ข่าว

รบ.ส่ง'ถุงกระดาษ8แสนใบ'ให้กทม.

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

“อภิสิทธิ์” รุดช่วยชาวบ้านขนกระสอบทรายป้อง "คลอง6วา" ชี้ “รบ.”เลือกกู้เงิน 5 แสนล้านต้องลดโครงการประชานิยม ประเมินความเสีบหายทะลุ “หลักล้าน” ด้าน “ผู้ว่าฯกทม.” เผย “รบ.” ส่ง “ถุงกระดาษ 8 แสนใบ” มาให้แทน “กระสอบทราย” ไม่อยากคิดว่าถูกวางยา ย้ำ “ชาวกทม.”

         เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 18 ต.ค.2554 ที่ถนนสายไหม นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมคณะได้ลงพื้นที่ที่ร.ร.ฤทธิ์ยะวรรณะลัย 2 เขตสายไหม ซึ่งเป็นสถานที่บรรจุถุงทรายและพนังกั้นน้ำคลองหกวา ยุทธศาสตร์สำคัญกั้นน้ำไหลเข้าดอนเมือง โดยมีม.รว.สุขุมพันธ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ( ผว.กทม.) และผู้บริหารกทม. ผู้อำนวยการเขตสายไหม รอให้การต้อนรับ  โดยระหว่างเยี่ยมประชาชนที่ร่วมบรรจุถุงทรายได้รับเสียงปรบมือและการต้อนรับอย่างดี บางคนถึงกับโผเข้ากอด ขณะบางรายระบุว่าได้เห็นหน้าทำให้หายเหนื่อยแล้ว

          ผู้นำฝ่ายค้านฯ ได้เดินตรวจคันกั้นน้ำโดยรอบ พร้อมกล่าวว่ามีความมั่นใจว่ากทม. เตรียมการรับมือเต็มที่ อย่างไรก็ตามการบริหารจัดการน้ำในส่วนรอยต่อพื้นที่กทม. กับจังหวัดอื่น ไม่อยู่ในอำนาจของกทม. ดังนั้นกทม.ต้องประสานงานกับรัฐบาลอย่างใกล้ชิด เช่นกรณีที่จะมีการเปิดประตูน้ำ 5 บานเพื่อระบายน้ำออกจากพื้นที่นวนครก็ต้องประสานให้รับทราบเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อกทม.

          หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ยังฝากถึงผู้บริหารนวนคร ที่ประกาศว่าจะไม่ฟังรัฐบาลต่อไปว่า สถานการณ์เช่นนี้แต่ละฝ่าย จะคิดถึงการลดความเสียหายเฉพาะส่วนของตนเองไม่ได้ แต่ต้องคำนึงส่วนรวมด้วย ความเสียหายด้านเศรษฐกิจรัฐบาลต้องเยียวยาและกำหนดมาตรการให้ชัดเจน ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายในการเจรจาทำความเข้าใจ แต่เมื่อรัฐบาลจะได้วิธีนี้แทนกฏหมายพิเศษก็ต้องทำให้ได้ผลอย่างมีประสิทธิภาพด้วย   ที่มีความกังวลว่ายังมีน้ำฝนที่สะสมอยู่ตอนเหนือ อาจไหลลงมาซ้ำเติมนั้นอยากฝากผู้ว่ากทม. ติดตามสถานการณ์น้ำจากการวัดระดับน้ำของกรมชลประทาน เพราะเส้นทางน้ำแตกแขนงออกไปหลายสายมากกว่ามาตรวัดน้ำที่กรมชลประทานมีอยู่  จึงทำให้หลงผิดว่ามวลน้ำขนาดใหญ่ไหลเลยกทม.แล้ว

          “ในการประชุมครม.เงาพรุ่งนี้ จะพิจารณามาตรการรองรับผู้ที่จะได้รับผลกระทบจากภาคอุตสาหกรรมที่ประมาณการว่าทั้งผู้ใช้แรงงาน และครอบครัวน่าจะทะลุหลักล้าน ขณะเดียวกันอยากให้ทบทวนนโยบายประชานิยมก่อนกำหนดวงเงินกู้ เช่น ยกเลิกการให้สิทธิด้านคืนภาษีรถยนต์คันแรกและบ้านหลังแรกในวงเงินที่สูง รวมถึงการลดอัตรา ภาษีนิติบุคคลที่จะเริ่มในปีหน้าเพราะไม่สอดคล้องกับสถานการณ์เนื่องจากผู้ประกอบการไม่ได้ผลกระทบทุกราย จำเป็นที่รัฐบาลต้องเก็บรายได้ส่วนนี้มาดูแลผู้ได้รับผลกระทบแทนที่จะกู้เงินมหาศาลที่จะเป็นภาระหนี้ที่ไม่เป็นธรรมกับประชาชนและจะกระทบต่อเศรษฐกิจระยะยาว เช่นเดียวกับที่มีข่าวว่ารัฐบาลอาจจะกู้เงิน5 แสนล้านบาท เพื่อจัดการน้ำทั้งระบบ หากจะกู้เงินจริงต้องชัดเจนแต่ละโครงการว่าดำเนินการอย่างไร มีประสิทธิภาพมากน้อยแค่ไหน โดยพรรคจะตรวจสอบเรื่องนี้  ผมไม่อยากจะวิจารณ์ซ้ำเติมในความผิดพลาดที่เกิดขึ้นของรัฐบาล แต่ยืนยันว่าการทำงานของกทม.แม้จะอยู่ภายใต้การบริหารของพรรคประชาธิปัตย์ แต่ก็ไม่เคยคิดถึงเรื่องการเมืองเพราะทุกภาคส่วนต้องร่วมกันทำเพื่อประชาชน ” นายอภิสิทธิ์ กล่าว                          

          ผู้ว่ากทม.  กล่าวว่า รัฐบาลได้จัดถุงใส่ทรายมาให้ 8 แสนใบ แต่อาจเกิดความเข้าใจผิด เพราะที่มอบให้เป็นถุงกระดาษไม่สามารถบรรจุทรายกั้นน้ำได้ แต่ก็ไม่อยากคิดว่ารัฐบาลตั้งใจวางยา ขณะนี้การบรรจุทรายได้รับความร่วมมือจากประชาชน และใช้ถุงของกทม. ซึ่งตนยืนยันมาตลอดว่า พร้อมที่จะช่วยตัวเองหากไม่มีใครช่วย ขณะนี้ได้รับความร่วมมือ จากกองทัพอากาศในเรื่องกองกำลังช่วยสร้างคันกั้นน้ำในคลองหกวา ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์สำคัญและยังเชื่อมั่นในคำสัญญาของรัฐบาลว่า  หากมีการระบายน้ำในส่วนรอยต่อที่มีผลกระทบต่อเมืองหลวง จะประสานงานมายังกทม. เช่น กรณีที่จะเปิดประตูน้ำ5 บานเพื่อระบายน้ำจากนวนครรัฐบาลก็แจ้งมาว่าจะไม่เปิดพร้อมกัน โดยจะทยอยระบายและให้กทม. สร้างพนังกั้นน้ำให้เสร็จก่อน อีกทั้งยืนยันตลอดว่าจะรักษาพื้นที่เมืองหลวงเอาไว้ คิดว่ารัฐบาลจะรักษาสัญญานี้
    
          “ขอย้ำว่าการรับฟังข่าวสารทั้งเรื่องการแจ้งเตือนภัย หรือผลประทบในพื้นที่ขอให้ฟังผมคนเดียว แม้จะมีหลายฝ่ายพูดเรื่องความปลอดภัยในกทม .แต่ขอให้เชื่อผมคนเดียว โดยยังมั่นใจว่าจะสามารถแจ้งประชาชนได้ล่วงหน้า หากน้ำไหลเข้าพื้นที่และถึงวันนี้มีความมั่นใจมากขึ้น เพราะสถานการณ์ดีขึ้นจากเมื่อวาน ที่แจ้งว่ารัฐบาลควบคุมน้ำได้ ทำให้เรามีเวลา 48 ชม .ในการสร้างคันกั้นน้ำ แต่ขณะนี้คันกั้นน้ำหลายจุดก็ใกล้เสร็จแล้ว ไม่อยากให้รัฐบาลเซอร์ไพรซ์แบบนี้บ่อยนัก ผมไม่อยากตื่นเต้นมากเกินไป” ผว.กทม. กล่าว

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  คณะของนายอภสิทธิ์ และม.ร.ว.สุขุมพันธ์ ได้ร่วมขนถุงทรายกับประชาชน เพื่อสร้างเป็นพนังกั้นน้ำ   โดยมีบริษัทในเครือซีเมนต์ไทยได้ ร่วมบริจาคหินฝุ่นจำนวน 1 แสนตัน ซึ่งสามารถบรรจุในกระสอบได้ 4 ล้านกระสอบ โดยแยกเป็นแบบบรรจุกระสอบแล้ว และยังไม่บรรจุ  จากนั้นทั้งหมดได้เดินทางไปตรวจประตูระบายน้ำคลองสอง พบว่ามีน้ำเอ่อขึ้นมา บนถนน แม้ว่าจะมีการยกระดับถนนขึ้นมาก่อนหน้านี้แล้ว 30 เซนติเมตร ขณะที่กระแสน้ำในคลองไหลเชียวกราก


คนเสื้อแดงพัทยาตั้งศูนย์รับบริจาคช่วยน้ำท่วม


          เมื่อเวลา 13.30 น.ที่บริเวณริมถนนพัทยาเหนือ หน้าศาลาว่าการเมืองพัทยา จ.ชลบุรี พล.ต.อ.สุรพล จันทน์แดง ส.ส.จังหวัดชลบุรี เขต 8 พรรคเพื่อไทย เดินทางมามอบสิ่งของและเยี่ยมศูนย์รับบริจาคเครื่องอุปโภคบริโภคเพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ที่ทางชมรมแดงพัทยา ได้จัดตั้งขึ้น โดยมีนายอดิศร ผลลูกอินทร์ อดีตรองประธานสภาเมืองพัทยา นางจุรีพร สินธุไพร ประธานชมรมแดงพัทยา และประชาชนอีกจำนวนหนึ่งให้การต้อนรับ

          พล.ต.อ.สุรพล จันทน์แดง เปิดเผยว่า ศูนย์รับบริจาคดังกล่าวนางจุรีพร ประธานชมรมฯ และสมาชิกชมรมแดงพัทยา ได้จัดตั้งขึ้น เพื่อเปิดรับบริจาคเงิน สิ่งของและเครื่องอุปโภคบริโภคจากประชาชนชาวเมืองพัทยา โดยจะตั้งเต็นท์รับบริจาคอยู่ที่บริเวณหน้าศาลาว่าการเมืองพัทยาเป็นเวลา 1 สัปดาห์ จากนั้นจะนำเงินและสิ่งของที่ประชาชนบริจาคทั้งหมด ไปช่วยเหลือชาวบ้านที่กำลังประสบอุทกภัยในขณะนี้ อย่างไรก็ตาม ทางชมรมฯ จะมีรถโฆษณาประชาสัมพันธ์แห่ไปทั่วเมืองพัทยา และอยากเชิญชวนชาวเมืองพัทยามาร่วมบริจาคกันเยอะๆ เพื่อช่วยซับน้ำตาเพื่อนร่วมชาติที่กำลังประสบกับภัยพิบัติอยู่ในขณะนี้


ศูนย์อพยพผู้ประสบอุทกภัย ม.ศรีปทุมรับได้400คน

 
          ดร.รัชนีพร พุคยาภรณ์ พุกกะมาน อธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีปทุม กล่าวว่าทางมหาวิทยาลัยได้เปิดศูนย์อพยพผู้ประสบอุทกภัย ม.ศรีปทุม มาแล้ว 5 วัน โดยทางมหาวิทยาลัยได้เปิดอาคารกิจการนักศึกษา ซึ่งเป็นตึก 4 ชั้นรองรับผู้อพยพที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ประมาณ 400 คน และขณะนี้มีผู้อพยพมาอาศัยอยู่แล้วประมาณ 200 กว่าคน ซึ่งสาเหตุที่มหาวิทยาลัยเปิดได้เพียงตึกเดียวในขณะนี้ เนื่องจากอาคารส่วนใหญ่ของมหาวิทยาลัยเป็นตึกสูง หากมีเหตุการณ์ตัดไฟ จะทำให้ผู้อพยพเกิดความลำบากในการขึ้นลงได้

          ทั้งนี้ เบื้องต้น มหาวิทยาลัยได้มีการขอความร่วมมือจากโรงพยาบาลต่างๆ ในการส่งแพทย์ พยาบาลมาคอยดูแล อาสาสมัคร รวมถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อช่วยในการดูแลผู้อพยพ ส่วนในการช่วยเหลือเพื่อรองรับผู้อพยพมากขึ้นกว่าเดิมหรือไม่นั้น มหาวิทยาลัยคงต้องดูสถานการณ์น้ำก่อน ที่จะตัดสิน ว่าจะเปิดตึกเพิ่มขึ้นหรือไม่ เช่นเดียวกับการเลื่อนวันเปิดภาคเรียน ซึ่งตามกำหนดเดิมจะเปิดภาคเรียนในวันที่ 3 พ.ย.นี้ หากสถานการณ์น้ำยังไม่ดีขึ้น คงต้องเลื่อนไปก่อน เพื่อให้เกิดความสะดวกต่อนักศึกษาในการเดินทาง อย่างไรก็ตาม หากผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วม มีปัญหา หรือต้องการความช่วยเหลือ ติดต่อมาที่ศูนย์ Call Center 02-579-1111 ของมหาวิทยาลัยได้


นักวิชาการลุ่มน้ำปิงเล็งจัดเวทีถกปัญหาน้ำท่วม


           ผศ.ดร.วสันต์ จอมภักดี  ประธานคณะกรรมการประสานการอนุรักษ์แม่ปิงและสิ่งแวดล้อม  เปิดเผยว่า  กำลังหารือกับนักวิชาการ  นักวิจัย และภาคประชาสังคม เพื่อจัดเวทีระดมความคิดเห็นแลกเปลี่ยนทัศนะคติในการแก้ไขปัญหาอุทกภัยน้ำท่วมที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้  โดยจะเร่งกำหนดวันเวลาในการจัดประชุมให้เร็วที่สุดเนื่องจากเกรงว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะใช้วิธีการแก้ไขปัญหาในลักษณะเดิมๆ ไม่มีการถอดบทเรียนปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นว่าเกิดจากสาเหตุอะไร ครอบคลุมทุกมิติหรือไม่

          ส่วนใหญ่จะกระโดดข้ามขั้นตอนไปสู่การแก้ไขปัญหาในระดับพื้นที่ตามความถนัดของหน่วยงานเฉพาะ เช่น กรมชลประทานที่เน้นการสร้างเขื่อน  อ่างเก็บน้ำ  กรมเจ้าท่า เน้นการขุดลอกคูคลอง แม่น้ำ  นำไปสู่โครงการเมกะโปรเจ็คขนาดใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างทางวิศวกรรมโดยไม่มีการประมวลเหตุการณ์ วิเคราะห์ สังเคราะห์ปัญหาและแนวทางแก้ไขที่ทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกัน  ต้องสูญเสียงบประมาณจำนวนมหาศาลจนกลายเป็นภาระหนี้สินก้อนใหญ่ของประเทศกับโครงการที่ไม่รู้ว่าจะได้ผลจริงหรือไม่

          ผศ.ดร.วสันต์  กล่าวว่า  ปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นและกำลังขยายวงกว้างไปในหลายพื้นที่ไม่ใช่แค่เรื่องของฝนตกแล้วน้ำล้นเขื่อนจนท่วมเท่านั้น แต่เกี่ยวข้องในหลายมิติ  ทั้งเรื่องโครงสร้างทางวิศวกรรม การใช้ประโยชน์ที่ดิน การเปลี่ยนแปลวสภาพที่ดินจากพื้นที่ป่าเป็นพื้นที่เพาะปลูก  การเปลี่ยนที่ดินที่น้ำเคยท่วมถึงเป็นที่อยู่อาศัย  สถานประกอบการ โรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งเกี่ยวข้องกับการจัดผังเมืองรวมทั้งหมด  นอกจากนี้ยังมีเรื่องของสภาสังคมและความรู้สึกนึกคิดของประชาชนที่ถูกบีบคั้นจนออกมาทะเลาะกันเรื่องน้ำ  การทำผนัง-กระสอบทรายกั้นน้ำเพื่ไม่ให้น้ำท่วมพื้นที่ของตนเอง  ดังนั้นทุกปัญหาที่เกิดขึ้นจึงต้องเชิญทุกภาคส่วนมาหารือกัน มองปัญหารอบด้าน สะท้อนปัญหาและสาเหตุตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันที่มีผลต่อเนื่องกัน

          "สภาพของแต่ละลุ่มน้ำแตกต่างกัน เช่น ลุ่มน้ำปิง วัง ยม น่าน  ซึ่งเป็นต้นน้ำสาขาของแม่น้ำเจ้าพระยา ถือเป็นพื้นที่ต้นน้ำที่มีความสูงสภาพพื้นที่กว่า 70% เป็นป่าเขาเมื่อมีฝนตกการไหลของน้ำจึงไหลแรงและเร็วจนเกิดน้ำป่าไหลหลากสร้างความเสียหาย  ส่วนสภาพของลุ่มน้ำเจ้าพระยามีลักษณะภูมิประเทศอีกแบบหนึ่ง คือ มีสภาพที่น้ำท่วมถึงในเชิงจิตวิทยาจึงต้องทำใจยอมรับว่าเราต้องอยู่กับน้ำซึ่งในอดีตเราก็อยู่กับน้ำ แต่ในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติในช่วง 40 -50 ปี ให้หลังเราถูกทำให้ลืมว่าเราเคยอยู่กับน้ำเมื่อมาเจอเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่จึงปรับตัวไม่ทัน"ผศ.ดร.วสันต์กล่าว

          ผศ.ดร.วสันต์ กล่าวอีกว่า  เหตุการณ์น้ำท่วมครั้งนี้ถือเป็นการส่งสัญญาณเตือนครั้งยิ่งใหญ่ว่าเราต้องเคารพธรรมชาติ แม้พยายามแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าโดยการทำผนังหาสิ่งของมากั้นน้ำเฉพาะที่เฉพาะจุด หรือพยายามเฉลี่ยความรับผิดชอบ แต่เราต้องยอมรับว่าธรรมชาติมีพลังมหาศาลและต้องยอมรับที่จะอยู่กับธรรมชาติเพราะธรรมชาติกำลังทวงคืนเราหลังจากที่เรารบกวนการไหลของน้ำ  ไปบุกรุกแม่น้ำ ยิ่งในเขตกรุงเทพฯมีการบุกรุกมากจนมีผลต่อการไหลของน้ำออกสู่ทะเล

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ