Lifestyle

"เพื่อนสมคิด" ลิขิตแห่งดวงดาว

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"เพื่อนสมคิด" ลิขิตแห่งดวงดาว

 

          มากกว่า “สามมิตร” คือ “มวลหมู่มหามิตร” มิใช่ลีลาโวหาร หากแต่ “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” ได้กลั่นกรองแล้ว จึงปักธงเหนือสมรภูมิเลือกตั้ง ด้วยมุ่งหวัง “กำลัง” ของเพื่อนมิตรพิชิตชัย และบรรลุพันธกิจสานต่อ “ยุทธศาสตร์ชาติ”  

 

          แม้จะมีแรงกดดันทางการเมืองแค่ไหน แต่ทีมงานของ “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกรัฐมนตรี ยังเดินหน้าสู่กระบวนการจัดตัั้งพรรคการเมืองให้แล้วเสร็จทันฤดูกาลเลือกตั้งที่จะมาถึงต้นปีหน้า

 

 

          วันก่อน “อุตตม สาวนายน” รัฐมนตรีอุตสาหกรรม ในฐานะหัวหน้า “พรรคพลังประชารัฐ” ได้เข้าขอจดจัดตั้งพรรคให้ถูกต้องตามกฎหมายเลือกตั้ง ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)


          คณะกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐชุดแรก ยังประกอบด้วย “ทีมสมคิด” อีก 3 คนคือ “สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์” รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ เป็นเลขาธิการพรรค, “สุวิทย์ เมษินทรีย์” รัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นรองหัวหน้าพรรค และ “กอบศักดิ์ ภูตระกูล” รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นโฆษกพรรค


          อย่างที่ทราบกัน โครงสร้างของพรรคพลังประชารัฐจะมีนักการเมืองที่มีประสบการณ์มาร่วมงานด้วยหลายกลุ่ม ซึ่งกลุ่มก้อนที่ตกเป็นข่าวฮือฮาคือ “กลุ่มสามมิตร”


          “ผมกลับสู่การเมืองเพราะคุณสมคิด (สมคิด จาตุศรีพิทักษ์) ขอให้มาช่วย บอกว่าจะทำพรรคที่เป็นมิตรกับทุกพรรค พรรคที่ทำนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน ทำพรรคเพื่อให้หลุดพ้นจากความขัดแย้ง ผมคุยกับท่านสมคิดตั้งแต่ยังไม่มีชื่อพรรค อย่างนี้ผมจะนำกลุ่มสามมิตรไปสังกัดพรรคอื่นได้ยังไง”


          เป็นครั้งแรกที่ “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” เปิดเผยเบื้องหลังการก่อตั้งพรรคพลังประชารัฐ แต่เรื่องความสัมพันธ์ของ “สมคิด-สุริยะ” ก็ไม่ได้เหนือความคาดหมายของคนทั่วไป

 


          คำบอกเล่าของสุริยะ ทำให้นึกเห็นภาพข่าวที่ “สมคิด” ไปร่วมงานสวดอภิธรรมศพ “ประเสริฐ เทพสุทิน” บิดาของสมศักดิ์ เทพสุทิน ที่วัดคลองโป่ง ต.สามเรือน อ.ศรีสำโรง จ.สุโขทัย เมื่อ 18 กรกฎาคม 2558 ซึ่งค่ืนนั้น สุริยะได้ปรากฏตัวต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรก หลังมีข่าวว่าป่วยหนักมาก่อนหน้านี้


          ถัดมาไม่ถึงเดือนสมคิดจึงได้รับแต่งตั้งเป็นรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ในรัฐบาลประยุทธ์ และมีบทบาททางการเมืองอีกครั้ง


          ย่างเข้าหน้าฝนปีนี้ สมศักดิ์ เทพสุทิน กับ สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ออกเดินสายพบปะอดีตส.ส. ในนาม “กลุ่มสามมิตร” นักวิเคราะห์ข่าวทั้งหลายก็ขานชื่อ “3 ส.” ออกมาทันที ประกอบด้วย ส.สมคิด ส.สุริยะ และ ส.สมศักดิ์


          ปะหน้านักข่าว สมคิดจึงถูกซักไซ้เรื่องกลุ่มสามมิตร ก็เลยตอบเลี่ยงๆไปว่า “ทุกคนเป็นเพื่อนกันทั้งนั้น และไม่ใช่แค่สามมิตร เป็นมวลหมู่มหามิตรเลย เป็นเพื่อนฝูงกันทั้งนั้น วงการเมืองคือเพื่อนๆ กัน”


          คำว่า “มวลหมู่มหามิตร” ไม่ใช่แค่ถ้อยวลีการเมือง แต่พิสูจน์กันมาแล้วสมัยไทยรักไทยเป็นรัฐบาลที่ยาวนาน สมคิดได้ชื่อว่าเป็นนักการเมืองหน้าใหม่ (สมัยโน้น) ที่เข้าได้กับทุกฝ่าย


          เบ้าหลอม “ไทยรักไทย”
          “สมคิด” มาจากครอบครัวเชื้อสายจีน ด้วยฐานะที่ไม่ดีของครอบครัว ทำให้เขาต้องไปใช้ชีวิตในช่วงต้นกับญาติ เขาเติบโตกับความยากลำบากของชีวิต เนื่องจากกิจการค้าขายเล็กๆ ของบิดาต้องล้มละลายไปในช่วงที่ลืมตาดูโลก แต่สมคิดมีแรงบันดาลใจอย่างสูงในการช่วยตนเอง และการศึกษามาตัั้งแต่สมัยเรียนมัธยมจนถึงอุดมศึกษา 


          หลังจบการศึกษาจากสหรัฐอเมริกาในปี 2527 สมคิดได้ใช้ความรู้ความสามารถที่ได้ร่ำเรียนมาทางด้านบริหารการตลาดเข้าไปทำงานให้บริษัทเอกชนหลายแห่งรวมทั้งการเป็นอาจารย์สอนที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์


          สมคิดกลับเมืองไทยช่วงที่กำลังเปลี่ยนแปลงโครงสร้างธุรกิจครั้งใหญ่ เขาได้เข้าไปเป็นที่ปรึกษาของกลุ่มธุรกิจที่สำคัญหลายแห่ง ทำให้เขามีความเข้าใจผู้คนต่างๆ ได้อย่างลึกซึ้ง บุคลิกที่นุ่มนวลเข้ากับคนได้ดี กลายเป็นลักษณะพิเศษอย่างหนึ่งที่ทำให้ผู้คนที่รู้จักจะชอบเขาเป็นพิเศษเสมอ


          “ทักษิณ ชินวัตร” ไทคูนสื่อสารเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว ชักชวนให้สมคิดมาช่วยงานการเมืองตั้งแต่สมัยทักษิณเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ รัฐบาลชวน ในโควตาพรรคพลังธรรม 


          เมื่อทักษิณก่อตั้งพรรคไทยรักไทย สมคิดมีตำแหน่งเป็นรองหัวหน้าพรรค ได้เข้ามาช่วยทำนโยบายประชานิยม ได้แก่นโยบายช่วยเหลือชาวนาในรูปแบบต่างๆ นโยบายกองทุนหมู่บ้าน นโยบายค่าโดยสารฟรี นโยบายการรักษาพยาบาลฟรี แต่ปรับแนวนโยบายให้เป็นไปตามแนวคิด 30 บาทรักษาทุกโรคของ นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ อดีตเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 


          หลังพรรคไทยรักไทยได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งได้เป็นรัฐบาล ทักษิณเป็นนายกรัฐมนตรี ก็แต่งตั้งสมคิดเป็นรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง และสมคิดได้รับการปรับตำแหน่งอยู่เรื่อยๆ จนหมดยุครัฐบาลทักษิณ


          สมัยพรรคไทยรักไทยรุ่งเรือง ทักษิณมีขุนพลรอบกายต่างๆ มากมาย มีทั้งที่เปิดเผยตนเองและมีเป็นจำนวนมากที่ยินดีจะทำงานแบบเงียบๆ อยู่เบื้องหลัง สมคิดก็จัดอยู่ในประเภทหลัง


          สมคิด..มากมิตรการเมือง
          นับแต่แยกทางจากทักษิณเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว สมคิดซุ่มซ่อนสะสมเครือข่ายสายสัมพันธ์ โดยตั้งกลุ่มธรรมาธิปไตย เชื่อมร้อยกับกลุ่มต่างๆ ที่แตกตัวออกมาจากพรรคไทยรักไทย 


          ปี 2550 มีข่าวสมคิดไปร่วมงานการเมืองกับกลุ่มโน้นกลุ่มนี้ แต่สุดท้ายเขาก็ไม่แสดงตนชัดเจน กระทั่งการเลือกตั้งผ่านไป สมคิดได้เร้นกายหายไปจากแวดวงการเมือง


          หลายปีต่อมา สมคิดจับมือ นพ.ประเวศ วะสี ก่อตั้ง “มูลนิธิสัมมาชีพ” เป็นจุดนัดพบของภาคประชาสังคมกับภาคธุรกิจ และ “สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์” ก็คือประธานคณะกรรมการบริหารมูลนิธิสัมมาชีพในยุคแรกๆ


          สมคิดไม่ใช่นักวิชาการที่เพิ่งลงจากหอคอยงาช้าง หากแต่เขาสั่งสมประสบการณ์การเมืองมายาวนาน ผ่านยุคที่พรรคไทยรักไทย อุดมไปด้วยมุ้งย่อยมากมาย สมคิดย่อมรู้จักมักคุ้นกับประมุขของมุ้งการเมืองเหล่านี้เป็นอย่างดี


          มิเพียงสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ และสมศักดิ์ เทพสุทิน เท่านั้น “กลุ่ม 16” ไล่มาแต่ สุชาติ ตันเจริญ, เนวิน ชิดชอบ, สรอรรถ กลิ่นประทุม และสนธยา คุณปลื้ม 


          นักการเมืองกลุ่มวังพญานาคทั้ง พินิจ จารุสมบัติ, ปรีชา เลาหพงษ์ชนะ และสิทธิชัย โควสุรัตน์ ก็รู้จักมักคุ้นกับสมคิดเป็นอย่างดี


          สมรภูมิเลือกตั้ง 2562 สมคิดจำต้องพึ่ง “มวลหมู่มหามิตร” เพื่อบรรลุเป้าหมายสานต่อยุทธศาสตร์ชาติ นี่คือพันธกิจของลูกผู้ชายชื่อกวง


000000000000


          “อุตตม”ประมุขพลังประชารัฐ
          เอ่ยชื่อ “อุตตม สาวนายน” ในบทบาทของหัวหน้าพรรคการเมืองใหม่ อาจดูละอ่อนในสายตานักเลือกตั้งรุ่นเก๋า แต่หากย้อนกลับไปดูเส้นทางเดินของผู้ชายคนนี้ ก็จะพบความช่ำชองเชิงยุทธ์ไม่แพ้รุ่นพี่ที่เคารพรักคนนั้น


          “อุตตม” เป็นลูกชาย “เล็ก สาวนายน” อดีตผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง ที่เป็นผู้ว่า กฟน.ยาวนานถึง 10 ปี รู้จักกับสมคิดตั้งแต่สมัยที่เขาทำปริญญาโทบริหารธุรกิจ เอกการเงิน ที่ Kellogg School of Management ขณะนั้นสมคิดทำปริญญาเอก 


          หลังจากนั้น “สมคิด-อุตตม” กลับมาเป็นอาจารย์สอนหนังสือที่นิด้า ต่อมา อุตตม ลาไปทำปริญญาเอกด้านการจัดการ เอกการเงิน จาก University of Massachusetts-Amherst สหรัฐอเมริกา เมื่อเรียนจบก็กลับมาสอนหนังสือต่อที่นิด้า อุตตมจึงมีโอกาสได้ร่วมงานใกล้ชิดกับรุ่นพี่-สมคิดในหลายโครงการ 


          เมื่อธนาคารนครหลวงไทยกำลังจะเปลี่ยนแปลงตัวเองให้มีความเป็นผู้นำ อุตตมเห็นว่าเป็นงานท้าทาย จึงอาสาทำงานในตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการอาวุโสฝ่ายวิจัยและวางแผน ได้มีโอกาสร่วมงานกับ “สม จาตุศรีพิทักษ์” พี่ชายของสมคิด ซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ในขณะนั้น


          ปี 2544 ชีวิตของอุตตม ก็มีเหตุต้องหักเหอีกครั้งเมื่อรุ่นพี่-สมคิดให้มาช่วยงานเต็มเวลา ในตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีคลัง รัฐบาลทักษิณ


          อุตตมต้องทิ้งเงินเดือน 6 หลัก และความสะดวกสบายส่วนตัว มาทำงานการเมือง เพราะความเคารพในตัวของรุ่นพี่คนนี้ที่รู้จักกันยาวนาน
กว่า 20 ปี


          นับแต่ปีนั้นมา อุตตมก็ติดตามสมคิดไปนั่งในตำแหน่งทางการเมืองอีกหลายกระทรวง จนกระทั่งสมคิดตกปากรับคำ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้มาเป็นแม่ทัพเศรษฐกิจ อุตตมจึงก้าวสู่ถนนการเมืองอีกครั้ง


          ปี 2558 อุตตมได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในรัฐบาลประยุทธ์ แต่ได้ยื่นหนังสือลาออกเพื่อให้มีการแต่งตั้งรัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งเป็นกระทรวงที่จะจัดตั้งขึ้นใหม่


          ปี 2559 อุตตมได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรม และปลายปีนี้ อุตตมได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ