ข่าว

เพลงปลุกใจ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เพลงปลุกใจ : วันเว้นวัน จันทร์ พุธ ศุกร์ กับ ประภัสสร เสวิกุล

           ผลการสำรวจของเอแบคโพลล์เกี่ยวกับเพลงปลุกใจที่ประชาชนชื่นชอบและอยากฟังอย่างมากในช่วงนี้ ปรากฏว่า เพลง “รักกันไว้เถิด” มาเป็นอันดับหนึ่ง ด้วยคะแนน 77.4 เปอร์เซ็นต์ รองลงมาคือ เพลง “ตื่นเถิดชาวไทย” 23.1 เปอร์เซ็นต์ และเพลง “เกิดเป็นไทยตายเพื่อไทย” 22.4 เปอร์เซ็นต์ ส่วนเพลงอื่นๆ ที่ติดอันดับต้นๆ อาทิ “ขวานไทยใจหนึ่งเดียว” “เราสู้” “เลือดสุพรรณ” “ต้นตระกูลไทย” “แผ่นดินของเรา” เป็นต้น

            เพลงปลุกใจของไทยน่าจะเริ่มขึ้นใน พ.ศ.2483 สมัยสงครามอินโดจีน ที่รบกับฝรั่งเศส โดยมีการประพันธ์เพลงปลุกใจ เช่น “ข้ามโขง” “จำปาศักดิ์” “เสียมราฐ” ฯลฯ ขึ้น และสืบเนื่องมาในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้นำนโยบายชาตินิยมมาใช้ แต่เนื่องจากในเวลานั้นคนไทยมีความสับสนต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มีความเห็นแตกแยกกันในเรื่องการยอมให้ญี่ปุ่นเข้ามาใช้ดินแดน ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ และประชาชนเสียขวัญและกำลังใจ  จอมพล ป. จึงมอบหมายให้ หลวงวิจิตรวาทการ ประพันธ์บทเพลงขึ้นมาจำนวนหนึ่ง เพื่อเสริมสร้างความสามัคคี ความรักชาติ และความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของคนในชาติ เพลงเหล่านั้น ซึ่งเป็นที่นิยมและรู้จักกันดี เช่น “รักเมืองไทย” “ตื่นเถิดชาวไทย” “ใต้ร่มธงไทย” “อยุธยา” “เลือดสุพรรณ” เป็นต้น นอกจากเพลงปลุกใจแล้ว หลวงวิจิตรวาทการยังได้ประพันธ์บทละครปลุกใจไว้หลายเรื่อง เช่น ราชมนู พระเจ้ากรุงธน ศึกถลาง เจ้าหญิงแสนหวี พระมหาเทวี น่านเจ้า สีหราชเดโชชัย เลือดสุพรรณ อานุภาพพ่อขุนรามคำแหง อานุภาพแห่งความเสียสละ ฯลฯ ซึ่งในละครเหล่านั้นก็จะมีเพลงปลุกใจประกอบอยู่ด้วย

            ในช่วงหลังปี พ.ศ.2500 ประเทศไทยเผชิญกับความแตกแยกทางความคิดและอุดมการณ์ทางการเมือง จนถึงขั้นมีการใช้กำลังอย่างรุนแรงในบางพื้นที่ สิ่งหนึ่งซึ่งทางราชการได้นำมาใช้ในการสร้างความเข้าใจอันดีและความสมัครสมานสามัคคี ก็คือเพลงปลุกใจ ซึ่งประกอบด้วยเพลงพระราชนิพนธ์ เช่น เพลง “เกิดเป็นไทยตายเพื่อไทย” “เราสู้” “แผ่นดินของเรา” “ความฝันอันสูงสุด” เป็นต้น นอกจากนี้ก็มีเพลงที่นักแต่งเพลงคนอื่นแต่งขึ้น เช่น เพลง “หนักแผ่นดิน” โดย พ.อ.บุญส่ง หักฤทธิ์ศึก เพลง “ถามคนไทย” โดยสุรพล โทณะวณิก และเพลง “รักกันไว้เถิด” โดย ครูนคร ถนอมทรัพย์ เป็นต้น

            สำหรับ ครูนคร ถนอมทรัพย์ เริ่มต้นชีวิตในแวงวงดนตรีด้วยการแต่งเพลงให้คณะละครวิทยุ เมื่อประมาณ พ.ศ.2492 ต่อมาก็เป็นนักร้องอิสระ ร้องเพลงสากลที่ดัดแปลงเป็นเนื้อภาษาไทย โดยใช้ชื่อในการร้องเพลงว่า “กุงกาดิน” และทาหน้าด้วยสีดำให้ดูเป็นนิโกร ใน พ.ศ.2498 เมื่อ ครูมงคล อมาตยกุล ตั้งวงดนตรีจุฬารัตน์ จึงได้เข้ามาร่วมวงด้วย จนถึงพ.ศ.2507 จึงออกมาแสดงดนตรีตามไนต์คลับ ใน พ.ศ.2514 เพลง “รักกันไว้เถิด” ได้รับพระราชทานรางวัลแผ่นเสียงทองคำ ถึง 3 รางวัล คือ ผู้ประพันธ์ทำนอง ประพันธ์เนื้อร้อง และขับร้องเพลงดีเด่น จึงเป็นกำลังใจให้ครูนครหันมาแต่งเพลงอย่างจริงจังกว่า 2,000 เพลง และได้รับพระราชทานแผ่นเสียงทองคำถึง 9 รางวัล และรางวัลพระพิฆเนศทองอีก 2 รางวัล

            อย่างไรก็ตาม ถ้าหากจะกล่าวไปแล้ว เพลงปลุกใจเพลงแรกของไทยน่าจะเป็นเพลงที่นำมาจากโคลงสยามานุสสติ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นเมื่อ พ.ศ.2461 เพื่อพระราชทานแก่ทหารไทยที่เดินทางไปราชการสงครามที่ทวีปยุโรป ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 ต่อมาใน พ.ศ.2482 ครูนารถ ถาวรบุตร ได้นำบางท่อนของบทพระราชนิพนธ์มาใส่ทำนอง เพื่อใช้เป็นเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง “ค่ายบางระจัน” ของศรีกรุงภาพยนตร์

            แต่เพลง “สยามานุสสติ” นี้ ได้ยินทีไรก็มักจะเกิดอาการหวาดเสียว เพราะเป็นเพลงปลุกใจที่มักจะมากับการปฏิวัติรัฐประหารเสมอ

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ