ข่าว

120ปีพระชาตกาลกรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

120ปีพระชาตกาลกรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์: วันเว้นวันจันทร์ พุธ ศุกร์กับ ประภัสสร เสวิกุล

           วันที่ 25 สิงหาคม 2554 เป็นวันครบรอบ 120 ปี พระชาตกาลของ ศ.พล.ต.พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ซึ่งเมื่อปี พ.ศ.2534 อันเป็นวาระ 100 ปี แห่งพระชาตกาล ยูเนสโกได้ประกาศยกย่องพระเกียรติคุณให้ทรงเป็นบุคคลสำคัญของโลก

            ศ.พล.ต.พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ มีพระนามเดิมว่า ม.จ.วรรณไวทยากร วรวรรณ ทรงเป็นพระโอรสใน พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ กับ ม.ล.ต่วนศรี แห่งราชสกุล มนตรีกุล เสด็จในกรมฯ ทรงรับการศึกษาจากโรงเรียนราชวิทยาลัย ทรงสอบชิงทุนเล่าเรียนหลวงได้ จึงเดินทางไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ ขณะมีพระชนมายุเพียง 14 ชันษา ระหว่างที่ศึกษาในระดับมัธยมเป็นเวลา 5 ปี ทรงได้รับรางวัลต่างๆ จากโรงเรียนถึง 17 รางวัล

            ต่อมาทรงเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด จนสำเร็จปริญญาตรีระดับเกียรตินิยมและปริญญาโท จากคณะตะวันออกศึกษา สาขาภาษาบาลีและสันสกฤต กับประกาศนียบัตรชั้นสูงวิชาการทูต รางวัลที่ 1 จากวิทยาลัยรัฐศาสตร์ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส

            เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว ทรงเข้ารับราชการ โดยเป็นเลขานุการตรี สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปารีส ซึ่งได้ทรงร่วมในการประชุมสันติภาพ ภายหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เมื่อเดินทางกลับประเทศไทยในปี พ.ศ.2463 ได้ทรงดำรงตำแหน่งหัวหน้ากองบัญชาการกระทรวงการต่างประเทศ และในปี 2465 ได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้ทรงเป็นองคมนตรี ก่อนกลับมาเป็นปลัดทูลฉลอง กระทรวงการต่างประเทศ ในปี 2467 และทรงดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศอังกฤษ เนเธอร์แลนด์ และเบลเยียม ในปี 2469

            พ.ศ.2477 ทรงเป็นศาสตราจารย์ ในคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และดำรงตำแหน่งนายกราชบัณฑิตสถาน ในปี 2484 ทรงเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนเจรจาสันติภาพฝ่ายไทยในกรณีพิพาทอินโดจีน ใน พ.ศ.2495 ทรงดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และในปี 2499-2500 ทรงเป็นประธานสมัชชาสหประชาชาติ สมัยประชุมที่ 11 หลังจากนั้นไม่นานทรงดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่ พ.ศ.2502-2513 และอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตั้งแต่ พ.ศ.2506-2514

            โดยที่ทรงปฏิบัติงานอันเป็นคุณประโยชน์ต่อบ้านเมืองอย่างมากมาย ใน พ.ศ.2482 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาขึ้นเป็นพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร และต่อมาใน พ.ศ.2495 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาเป็นพระองค์เจ้าต่างกรม มีพระนามตามจารึกในสุพรรณบัฏว่า “พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์” และในปีต่อมา ทรงพระราชทานยศเป็นนายพลตรี ประจำกรมทหารราบที่ 1 รักษาพระองค์ และราชองครักษ์พิเศษ

            นอกจากผลงานด้านการต่างประเทศ การเมืองการปกครอง และการศึกษาแล้ว ใน พ.ศ.2478 เสด็จในกรมฯ ยังทรงก่อตั้งหนังสือพิมพ์ประชาชาติ ซึ่งมีกุหลาบ สายประดิษฐ์ เป็นบรรณาธิการคนแรก และพระองค์ทรงพระนิพนธ์คอลัมน์ “ไขข่าว” ในหน้า 5 ของหนังสือพิมพ์ฉบับดังกล่าว โดยใช้นามปากกาว่า “ไววรรณ” นอกจากนี้หนังสือพิมพ์ประชาชาติยังเป็นแหล่งกำเนิดของวรรณกรรมหลายเรื่อง เช่น “ผู้ชนะสิบทิศ” ของยาขอบ และ “แม่ศรีเรือน” ของ พ.เนตรรังสี ฯ รวมทั้งนักหนังสือพิมพ์คนสำคัญหลายคน

            เสด็จในกรมฯ ทรงพระนิพนธ์หนังสือเป็นจำนวนมาก ทั้งด้านวิชาการ เกร็ดความรู้ ปกิณกะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือการบัญญัติศัพท์ภาษาไทยที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันนี้ เช่น โทรทัศน์ โทรคมนาคม บรรษัท บริการ จักรภพ ประชากร ประชาคม ประชาชาติ ประสิทธิภาพ ประสิทธิผล ปรัชญา ปฏิวัติ ปฏิรูป ผลิต พัฒนาสังคม มโนภาพ มวลชน รัฐธรรมนูญ ระบบ ระบอบ ฯลฯ

            ศ.พล.ต.พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2519 สิริพระชนมายุ 85 ชันษา

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ