ข่าว

ส.ปกเกล้าเสนอโละคดีคตส.

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เปิดรายงานข้อเสนอเส้นทางปรองดอง ส.ปกเกล้าฯ ย้ำต้องเร่งหาความจริง เสนอโละคดี คตส. เฉพาะคดีที่ยังไม่สิ้นสุด นำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมปกติ โดยไม่นับอายุความ จี้ ออก พรบ.นิรโทษกรรมการชุมนุม ขณะที่ "สนธิ" เล็งต่ออายุกมธ.อีก 30 วัน

            6มี.ค.2555 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ (กมธ.ปรองดอง) สภาผู้แทนราษฎร ที่มีพล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคมาตุภูมิ เป็นประธาน โดยสถาบันพระปกเกล้าได้นำเสนอรางรายงานการวิจัย เรื่อง การสร้างความปรองดองแห่งชาติ ซึ่งมีข้อเสนอกระบวนการสร้างความปรองดองในชาติ โดยสรุป คือ ในการสร้างความปรองดองระยะสั้น 1. ต้องเร่งค้นหาความจริงของเหตุการณ์ โดยสนับสนุนให้คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน ซึ่งหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องต้องให้งบประมาณและบุคลากรที่เพียงพอ ทั้งนี้เมื่อได้ข้อเท็จจริงแล้วต้องนำมาเปิดเผยเพื่อให้เกิดการเรียนรู้และถอดบทเรียนไม่ให้เหตุการณ์เกิดขึ้นซ้ำอีก

              2.ต้องให้อภัยผ่านกระบวนการนิรโทษกรรมคดีที่เกี่ยวกับการชุมนุมทางการเมือง ผู้ที่ร่วมชุมนุมทุกฝ่าย ทั้งเจ้าหน้าที่รัฐ, ผู้บังคับบัญชา และผู้ที่รับผิดชอบในการรักษาความสงบเรียบร้อย โดยแบ่งเป็น 2 ทางเลือก คือ 1.ออกพระราชบัญญัติ (พรบ.) นิรโทษกรรมคดีที่เกี่ยวกับการชุมนุมทางการเมืองทุกประเภท รวมถึงความผิดตามพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พรก.ฉุกเฉิน) และคดีอาญาที่มีวัตถุประสงค์ทางการเมือง เช่น การทำลายทรัพย์สินของรัฐหรือเอกชน และทางเลือกที่ 2. ออก พรบ.นิรโทษกรรมเฉพาะคดีกระทำความผิดตาม พรก.ฉุกเฉิน เว้นแต่ความผิดทางอาญา เช่นทำลายทรัยพ์สินของทางราชการหรือเอกชน

              “หากผู้ที่ได้รับนิรโทษกรรมยังไม่ได้ถูกฟ้องร้องต่อศาล ให้พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการระงับการสอบสวนหรือฟ้องร้อง หากได้ดำเนินการฟ้องร้องต่อศาลแล้ว ให้พนักงานอัยการถอนฟ้อง แต่หากพนักงานอัยการไม่ถอนฟ้อง ให้จำเลยร้องขอต่อศาล ให้พิพากษายกฟ้องหรือจำหน่ายคดี ทั้งนี้หากคดีเข้าสู่กระบวนการพิจารณาในศาลแล้ว ผุ้กระทำผิดไม่ต้องรับโทษ ซึ่งวิธีที่เสนอนั้น ถือว่ามีข้อดี คือ ลดเงื่อนไขที่นำไปสู่ความขัดแย้ง และสังคมเดินหน้าด้วยความสงบสุข”

              3.ต้องสร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม ในส่วนการดำเนินคดีกับผู้ถูกกล่าวหาจากการตรวจสอบของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) โดยมีข้อเสนอ 3 ทางเลือก คือ 1.ให้ผลการพิจารณาของ คตส.สิ้นสุด และโอนคดีทั้งหมดให้ ปปช.ดำเนินการใหม่ ตามกระบวนการยุติธรรมปกติ แต่ไม่กระทบกับคดีที่ถึงที่สุดแล้ว และ 2.ให้เพิกถอนผลทางกฎหมายที่ดำเนินการโดย คตส.ทั้งหมด และให้ดำเนินการตามกระบวนยุติธรรมปกติ และถือว่าคดีไม่ขาดอายุความ และ 3.ให้เพิกถอนผลทางกฎหมายที่ดำเนินการโดย คตส. ทั้งหมดและไม่นำคดีที่อยู่ระหว่างกระบวนการและที่ตัดสินไปแล้วมาพิจารณาอีก ซึ่งประเด็นดังกล่าวนั้นมีข้อดี คือ จะสร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม

              4. ต้องมีการกำหนดกติกาทางการเมือง โดยรวมถึงการแก้ไขกฎหมายหลักและรัฐธรรมนูญ โดยยอมรับว่าการใช้รัฐธรรมนูญ 2550 ที่ยกร่างมาจากฐานของรัฐธรรมนูญ 2540 มีหลายประเด็นที่เป็นปัญหาแต่ยังไม่ได้รับการแก้ไข เช่น การถ่วงดุลอำนาจระหว่างฝ่ายบริหาร, ฝ่ายนิติบัญญัติ และองค์กรอิสระ จากกรณีที่กำหนดให้ส.ส.ที่ได้รับตำแหน่งบริหารต้องลาออกจากการเป็นส.ส. และ ส.ส.ต้องสังกัดพรรคการเมือง ทำให้ส.ส.ต้องตกอยู่ภายใต้การควบคุมของนายกฯ ซึ่งถือว่าเป็นการรวบอำนาจ ทำให้ฝ่ายบริหารอยู่เหนืออำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ, การได้มาซึ่งบุคคลที่ดำรงตำแหน่งในองค์อิสระและการตรวจสอบองค์กรอิสระ ซึ่งมีข้อโต้แย้งว่าไม่ยึดโยงกับประชาชนฐานะเจ้าของอำนาจอธิปไตย, การยุบพรรคการเมืองได้ง่าย

              สำหรับข้อเสนอการสร้างความปรองดองระยะยาวนั้น รายงานฉบับดังกล่าวนำเสนอ 2 ประเด็น คือ 1.สร้างการยอมรับความเห็นที่แตกต่าง และ 2.วางรากฐานทางสังคม เช่น รายได้ สิทธิ อำนาจ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ให้เป็นธรรม ส่วนการสร้างบรรยากาศแห่งความปรองดองนั้น จำเป็นต้องให้รัฐบาลเป็นเจ้าภาพในการสื่อสารกับสังคม รวมถึงเว้นการกระทำใดๆ ที่ทำให้เกิดความรู้สึกว่าไม่เคารพกฎหมายและหลักนิติรัฐ เช่น การใช้มวลชนกดดันการเรียกร้องหรือกดดันองค์กรค่างๆ

              ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในรายงานฉบับนี้ ได้สอบถามผู้ทรงคุณวุฒิเชิงลึก จำนวน 47 คน ถึงความเห็นเกี่ยวกับความขัดแย้งและการจัดการขัดแย้ง ทั้งนี้มีชื่อบุคคลปรากฎในท้ายเล่มรายงาน อาทิ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ น.ส.ขัตติยา สวัสดิผล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย นายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายเนวิน ชิดชอบ แกนนำพรรคภูมิใจไทย นายบรรหาร ศิลปอาชา แกนนำพรรคชาติไทยพัฒนา นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร, นายปานเทพ พัวพวงษ์พันธ์ นายพิภพ ธงไชย แกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ เป็นต้น

              สำหรับเนื้อหาส่วนดังกล่าวไม่ได้เจาะจงเป็นตัวบุคคล แต่ได้สรุปเป็นความเห็นในภาพรวม โดยมีที่น่าสนใจ คือ ความขัดแย้งในสังคมปัจจุบัน เกิดจากการกระจุกตัวของอำนาจ และผูกขาดด้านประโยชน์ส่วนตัว จึงใช้อำนาจเพื่อแสวงหาประโยชน์ สำหรับประเด็นที่ทำให้ความขัดแย้งขยายตัว เพราะสื่อมวลชนเป็นตัวเร่งสถานการณ์ สำหรับปัจจัยความขัดแย้งในอนาคตสามารถเกิดได้อีก หการัฐบาลแทรกแซงการทำงานของฝ่ายต่างๆ และไม่ควบคุมมวลชนที่สนับสนุนรัฐบาลยุติการเคลื่อนไหว รวมถึงใช้กฎหมายเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อบุคคล

              สำหรับแนวทางจัดการความขัดแย้ง รายงานส่วนดังกล่าวระบุว่าต้ององตั้งคณะกรรมการปรองดองแห่งชาติ ที่ประกอบด้วย นายกฯ, ผู้นำฝ่ายค้าน, ประธานรัฐสภา เป็นต้น ทั้งนี้ต้องทำงานร่วมกับ คอป. และคณะกรรมการอิสระว่าด้วยการส่งเสริมหลักนิติธรรมแห่งชาติ (ศอ.นธ.)

              ผู้สื่อข่าวรายงานว่าด้วยว่า กมธ.ปรองดอง ได้ทำรายงาน ฉบับที่ 1 เพื่อเสนอต่อสภาฯ ต่อแนวทางการสร้างความปรองดอง โดยสรุปได้ว่ารัฐบาล พรรคการเมือง กลุ่มบุคคลและองค์กรต่างๆ ต้องช่วยสร้างบรรยากาศที่ดี โดยใช้หลักเข้าใจในสถานการณ์ เข้าถึงกระบวนการยุติธรรม และพัฒนา ด้วยการดึงทุกฝ่ายร่วมแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง ทั้งนี้รัฐบาลและองค์กรที่เกี่ยวกับการใช้อำนาจบนพื้นฐานของหลักนิติธรรม

              “ความรุนแรงทางการเมืองที่ผ่านมา และนำไปสู่ความสูญเสีย ถือว่าเป็นความผิดของรัฐ เพราะรัฐมีหน้าที่คุ้มครองสิทธิของประชาชน ดังนั้นรัฐควรแสดงความรับผิดชอบด้วยการ เร่งรัดการจ่ายเงินชดเชย เยียวยา ทั้งทางเพ่งและทางอาญาให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบ อย่างรวดเร็ว ต่อเนื่อง ทั่วถึง และเร่งปฏิรูปองค์กร หน่วยงาน รวมถึงเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ให้ใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรม โดยที่สำคัญต้องแสดงความเสียใจ หรือ ขอโทษต่อผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างเป็นทางการ และกรณีการเสียชีวิตของสื่อมวลชนต่างประเทศ” รายงานฉบับกมธ.ปรองดอง สรุปตอนท้าย

              ทั้งนี้ พล.อ.สนธิ ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมว่า รายงานของสถานบันพระปกเกล้านั้นถือว่าเป็นความเห็นทางวิชาการ ซึ่งจำเป็นต้องให้ กมธ.ปรองดอง นำไปศึกษาก่อนที่จะหารือเพื่อทำเป็นความเห็นของกมธ. เบื้องต้นนั้นกมธ.จะยึดรายงานของสถาบันพระปกเกล้าเป็นหลัก ทั้งนี้ทางกมธ.เห็นว่าควรขยายเวลาการทำงานของกมธ.ต่อไปอีก 30 วัน หลังจากที่จะครบกำหนดการทำงานในวันที่ 16 มี.ค.นี้

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ