Lifestyle

มองจีนยุคใหม่ !

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย - สุรัตน์ อัตตะ [email protected]

          “ถ้าเรารู้เท่าทันจะเป็นโอกาสของเรา แต่ถ้าเรารู้ไม่เท่าทันจีนจะเป็นภัยคุกคาม” บทสรุป “รศ.วรศักดิ์ มหัทธโนบล” อาจารย์พิเศษภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ และผู้เชี่ยวชาญด้านจีนศึกษากล่าวระหว่างการบรรยายในโครงการ"มองจีนยุคใหม่ ความท้าทายที่สื่อไทยควรรู้ปีที่ 2" จัดโดยสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สถานทูตจีนประจำประเทศไทยและสำนักข่าวซีอาร์ไอ กรุงเทพฯ วันก่อน 

มองจีนยุคใหม่ !

มองจีนยุคใหม่ !

หอไข่มุกสัญลักษณ์ของมหานครเซี่ยงไฮ้

 

           จะเห็นได้ว่าการพัฒนาของประเทศจีนในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานั้น มีความก้าวหน้ารวดเร็วมากจนทำให้หลายประเทศพัฒนาแล้วในยุโรปและอเมริกาต้องหันกลับมามอง

           จีนวันนี้มีทุกสิ่งที่ประเทศพัฒนาแล้ว มีสิ่งหนึ่งที่ทำให้จีนเติบโตได้อย่างรวดเร็วก็เพราะว่ามีการวางแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศอย่างเป็นขั้นเป็นตอน มุ่งเน้นการพัฒนางานวิจัยเป็นสิ่งสำคัญ ทำกันเป็นขบวนการเป็นองคาพยพทั้งภาครัฐและเอกชนจะต้องจัดสรรงบประมาณส่วนที่เป็นกำไร 10% มาใช้ในกระบวนการอาร์แอนด์ดีขององค์กรหรือหน่วยงานนั้นๆ

มองจีนยุคใหม่ !

 ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน

             จีนวันนี้และในอนาคตจะเป็นอย่างไร ฟังมุมมองจาก "ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร" อดีตอัครราชทูต ฝ่ายการพาณิชย์ ณ กรุงปักกิ่งและกงสุล ฝ่ายการพาณิชย์ ณ นครเซี่ยงไฮ้  ปัจจุบันรั้งตำแหน่งรองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีนมาถ่ายทอดเรื่องราวของประเทศจีนในอดีต ปัจจุบันและอนาคตแก่คณะสื่อมวลชนไทยระหว่างการศึกษาดูงานสองเมืองใหญ่ “หางโจว-เซี่ยงไฮ้”  สาธารณรัฐประชาชนจีนในโครงการ"มองจีนยุคใหม่ ความท้าทายที่สื่อไทยควรรู้ปีที่ 2" ระหว่างวันที่ 4-7 กันยายน ที่ผ่านมา

         ดร.ไพจิตร กล่าวว่า หากย้อนไปเมื่อ 20 ปีที่แล้ว สิ่งแรก ๆ ที่มองเห็นในจีนก็คือขบวนจักรยานจำนวนมากวิ่งอยู่บนท้องถนนและสินค้าก๊อปปี้เกรดเอทั้งหลาย ซึ่งเป็นเป้าหมายของนักช็อปจากทั่วโลก แต่ปัจจุบันสิ่งเหล่านี้กลับมีน้อยมากและค่อยๆ หายไป เนื่องจากรัฐบาลจีนเอาจริงเอาจังอย่างมากในเรื่องนี้และกำลังเปลี่ยนเข้าสู่โหมดเศรษฐกิจสร้างสรรค์

         “ถ้าคุณไม่คุ้มครองเครื่องหมายการค้าของต่างประเทศ อนาคตคุณอาจมีปัญหา วันนี้ธุรกิจจีนกำลังออกไปสู่โลก จีนมีนโยบายบุกโลกมาเป็น 10 ปีแล้ว ตั้งแต่รัฐวิสาหกิจไปจนถึงบริษัทเอกชน วันนี้เราเห็นการสร้างแบรนด์ของจีนเอง ตอนนี้สินค้าจีนหลายๆ ตัวเป็นสินค้าชั้นนำของโลกไปแล้ว”

      ดร.ไพจิตร ย้ำว่าจีนให้ความสำคัญในเรื่องนี้เป็นอย่างมากถึงขนาดตั้งสำนักงานศาลคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งเป็นองค์การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาโลก ณ กรุงปักกิ่ง ที่พยายามทำคดีพิเศษใหญ่ๆ เพื่อให้ชาวโลกรู้ว่าจีนให้ความสำคัญในเรื่องนี้  

        “คำถามที่น่าสนใจมากกว่านั้นก็คือจีนทำไมเก่งมากวันนี้ เชื่อว่าไม่ใช่ผมคนเดียวที่สงสัย คงมีคนอีกเป็นจำนวนมากที่สงสัยเหมือนกัน ผมอยู่เมืองจีนมา13 ปี เริ่มจากมาอยู่เซี่ยงไฮ้ 4 ปี ย้ายมาปักกิ่งตอนหลังกลับไปลาออกจากราชการแล้วมาประจำเซี่ยงไฮ้อีก  แต่กลับมาครั้งนี้รู้สึกแปลกใจมากกับความเปลี่ยนที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะเซี่ยงไฮ้”

มองจีนยุคใหม่ ! สภาพการจราจรใจกลางมหานครเซี่ยงไฮ้

        ดร.ไพจิตร ยอมรับว่าก่อนที่จะมาอยู่เมืองจีนต้องบอกว่าจีนวิ่งไล่ตามสหรัฐอเมริกาไม่ทันเหตุผลหนึ่งคือการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะ 5 ปีหลังจีนรุกคืบมากไม่ใช่เฉพาะภาคประชาชนแต่ทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐ บริษัทเอกชนเขาจะเดินไปพร้อมกันเป็นองคาพยพ มีการแก้ปัญหาในเชิงรุกมากขึ้น  เมื่อเกิดปัญหาอะไรก็ตาม ไปสแกนข้อมูลหมดแล้วนำข้อมูลเหล่านั้นมาประมวลเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว

    “สมัยก่อนฝุ่นพีเอ็ม 2.5 เต็มไปหมดทั้งปักกิ่ง ชาวเมืองร้องรัฐให้ย้ายเมืองหลวง แต่ประธานาธิบดีสี (จิ้นผิง) ไม่ยอม เพราะปักกิ่งเป็นสัญลักษณ์ รัฐบาลก็เลยเร่งแก้ปัญหาย้ายอย่างอีื่นออกไปแทน เช่น ย้ายโรงงานอุตสาหกรรมออกไป ย้ายสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดมลพิษออกไป ถ้าท่านไปปักกิ่งวันนี้จะไม่เห็นสิ่งเดิม ๆ วันนี้ปักกิ่งกลายเป็นเมืองที่มีอากาศบริสุทธิ์เมืองหนึ่งของโลกไปแล้ว”

      เลขาธิการสภาหอการค้าไทยในจีนยังฉายภาพมหานครเซี่ยงไฮ้ว่าเป็นเมืองที่เติบโตรวดเร็วมากที่สุดในโลกเมืองหนึ่ง เพราะจีนต้องการให้เซี่ยงไฮ้เป็นเมืองต้นแบบของจีนและของโลกในทุกๆ ด้าน ทำให้รัฐบาลมีการวางแผนอย่างเป็นระบบ เมื่อก่อนฝั่งผู่ตง ฝั่งตะวันออกของเซี่ยงไอ้มีสภาพเป็นทุ่งนาและที่เป็นที่เก็บโกดังเก่า แต่วันนี้มีตึกระฟ้าเต็มไปหมด มีความเจริญเติบโตของเมืองแซงหน้าฝั่งผู่ซีหรือย่านเมืองเก่าไปแล้ว

มองจีนยุคใหม่ ! ห้างฯซูเปอร์ แบรนด์ มอลล์ ของเครือซีพี

      “เซี่ยงไฮ้จะเปลี่ยนเล็กทุก 1 ปี เปลี่ยนใหญ่ทุก 3 ปี ถ้าคุณมาเซี่ยงไฮ้ทุกปีคุณจะเห็นความเปลี่ยนแปลงทุกปีเช่นกัน ฉะนั้นพวกเราจะต้องแวะเวียนมาบ่อยๆ จะได้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น” ดร.ไพจิตร กล่าวเชิญชวน

       ดร.ไพจิตร เล่าต่อว่า สะพานข้ามแม่น้ำหวงผู่จากผู่ซีไปฝั่งผู่ตง ซึ่งเป็นสะพานแรกสร้างเมื่อ 30 ปีที่แล้วเป็นสะพานที่ชาวเซี่ยงไฮ้ภูมิใจ เช่นเดียวปักกิ่งที่วันนี้กำลังมีถนนวงแหวนรอบที่ 7 มีความยาวประมาณ 1,000 กิโลเมตร เทียบกับเมืองไทยจากกรุงเทพฯ ไปสงขลา โดยมีการออกแบบเชื่อมกับเมืองต่างๆ รอบกรุงปักกิ่ง จากเมืองเทียนจินข้ามไปยังเหอเป่ย ผ่านกรุงปักกิ่งไปสนามบินต้าฉี ซึ่งเป็นสนามบินที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่จะเริ่มทดลองเปิดให้บริการในวันที่ 30 กันยายนนี้ เพื่อเตรียมรับโอลิมปิกฤดูหนาวที่จีนเป็นเจ้าภาพในปี 2022 

         “เซี่ยงไฮ้เมืองเล็กๆ ของจีน แต่เศรษฐกิจดีกว่าไทยทั้งประเทศ ช่วง 30 ปีที่ผ่านจีนได้สะสมเทคโนโลยีด้านวิศวกรรมไว้มาก ไม่ใช่เพราะเขารวย แต่เขาเก็บข้อมูลดาต้าไว้หมด บ้านเราอยากสร้างตึก 30 ชั้นไปหาผู้รับเหมาต่างจังหวัดไม่ได้เลย แต่จีนคุณไปเมืองไหนๆ สร้างตึก 50 ชั้นบริษัทรับเหมาท้องถิ่นเป็นเรื่องปกติ นี่คือทรานสเฟอร์ ความรู้เรื่องโนว์ฮาว” 

          ในเรื่องรถไฟความเร็วเร็วสูง ดร.ไพจิตร บอกว่าเป็นอีกเทคโนโลยีที่จีนเดินหน้าเร็วมาก  แม้ช่วงแรกจะเป็นการใช้เทคโนโลยีของคนอื่นแต่พอเขาได้เรียนรู้ทุกขั้นตอนแล้วก็เริ่มกำหนดมาตรฐานของจีนเอง จึงทำให้การพัฒนารถไฟฟ้าของจีนมีความก้าวหน้ารวดเร็ว ล่าสุดกำลังเตรียมออกรถไฟความเร็วสูงที่มีความเร็วสูงสุดที่ 620 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ต่อไปการเดินทางจากจากเซี่ยงไฮ้ไปปักกิ่ง ซึ่งการเดินทางโดยรถไฟความเร็ววันนี้ใช้เวลา 5 ชั่วโมงจะเหลือเพียง 3 ชั่วโมงเท่านั้น

           “รถไฟเขาก็ก๊อปคนอื่นเหมือนกัน แต่เขาก๊อปฉลาดพอก๊อปเสร็จปุ๊บเขาก็เริ่มกำหนดมาตรฐานตัวเอง รู้เลยว่าจีนเตรียมความพร้อมขายเทคโนโลยีตัวเองไปสู่ต่างประเทศ จีนเริ่มทำรถไฟความเร็วสูงมาประมาณ 10 ปีเศษ เขาทำ 10 ปีเท่ากับทั้งโลกทำมา 40 ปีและเส้นทางที่ทำยาวกว่าที่โลกทำมา 40 ปีเช่นกัน”

         ดร.ไพจิตร เล่าต่อว่าหลังประสบความสำเร็จบนดินก็ลงไปสู่ใต้น้ำ เมื่อปีที่แล้ารัฐบาลจีนประกาศจะสร้างอุโมงค์รถไฟความเร็วสูงใต้น้ำข้ามระหว่างมณฑลซานตงไปยังมณฑลเหลียวหนิง ซึ่งอยู่ทางเหนือของประเทศจีน เนื่องจากปัจจุบันต้องใช้เส้นทางเรือใช้เวลาประมาณ 4 ชั่วโมงหรือทางบกต้องอ้อมไปทางปักกิ่งใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 6-7 ชั่วโมง แต่หากใช้รถไฟความเร็วสูงวิ่งลอดอุโมงค์ใต้น้ำก็จะใช้เวลาประมาณ 40 นาทีเท่านั้น

       “ซานตงมณฑลเดียวมีประชากร 100 ล้านคนข้างบนมีมณฑลเหลียวหนิง เวลาเราจะเดินทางต้องอ้อมไปปักกิ่ง แต่ก็มีเส้นทางเรือวิ่งใช้เวลา 3-4 ชั่วโมง ก็สร้างอุโมงใต้ทะเลรถไฟผ่านใช้เวลาประมาณ 40 นาที นี่คือความเอาจริงเอาจังของจีน”   

มองจีนยุคใหม่ !

 แม่น้ำหวงผู่มองจากฝั่งผู่ตง

มองจีนยุคใหม่ ! ยามโพล้เพล้ในมหานครเซี่ยงไฮ้

    มองจีนยุคใหม่ ! คณะสื่อมวลชนไทยดูงานในมหานครเซี่ยงไฮ้

        เลขาธิการสภาหอการค้าไทยในจีนย้ำด้วยว่าวันนี้จีนกำลังเปลี่ยนบริบทของการวิ่งใหม่ จากเดิมที่วิ่งบนสนามแข่งขันที่ชาติตะวันตกเป็นผู้กำหนด แต่วันนี้จีนปรับรูปแบบการวิ่งในสไตล์ของตัวเองและเปลี่ยนสนามวิ่งให้มาอยู่ในรูปแบบของตัวเอง  อาร์แอนด์ดีจะหายไปจะเปลี่ยนเป็นอาร์แอนด์ไอแทน หรือ รีเสิร์ชอินโนเวชั่น จากเดิมเราจะเห็น 4 จี 4 เค ต่อไปก็จะเห็น 5 จี 6 จี และ 8 เค ที่มีความละเอียดมาก ซึ่งเตรียมนำไปใช้ในการแข่งกีฬาโอลิมปิดฤดูหนาวที่ปักกิ่งในปี 2022 และโอลิมปิกฤดูร้อนที่ญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพในปีหน้าด้วย

        กล่าวสำหรับจีนการที่เดินมาถึงวันนี้ถือเป็นเพียงก้าวแรกเท่านั้น  แต่เป้าหมายสำคัญคือการก้าวไปสู่เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว หรือ “สมาร์ทเนชั่น”  เพื่อฉลองครบ 100 ปีของการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนในปีค.ศ.2049 หรืออีก 30 ปีข้างหน้านั่นเอง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ