Lifestyle

ใต้ซากป่าปูน เรื่องของ "กอร์ดอน วู" "โฮปเวลล์" สู่โฮปเลส

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

กับคนไทยแล้วเรื่องราวของ "เจ้าพ่อโฮปเวลล์" ผู้ซึ่งแสยะยิ้มให้ชัยชนะจากคดีมหากาพย์โครงการ "โฮปเวลล์" ยิ่งตอกย้ำซ้ำเติมรอยแผลแห่งความอัปยศแก่เรามากเข้าไปอีก

 

******************

 

          การมีเงินเพิ่มขึ้นมาอีก 12,000 ล้านบาท จากที่ฝ่ายไทยต้องเสียค่าฉลาดน้อยให้แก่ กอร์ดอน วู” ประธานบอร์ดบริษัทรับเหมาโครงการรถไฟลอยฟ้าโฮปเวลล์ชาวฮ่องกง คงไม่มีผลอะไรมากมายกับชายผู้ซึ่งเพิ่งติดโผเศรษฐีนักธุรกิจอันดับ 1,349 ของโลก (จากทำเนียบ Billionaires 2019) และโดยการจัดอันดับของฟอร์บส์ เขาคือมหาเศรษฐีลำดับที่ 43 ใน 50 อันดับแรกในฮ่องกง

 

         

          แต่กับคนไทยแล้วเรื่องราวของ เจ้าพ่อโฮปเวลล์” ผู้ซึ่งแสยะยิ้มให้ชัยชนะจากคดีมหากาพย์โครงการ “โฮปเวลล์” ยิ่งตอกย้ำซ้ำเติมรอยแผลแห่งความอัปยศแก่เรามากเข้าไปอีก

 

          กอร์ดอน วู จึงอาจเหมือนปีศาจจากต่างแดนอีกตนสำหรับคนไทย แต่กับชาวโลกนี่ยิ่งเป็นหมุดหมายที่แสดงถึงความยิ่งใหญ่ของมังกรผู้นี้

 

ท่านเซอร์แห่งโฮปเวลล์

          วันนี้ในวัย 82 กอร์ดอน วู หรือชื่อเต็มว่า “เซอร์กอร์ดอน หูอิงเซียง” เขายังคงเป็นประธานบอร์ดบริหารบริษัท โฮปเวลล์ โฮลดิงส์ บริษัทก่อสร้างรายใหญ่ที่สุดรายหนึ่งของฮ่องกง ทุกวันนี้เขาและครอบครัวถือหุ้นอยู่ในสัดส่วน 36.93%

 

ใต้ซากป่าปูน  เรื่องของ "กอร์ดอน วู"  "โฮปเวลล์" สู่โฮปเลส

 

          วัยต้น วูเรียนที่วิทยาลัยวาห์ยาน ซึ่งเป็นโรงเรียนมัธยมของนิกายเยซูอิตในฮ่องกง ครอบครัวของวูจัดว่ามีฐานะพอที่จะส่งเขาไปเรียนต่อต่างประเทศได้ ช่วงปี พ.ศ.2496 เขาเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยแมนิโทบา แคนาดา

 

          แต่ภายหลังเขาย้ายมาเรียนที่มหาวิทยาลัยพรินซ์ตันในรัฐนิวเจอร์ซีย์ ฝั่งอเมริกา และเรียนจบปริญญาตรีสาขาวิศวกรรมศาสตร์ ในปี พ.ศ.2501

 

          ต่อมาปี 2515 เขาเป็นหนึ่งผู้ก่อตั้งบริษัท โฮปเวลล์ โฮลดิงส์ ขึ้นมา โดยนั่งเป็นกรรมการผู้จัดการตั้งแต่ปี 2515-2544 และขึ้นสู่ระดับสูงสุดในเวลาต่อมา

 

          ถ้าจะพูดถึงผลงานของโฮปเวลล์ เห็นจะมีพื้นที่ไม่พอ แต่ที่ต้องกล่าวซ้ำ คือโครงการก่อสร้างสะพานฮ่องกง-จูไห่-มาเก๊า ที่เพิ่งเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2561

 

          เพราะนี่คือสะพานข้ามทะเลที่ยาวที่สุดในโลก ผ่านอุโมงค์ใต้น้ำยาวที่ยาวสุดในโลก และมีต้นทุนการก่อสร้างแพงที่สุดในโลก ซึ่งพูดตรงกันว่าโครงการนี้เกิดจากดำริของกอร์ดอน วู ตั้งแต่ราวปี 2526 หรือ 36 ปีก่อน

 

          แน่นอนด้วยวิสัยทัศน์และความสามารถเบอร์นี้ สื่่อท้องถิ่นของฮ่องกงจึงขนานนามให้เขาเป็น “ผู้บุกเบิก” (trailblazer) ผู้มีส่วนในการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานในเอเชียให้ก้าวหน้าและทันสมัย

 

          เหนืออื่นใดเจ้าพ่อโฮปเวลล์ยังได้รับพระราชทานอิสริยาภรณ์ชั้นอัศวินจากสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร ในปี พ.ศ.2540 ค่าที่เป็นนักธุกิจที่ประสบความสำเร็จสูงสุด กลายเป็น ท่านเซอร์กอร์ดอน วู”

 

 

ใต้ซากป่าปูน  เรื่องของ "กอร์ดอน วู"  "โฮปเวลล์" สู่โฮปเลส

กอร์ดอน วู และภริยา ที่งานเลี้ยงรุ่นศิษย์เก่าพรินซตันปีที่แล้ว (ภาพจาก https://ams.princeton.edu/news/sir-gordon-wu-receives-distinguished-alumni-award)

 

โฮปเลสที่ไทยแลนด์

 

          เรื่องดีในร้ายระหว่างที่กอร์ดอน วู ควรที่จะได้ฉลองเครื่องราช แต่ช่วงเวลาระหว่างนั้นก็คาบเกี่ยวกับปัญหาคดีโฮปเวลล์ในไทยที่ลากยาวมาตั้งแต่ปี 2534 ช่วงที่โครงการเริ่มต้นใหม่ๆ หลังการเซ็นสัญญาปี 2533 และหลังเปิดประมูลช่วงปี 2532 กระทั่งถูกยกเลิกสัมปทานไปเมื่อปี 2541

 

          นี่จึงแปลว่าขณะที่่เราคนไทยก่นด่าสาปแช่งใครต่อใครทุกครั้งที่นั่งรถผ่านเสาโฮปเวลล์ กอร์ดอน วู เคยต้องกุมขมับสุดๆ กับเรื่องนี้มาแล้ว

 

          บางคนอาจพูดว่าถึงขนาดสั่นคลอนบัลลังก์ฉายา “คุณชายซ่อมได้แห่งเอเชีย” ที่สื่อมอบให้ตลอดมาหากงานแล้วเสร็จตามกำหนดทุกงาน แถมบางงานยักษ์ยังสร้างเสียงครางฮือที่จบภายใน 22 เดือนอีกด้วย

 

          ไหนจะประธานาธิบดีฟิเดล รามอส แห่งฟิลิปปินส์ ถึงขนาดเคยชมเชยเขาว่าเป็น “บุรุษผู้มอบแสงสว่าง” ก็งานโรงไฟฟ้าที่นั่นโฮปเวลล์แทบจะเหมาทั้งประเทศ!

 

          บางสื่อระบุอ้างคำกล่าวของทักษิณ ชินวัตร เมื่อครั้งนั่งเก้าอี้รองนายกฯ ที่กล่าวว่า โฮปเวลล์เป็น Hopeless Holdings หรือบริษัทที่สิ้นหวัง (อ้างจากหนังสือพิมพ์ Independent พฤศจิกายน 2538)

 

          แต่เอาเข้าจริงๆ ความหมายของเสี่ยแม้วน่าจะเพราะรู้อนาคตว่าโฮปเวลล์มาเจอ “ของดีเมืองไทย” ซึ่งไม่มีที่ไหนในโลกเขาให้มากกว่า

 

ใต้ซากป่าปูน  เรื่องของ "กอร์ดอน วู"  "โฮปเวลล์" สู่โฮปเลส

http://www.komchadluek.net/news/scoop/369730

 

          ชายผู้ซึ่งไม่รู้จักไทยเลยหอบเงินมหาศาลเข้าประมูลสัมปทานก่อสร้างทางยกระดับนี้ด้วยหวังว่าอายุสัมปทาน 30 ปีกับสิทธิการพัฒนาที่ดินของรฟท.บนพื้นที่ขนาด 633.5 ไร่ หรือ 1 ล้าน ตร.กม. น่าจะคืนกำไรให้เขาอย่างจั๋งหนับ

 

          ข่าวจากหนังสือพิมพ์สวัสดีกรุงเทพ ฉบับวันที่ 13 ธันวาคม 2550 เคยระบุอ้างแหล่งข่าวใกล้ชิดวู เล่าว่าช่วงแรกเขาใส่กางเกงขาสั้นลงไปตรวจเส้นทางรถไฟด้วยตัวเอง เดินตามไม้หมอน เดินไปเดินมาหลายครั้งเกือบถูกรถชน ไม่มีใครรู้ว่าเขาคือกอร์ดอน วู

 

          สุดท้ายกลับไปเช็กได้เลยโครงการนี้ระหว่างดำเนินการอยู่มีการเปลี่ยนรัฐบาลถึง 8 ครั้ง ผ่านมา 6 นายกฯ 9 รัฐมนตรีคมนาคม และ 4 ผู้ว่าการรถไฟ

 

        คดีเพิ่งจบเมื่อไม่กี่วันมานี้ ถูกจดจารึกให้เป็นอุทาหรณ์ของนักลงทุนต่างถิ่นว่ามีเงินอย่างเดียวไม่พอต้องเข้าใจในระบบการทำงานของหน่วยงานรัฐไทยด้วย!

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ