ข่าว

'ปลอด'เตือนรับมือ'ไต้ฝุ่น'27ลูกปีนี้

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"ปลอดประสพ" เตือนปีนี้มี "ไต้ฝุ่น" 27 ลูก คาดมีน้ำกว่า 2 หมื่นล้านลบ.ม. ระดับน้ำทะเลสูง 15 ซม. ยันเอาอยู่แน่ ด้าน "ธีระ" เตือนพร่องน้ำมากเสี่ยงแล้ง "ปู" สั่งปลูกป่าชะลอน้ำให้เสร็จใน 3 เดือน "อุเทน" ชงปรับแผนกยน.ยกเลิกเวนคืนที่ดินชาวบ้านทำฟลัดเวย์

             13ก.พ.2555  ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  ในการทัวร์นกขมิ้นของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และคณะ ช่วงหนึ่งของการฟังบรรยายสรุปที่เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ นายปลอดประสพ สุรัสวดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  ได้รายงานว่า ได้มีการคาดการพยากรณ์ปริมาณน้ำในปีนี้ โดยเป็นการรวบรวมข้อมูลจากกระทรวงวิทยาศาสตร์  กระทรวงไอซีที และกระทรวงเกษตร โดยจะมีไต้ฝุ่น 27 ลูก พายุโซนร้อน 3-4 ลูก ระดับน้ำทะเลจะสูงกว่าปีที่แล้ว 15 ซม. ทำให้การระบายน้ำทำได้ค่อนข้างยาก

             "แต่ปีนี้เราได้คาดการณ์ปริมาณน้ำว่าจะมี 2 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งจะต้องให้เขื่อนกักเก็บน้ำให้ได้ 5 พันล้าน ลบ.ม. และเก็บในแก้มลิงอีก 5 พันล้าน ลบ.ม. ส่วนที่เหลืออีก 1 หมื่นล้าน ลบ.ม. ให้ปล่อยผ่านเข้าสู่พื้นที่กทม. ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาระบายน้ำ 45 วัน แต่ยืนยันว่าน้ำจะไม่ท่วมกทม.แน่นอน เราเอาอยู่" นายปลอดประสพกล่าวและว่า

             นอกจากนี้ในส่วนของระบบเตือนภัย ได้มอบหมายให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยรับผิดชอบ แต่ในการสั่งอพยพนั้นให้เป็นการตัดสินใจของศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติหน่วยงานเดียว เพื่อป้องกันความสับสน และในการแจ้งเตือนประชาชน จะต้องเชื่อมโยงข้อมูลให้ลงลึกถึงระดับชุมชน หมู่บ้าน ไม่ใช่เฉพาะผู้ว่าราชการจังหวัดเท่านั้น ทุกระดับต้องเข้าถึงข้อมูลแหล่งเดียวกัน และให้มีการติดตั้งซีซีทีวีที่ประตูระบายน้ำให้แล้วเสร็จโดยเร็ว โดยการบูรณาการทั้งหมดนี้จะสามารถทำได้เสร็จภายใน 3 เดือนอย่างแน่นอน

             ด้านนายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตร กล่าวรายงานว่า ปริมาณน้ำในเขื่อนสิริกิติ์ปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 78 ของความจุเขื่อน โดยในเดือน พ.ค. จะพร่องน้ำให้เหลือร้อยละ 45 ให้ได้ แต่ก็ขอเตือนว่าโอกาสที่จะทำให้เกิดภาวะขาดแคลนน้ำมีสูงหากปริมาณน้ำฝนไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้

             ทั้งนี้ช่วงท้ายนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทย และนายปลอดประสพ เร่งดำเนินการจัดทำระบบข้อมูลการพยากรณ์อากาศและการเตือนภัย ให้เสร็จภายใน 3 เดือน โดยการเตือนภัยจะต้องลงไปถึงระดับหมู่บ้าน นอกจากนี้สิ่งที่ต้องทำเร่งด่วนอีกเรื่องคือการปลูกป่าในพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม เร่งจัดทำฝายระบายน้ำ โดยให้ กยน. ชี้จุดในพื้นที่ และทำแผนให้เสร็จในคืนนี้ เพื่อที่จะสั่งการให้ผู้ว่าฯ ดำเนินการปลูกป่าในทันที โดยต้องให้โครงการหลวงเป็นเจ้าภาพ โดยต้องดำเนินการปลุกป่าให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน และขอให้ กยน.และกรมชลประทานไปรวมกันตั้งคณะกรรมกาขึ้นมาดูการระบายน้ำในเขื่อน น้ำทุ่ง และพื้นที่รับน้ำ 1 ชุด เพื่อบริหารจัดการน้ำ


"อุเทน"ชงปรับแผนกยน.ยกเลิกเวนคืนที่ดินชาวบ้านทำฟลัดเวย์

              ที่จ.พิษณุโลก นายอุเทน ชาติภิญโญ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ด้านการระบายน้ำ เปิดเผยว่า ได้ทำหนังสือถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้งเพิ่มเติมจากคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อบริหารจัดการระบบน้ำในระยะยาว (กยน.) โดยใช้หลักคิดสำคัญคือ “ต้องไม่เกิดปัญหาอุทกภัยในปี 2555 และตลอดไป” โดยให้ปรับปรุงบึงธรรมชาติที่มีอยู่ในจังหวัดต่างๆ หรือเขื่อนเจ้าพระยาทั้งหมด ให้เป็นแก้มลิงทั้งลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนบน และลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ทั้งหมด 13 แห่ง อาทิ บึงสีไฟ จ.พิจิตร บึงบอระเพ็ด จ.นครสวรรค์ เป็นต้น ให้มีระดับความลึกเพิ่มขึ้นแห่งละ 3 เมตร ซึ่งจะสามารถรองรับน้ำได้ทั้งหมด 5.4 พันล้านลูกบาศก์เมตร ให้พร้อมรับน้ำตั้งแต่เดือนส.ค.เป็นต้นไป และสามารถใช้น้ำในบึงดังกล่าวเพื่อการชลประทานได้ในฤดูแล้ง

              รวมถึงปรับปรุงลำน้ำ ลำคลอง ที่เชื่อมโยงระหว่างแม่น้ำปิง แม่น้ำยม และแม่น้ำน่าน ให้มีระดับความกว้างมากขึ้น โดยมีระบบควบคุมการสั่งการระดับน้ำของแม่น้ำ ลำน้ำ คู คลอง ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ซึ่งจะช่วยบรรเทาปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมของพื้นที่ลุ่มน้ำยมได้ โดยไม่จำเป็นต้องสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ใช้เพียงแค่การสร้างอ่างเก็บน้ำยมบนขนาด 600 ล้านลบ.ม. เหนือแก่งเสือเต้นเท่านั้น โดยหากทำตามนี้ รัฐบาลจะสามารถประหยัดงบประมาณในการบริหารจัดการน้ำได้เป็นจำนวนมาก และเมื่อรวมกับโครงการสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าสาละวิน และอุโมงค์ผันน้ำสู่แม่น้ำปิงตอนบน เพื่อผันลงเขื่อนภูมิพล ก็จะทำให้รัฐบาลมีรายได้มาทดแทนงบประมาณที่ใช้ลงทุนกับการป้องกันน้ำท่วมภายใน 7 ปี ย่อมเป็นโอกาสที่เราจะได้ทีโบกมือลาน้ำท่วมน้ำแล้งตลอดไป

              “โครงการแก้น้ำท่วม-น้ำแล้ง เชื่อว่าใช้งบประมาณไม่เกิน 3.5 แสนล้าน หากมากที่สุดก็ไม่เกิน 3.8 แสนล้าน ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งเป็นแนวคิดที่รวดเร็ว ประหยัด และง่ายที่สุด เรื่องนี้ผมขอย้ำแนวคิดที่ต้องพร่องน้ำ 8 เดือน และอีก 4 เดือนเอาไว้รับน้ำ ทั้งหมดเป็นแผนการบริหารจัดการน้ำที่บูรณาการอย่างมีประสิทธิภาพ” นายอุเทน กล่าวและว่า ผลพลอยได้จากแผนงานที่ตนนำเสนอต่อนายกฯ นอกจากจะไม่ทำให้เกิดน้ำท่วมในปี 2555 และตลอดไปแล้ว ยังทำให้ประชาชนคนไทย ได้ใช้ไฟฟ้าในราคาถูกมากขึ้น ยิ่งกว่าการสร้างโรงไฟฟ้าลิกไนต์ 10 โรง และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 5 โรง

              นายอุเทน กล่าวอีกว่า กรณีที่กยน.เสนอให้มีการเวนคืนที่ดินเกษตรกรในเขต จ.นครสวรรค์ จำนวน 1 ล้านไร่ว่า เป็นแผนงานที่ไม่จำเป็น ทำให้ประชาชนเดือดร้อน สิ้นเปลืองงบประมาณ ซึ่งหากคำนวนจริงๆ จะพบว่าหากปล่อยให้น้ำท่วมพื้นที่ดังกล่าว 1 เมตรตามที่กยน.เสนอ จะสามารถกักเก็บน้ำได้เพียง 1,600 ล้านลบ.ม.เท่านั้น ซึ่งหากดำเนินการตามแผนที่นำเสนอต่อนายกฯนี้ จะสามารถเก็บกักน้ำได้ถึง 2 หมื่นล้านลบ.ม. โดยที่ไม่ต้องมีการเวนคืน อย่างไรก็ตามได้รับแจ้งจากหน่วยงานในพื้นที่ว่าบึง คู คลอง ซึ่งเป็นพื้นที่สำหรับรับน้ำและการชลประทานนั้น ยังไม่มีการขุดลอกใดๆ ทั้งสิ้น เนื่องจากยังไม่ได้รับงบประมาณสำหรับดำเนินการ ซึ่งเรื่องนี้น่าเป็นห่วง และอยากให้ผู้บังคับบัญชาแต่ละหน่วยงานลงไปติดตามงานให้มากขึ้น

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ