ในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเท่านั้นก็พอ นี่มันเกมการเมืองที่ประชาธิปัตย์โหนสถาบัน แล้วเพื่อไทยก็กลัว จนเต้นตามไปด้วย
   
              อันที่จริง หมวดพระมหากษัตริย์ใช่ว่าจะไม่เคยแก้ ครั้งล่าสุดแก้โดยคณะรัฐประหาร รสช.ในรัฐธรรมนูญ 2534 แต่ห้าม สสร.ที่มาจากการเลือกตั้งแก้ซะงั้น
   
              ประเด็นที่ 3-4-5 มาจากการทักท้วงของ “10 อรหันต์” ที่ปรึกษาผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งเพื่อนสื่อบางรายบอกว่าเป็นฝ่ายต่อต้านรัฐบาลเสีย 80% ผมก็ยังมองหาอยู่ว่าที่เหลือ 2 คนเป็นใคร (ฮา) 10 อรหันต์เพิ่งสรุปความเห็นเมื่อวันที่ 4 เมษายน โดยสื่อเอาไปพาดหัวแบบมั่วเลอะเพราะความไม่รู้ว่า 10 อรหันต์ชี้ 3 ประเด็นขัดรัฐธรรมนูญ
   
              อันที่จริงมีประเด็นเดียวเท่านั้นที่ 10 อรหันต์ท้วงว่ามีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ คือร่างแก้ไข 291 ให้ประธานรัฐสภาลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแทนที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี แต่คณะกรรมาธิการชี้แจงว่านั่นเป็นร่างเดิมของ ครม. ร่างของกรรมาธิการแก้ไขแล้ว ฉะนั้นประเด็นขัดรัฐธรรมนูญก็ตกไป
   
              ประเด็นที่สองคือ 10 อรหันต์คัดค้านการให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้วินิจฉัยว่า รัฐธรรมนูญที่ ส
สร.ร่างออกมา ขัดต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่ โดยเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้วินิจฉัย และให้เขียนเพิ่มเข้าไปในมาตรา 291/13
   
              ขอบอกว่าเป็นเรื่องตลก 10 อรหังแหกตาชาวบ้านไม่รู้กฎหมาย ไปอ้างอำนาจวินิจฉัยร่างพระราชบัญญัติของศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 154 แต่นี่คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่พระราชบัญญัติ อ.ปิยบุตร แสงกนกกุล แห่งนิติราษฎร์โต้ว่าไม่ถูกต้อง เพราะศาลรัฐธรรมนูญใช้อำนาจที่รับมอบมาจากรัฐธรรมนูญ แต่อำนาจในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นอำนาจที่อยู่สูงกว่า
   
              เมื่อตอนที่รัฐบาลประชาธิปัตย์แก้ไขรัฐธรรมนูญ เดือนกุมภาพันธ์ 2554 พรรคเพื่อไทยก็เคยส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย แต่ศาลรัฐธรรมนูญไม่วินิจฉัยเพราะเห็นว่าการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญไม่ใช่พระราชบัญญัติ ไม่อยู่ในอำนาจศาลตามมาตรา 154
   
              กรณีนี้ยกตัวอย่างง่ายๆ เหมือนระเบียบบริษัท ฝ่ายนิติกรเป็นผู้คุมกฎ คอยตีความว่าพนักงานทำผิดระเบียบหรือไม่ ผู้จัดการออกคำสั่งถูกต้องตามระเบียบหรือไม่ แต่คณะกรรมการบริษัทจะออกระเบียบใหม่ แล้วคุณบอกให้ฝ่ายนิติกรไปตรวจสอบความชอบของระเบียบใหม่ ถามว่าอำนาจไหนอยู่สูงกว่า
   
              อย่างไรก็ดี ประเด็นที่สามผมเห็นว่า 10 อรหังถูก แต่พรรคเพื่อไทยฟังไม่กระเดียดเอาไปสับ 10 อรหังชี้ว่าที่ให้ประชาชนลงประชามติแล้วจึงนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย โดยนำมาตรา 150, 151 ที่ใช้กับพระราชบัญญัติมาใช้บังคับโดยอนุโลม คือให้พระมหากษัตริย์มีอำนาจยับยั้ง แล้วส่งกลับไปให้รัฐสภาลงมติยืนยันนั้น ย่อมขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 3 และเป็นการมิบังควรอย่างยิ่งในทางการเมือง จึงควรบัญญัติว่าเมื่อลงประชามติแล้วให้ประธานรัฐสภานำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย และประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญเลย จะเหมาะสมกว่า
   
              10 อรหังถูก กระนั้นก็ต้องโทษ 10 อรหังด้วยที่อธิบายอย่างอ้ำอึ้ง หลบๆ เลี่ยงๆ ไม่พูดให้กระจ่าง คนฟังไม่เข้าใจ ที่ถูกควรบอกว่ามาตรา 3 คือหลักการสูงสุดของระบอบประชาธิปไตย การลงประชามติของประชาชนทั้งประเทศเป็นการใช้อำนาจอธิปไตยโดยตรง เป็นอำนาจสูงสุดเหนืออำนาจทั้งปวง พระมหากษัตริย์ยับยั้งไม่ได้ รัฐสภาก็ยับยั้งไม่ได้ รัฐสภาจะมาให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบอีกไม่ได้ เพราะประชามติของประชาชนอยู่เหนือมติผู้แทน 650 คน ประธานรัฐสภามีหน้าที่นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยแล้วประกาศใช้เลยเท่านั้น

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ